แฉปมเด้ง‘ธีธัช’เข้ากรุ ดัน‘ธนวรรธน์’เสียบรักษาการผู้ว่ากยท.

28 มี.ค. 2561 | 06:03 น.
ย้อนสารพัดปมปัญหา เด้ง “ธีธัช” เข้ากรุสำนักนายกฯ ชาวสวนเฮ ยกนิ้ว “ประยุทธ์-กฤษฎา” มาถูกทางแล้ว “ไทยรับเบอร์ฯ” ได้ทีถอนหุ้นบริษัทร่วมทุน รัฐมนตรีเกษตรฯ เชิญแกนนำยางหารือดันราคา 26 มี.ค.นี้ “ธนวรรธน์” ว่าที่รักษาการผู้ว่าการกยท. รอประกาศบอร์ดแต่งตั้งก่อนลุยงาน

จากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2561 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2561 ให้นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ไปปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ของรัฐประจำสำนักนายกรัฐมนตรีตามกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ในสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยได้รับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์จากการยางแห่งประเทศไทยและยังไม่พ้นจากตำแหน่งเดิม จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นประการอื่น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปนั้น

สำหรับนายธีธัช คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยคนแรกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 ซึ่งย้อนรอยไปก่อนหน้านั้นในการสรรหาผู้ว่าการ กยท.กว่าจะได้นายธีธัชมาเป็นผู้ว่าการได้มีการล้มกระดานไป 3-4 รอบ ซึ่งประธานคณะกรรมการสรรหาในขณะนั้น คือนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อดีตรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ปัจจุบันเป็นปลัดกระทรวงเกษตรฯ) ครั้นพอประกาศชื่อนายธีธัชไม่ทันข้ามคืนก็มีความวุ่นวายเกิดขึ้น จากชาวสวนยางและอดีตนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ยอมรับ พร้อมแฉปมทุจริตสมัยที่เขานั่งเป็นผู้อำนวยการองค์การตลาด จนต้องหาหลักฐานมายืนยัน แต่ทุกวันนี้ชาวสวนจำนวนมากก็ยังไม่เชื่อและไม่ยอมรับ

TP08-3351-1A กระทั่งมาแตกหักเมื่อปลายปี 2559 เมื่อบอร์ด กยท.มีมติเทขายยางในสต๊อก 2 โครงการ จำนวน 3.1 แสนตัน ช่วงนั้นราคายางแผ่นดิบราคาอยู่ที่ 80.29 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ยางแผ่นรมควันอยู่ที่ 86-87 บาท/กก. จากวันนั้นราคายางก็ค่อยๆ ตกตํ่าลงเรื่อยๆ นายธีธัชตกที่นั่งกลายเป็น “ตัวปัญหา” ของชาวสวนยาง ทำอะไรก็ผิด ไม่ว่าจะนำเงินไปลงขันกับบริษัทร่วมทุนยางพารา จำกัด กับ 5 บริษัทค้ายางรายใหญ่ การจัดจ้างเอกชนปรับปรุงระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมส่งออกยางพารา (Cess) โดยจะหักรายได้ก่อนจัดเก็บ 5% โดยอ้างมติบอร์ด (พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานบอร์ด กยท.) เดินหน้าไม่ฟังเสียงเกษตรกร สหภาพแรงงาน กยท. แม้กระทั่งรัฐมนตรีเกษตรฯ ที่กำกับดูแลก็ไม่สามารถยับยั้งได้ จนในที่สุด “บิ๊กตู่” ถึงทางเลือกเพื่อลดกระแสกดดันรัฐบาล ยอมเด้งเด็กในคาถาเพื่อนรักเข้ากรุสำนักนายกรัฐมนตรีแบบรักษานํ้าใจ คือยังได้รับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์จากการยางแห่งประเทศไทยและยังไม่พ้นจากตำแหน่งเดิม

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) เผยว่าเป็นข่าวดี ที่นายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฟังเสียงเรียกร้องของชาวสวนยางทั่วประเทศ ดีใจและขอบคุณ เชื่อว่าราคายางในช่วงเปิดกรีดประมาณเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้จะขยับดีขึ้นแน่นอน

เช่นเดียวกับนายศิวะ ศรีชาย แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง กล่าวว่า ชาวสวนยางรู้สึกชื่นชมยินดี และพอใจต่อการตัดสินใจของนายกฯในครั้งนี้ ซึ่งมีกระแสตอบรับจากชาวสวนยางทั่วประเทศ และหวังว่าสถานการณ์ต่างๆจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น และในวันที่ 26 มีนาคมนี้ นายกฤษฎา บุญราช รมว.กระทรวงเกษตรฯได้เชิญตัวแทนชาวสวนยาง จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ มาร่วมประชุมปรึกษาหารือร่วมกันที่กระทรวงเกษตรฯ เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ

ด้านนายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)(บมจ.) กล่าวว่า บริษัทจะถอนหุ้นที่ร่วมทุนในบริษัท ร่วมทุนยางพารา จำกัด ซึ่งได้ร่วมลงทุนไป 100 ล้านบาท ส่วนอีก 100 ล้านบาททางบอร์ดบริษัทไม่อนุมัติ จ่ายตั้งแต่แรกแล้ว

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการการยางแห่งประเทศไทย หรือ บอร์ดกยท. (ผู้แทนผู้ประกอบกิจการยางซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการค้า) ว่าที่รักษาการ ผู้ว่าการคนล่าสุด เผยว่า หากบอร์ดมีประกาศแต่งตั้งเป็นรักษาการผู้ว่าการ กยท.จริงอย่างเป็นทางการจึงจะสามารถให้สัมภาษณ์ถึงภารกิจ รวมถึงเรื่องต่างๆ ได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,351 วันที่ 25 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว