ญี่ปุ่นยันตรวจเข้มปลาฟุกุชิมะ เตรียมส่งออกทั่วอาเซียน

25 มี.ค. 2561 | 02:15 น.
จากกรณีการนำเข้าปลาสดจากจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น มายังประเทศไทยเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลและตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยในการบริโภค เนื่องจากปลาปริมาณ 130 กิโลกรัมดังกล่าว มาจากน่านนํ้าจังหวัดฟุกุชิมะที่เกิดเหตุโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ปล่อยสารกัมมันตรังสีรั่วไหลลงสู่ทะเลหลังเกิดเหตุสึนามิและแผ่นดินไหวเมื่อปี 2554 โดยในเวลานั้นมีหลายประเทศที่สั่งระงับการนำเข้าสินค้าประมงจากจังหวัดดังกล่าว ขณะที่ไทยไม่ได้มีการประกาศระงับนำเข้ามาตั้งแต่ต้น และยังเป็นประเทศแรกที่นำเข้าปลาจากฟุกุชิมะหลังจากที่ทางจังหวัดเริ่มการส่งออกสินค้าประมงอย่างเป็นทางการอีกครั้งในปีนี้

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายญี่ปุ่นเกี่ยวกับมาตรการตรวจสอบเพื่อยืนยันความปลอดภัยของผู้บริโภค ผ่านการประสานงานจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร-กรุงเทพฯ กระทั่งได้รับคำตอบจากกองส่งเสริมการค้า รัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดฟุกุชิมะ (Fukushima Trade Promotion Division, Fukushma Prefectural Government) มาเมื่อต้นสัปดาห์ โดยกองส่งเสริมการค้าจังหวัดฟุกุชิมะ ยืนยันว่า นอกจากประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศแรกแล้ว ทางจังหวัดกำลังเตรียมการเพื่อส่งออกปลาไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด โดยมีแผนจะส่งออกไปยังประเทศอื่นๆในเร็วๆนี้ ที่ผ่านมา มีการห้ามนำเข้าสินค้าประมงฟุกุชิมะจากประเทศจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และรัสเซีย แต่ประเทศ อื่นๆส่วนใหญ่ เช่น ฮ่องกง อินโดนีเซีย สหภาพยุโรป ฯลฯ ไม่มีการห้ามนำเข้า

TP10-3351-1A หนึ่งในคำถามที่หลายคนสงสัยคือ เหตุใดทางจังหวัดจึงส่งออกปลามายังประเทศไทยเป็นประเทศแรก? ทางจังหวัดตอบว่า ในการทำกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกของทางจังหวัดนั้น ได้มีการเชิญเชฟ เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่นและบริษัทที่ดำเนินธุรกิจค้าขายระหว่างประเทศจากประเทศต่างๆ มาที่จังหวัดฟุกุชิมะ เพื่อสร้างความตระหนักว่าสินค้าประมงของจังหวัดฟุกุชิมะปลอดภัยและมีรสชาติดี ผลจากกิจกรรมครั้งนั้นคือ ทางจังหวัดได้รับคำสั่งซื้อจากร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยเร็วที่สุด กล่าวได้ว่า ไทยเป็นประเทศแรกที่ติดต่อสั่งซื้อสินค้าเข้ามา

ทั้งนี้ ก่อนเกิดเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2554 ปลาฮิระเมะจากจังหวัดฟุกุชิมะได้รับการเรียกขานในญี่ปุ่นว่าเป็น “โจบังโมโนะ” หรือ สินค้าพรีเมียมที่ผลิตในบริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดฟุกุชิมะ และเป็นแบรนด์ระดับสูงของญี่ปุ่น ทางจังหวัดจึงพยายามดำเนินการเพื่อฟื้นฟูแบรนด์นี้

ในส่วนของมาตรการสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยนั้น สินค้าประมงจากจังหวัดฟุกุชิมะจะได้รับการตรวจสอบสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยจับขึ้นมาตรวจแยกตามชนิดของปลาในแต่ละเขตประมงซึ่งเป็นการตรวจสอบแบบเฝ้าติดตาม (monitoring) จากนั้นจะเผยแพร่ผลการตรวจสอบดังกล่าวทางเว็บไซต์ของจังหวัดฟุกุชิมะที่ใช้ชื่อว่า “Fukushima Shinhatsubai” https://www.new-fukushima.jp/ โดยจัดทำเป็น 5 ภาษา นอกจากนี้ สหกรณ์ประมงของจังหวัดยังได้มีการตรวจสอบแยกตามชนิดของปลาสำหรับเรือแต่ละลำที่เข้ามาเทียบท่าด้วย

“นอกเหนือจากการตรวจสอบโดยหน่วยงานของรัฐแล้ว เรายังมีการตรวจสอบแบบสมัครใจโดยสมาคมประมงในจังหวัดฟุกุชิมะ ซึ่งตรวจสอบตัวอย่างปลาที่จับได้วันเดียวกัน จากเรือลำเดียวกันและอวนเดียวกัน ถือเป็นระบบตรวจสอบ 2 ชั้น และจะส่งออกเฉพาะปลาที่มีผลการตรวจสอบไม่เกินค่ามาตรฐานที่รัฐบาลกำหนดเท่านั้น นอกจากนี้ ในการตรวจสอบแบบอิสระ เราดำเนินการตรวจสอบและจัดส่งตามมาตรฐานแบบอิสระซึ่งเข้มงวดกว่ามาตรฐานของรัฐด้วย” ส่วนหนึ่งของจดหมายตอบทางอี-เมล์ระบุ

ปัจจุบัน ปริมาณการจับปลาของจังหวัดฟุกุชิมะโดยรวมอยู่ที่ 2,099 ตัน/ปี (ข้อมูล ณ ปี 2559) เนื่องจากจำนวนเรือประมงลดลง ทำให้ปริมาณการจับปลาลดลงอยู่ที่ประมาณ 20% ของช่วงก่อนเกิดเหตุภัยพิบัติ แต่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต ส่วนคำถามคาใจที่ว่า คนญี่ปุ่นเองรับประทานปลาจากจังหวัดฟุกุชิมะหรือไม่ กองส่งเสริมการค้า จังหวัดฟุกุชิมะ ให้คำตอบว่า ในญี่ปุ่นมีสินค้าประมงของจังหวัดจำหน่ายอยู่ตามตลาดต่างๆ เช่น ตลาดปลาสึคิจิ และรับประทานกันตามปกติทั่วประเทศ สำหรับมูลค่าการส่งออกและปริมาณการส่งออก เนื่องจากครั้งนี้เป็นการส่งออกครั้งแรก ทางจังหวัดจึงยังไม่มีบันทึกตัวเลขจริงจนถึงปัจจุบัน ส่วนคาดการณ์ในอนาคตนั้นยังไม่แน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,351 วันที่ 25 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว