อุ้มมือถือได้คืบจะเอาศอก

24 มี.ค. 2561 | 08:59 น.
226666 แนวคิดในการนำมาตรา 44 ช่วยเอไอเอสและทรู  2 ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ ด้วยการยืดชำระค่าประมูลคลื่น 4 จี ที่ต้องจ่ายให้รัฐ มูลค่า 5.9 หมื่นล้านบาท ออกไปอีกจำนวน 5 ปี กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ จากนักวิชาการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ถึงความเหมาะสมในการนำอำนาจอาญาสิทธิ์ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาใช้อย่างกว้างขวาง

เมื่อพลิกไปดูข้อเสนอที่ทั้ง 2 บริษัทได้ยื่นเงื่อนไขให้ คสช.ประกอบการพิจารณา พบว่าเหตุผลหลักในการขอให้คสช.ใช้มาตรา 44 ช่วยเหลือ เพราะการประมูลคลื่น 4 จี ในครั้งนั้นมีการแข่งขันราคากันสูงราคาที่ประมูลได้ไม่ได้สะท้อนมูลค่าคลื่นความถี่ที่แท้จริง นอกจากผู้ชนะประมูลต้องชำระค่าคลื่นแล้วต้องมีการลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม เพื่อพัฒนาสังคมไปสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิตอลต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล

29468962_2039995472686664_1166378811693086881_n ปฏิเสธไม่ได้ว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและลงทุนด้านเทคโนโลยี เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศในระยะยาวเป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันที่เท่าเทียม ยึดผลประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง

ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า การช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจโทรคมนาคมโดยเฉพาะธุรกิจมือถือเกิดขึ้นมาโดยตลอด และเมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็เพิ่งปรับลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่เอกชนต้องจ่ายให้รัฐเป็นรายปี  เพื่อลดภาระให้กับภาคเอกชน
62665 ด้วยการออกประกาศกสทช.เรื่อง ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) เพื่อแก้ไขอัตราค่าธรรมเนียมใหม่จากเดิมที่กำหนดให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่มีรายได้ตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีในอัตรา 1.5%  เป็นรายได้เกิน 1,000 - 10,000 ล้านบาท จ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 0.75% รายได้เกิน 10,000  - 25,000 ล้านบาท จ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 1.0%  รายได้เกิน 25,000 - 50,000 ล้านบาท จ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 1.25% และเกิน 50,000 ล้านบาท จ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต  1.5%

ในอนาคตกสทช.ยังจะมีการทบทวนค่าธรรมเนียม อื่นๆ เช่น ค่าธรรมเนียมการใช้คลื่นความถี่ ค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม ฯลฯ การออกมาตรา 44 ช่วยเหลือ 2 ค่ายมือถือจึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ และต้องอยู่บนพื้นฐานของความเพียงพอ เพราะต้องไม่ลืมว่ามาตรการต่างๆที่ออกมาย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ของรัฐ ที่จะนำไปพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ตามมา

....................
บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ระหว่างวันที่ 25-28 มี.ค.2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว  อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง .....

[caption id="attachment_271425" align="aligncenter" width="503"] ทบทวนท่าทีอุ้มบริษัทมือถือ ทบทวนท่าทีอุ้มบริษัทมือถือ[/caption]

[caption id="attachment_271422" align="aligncenter" width="503"] ต้าน คสช. อุ้ม ต้าน คสช. อุ้ม 'AIS-ทรู'! นักวิชาการแฉ ม.44 ยืดค่างวดให้นายทุน รัฐสูญ 3 หมื่นล้าน[/caption]