เปิดความเห็น! ใช้ ม.44 ช่วยผู้ประกอบการ 'ทีวีดิจิทัล-โทรคมนาคม'

22 มี.ค. 2561 | 12:08 น.
เปิดความเห็น! ใช้ ม.44 ช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และผู้ประกอบการโทรคมนาคมในส่วนการประมูลคลื่น 900 MHz

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยทางด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้แสดงความคิดเห็นประเด็นการพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และผู้ได้รับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 900 MHz โดยจะใช้กฏหมายอำนาจตามมาตรา 44 ว่า หากพิจารณาแยกเป็น 2 ประเด็น ตามประเภทของกิจการ โดยในส่วนของทีวีดิจิทัลนั้น ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมานับแต่จบการประมูลและออกอากาศทีวีดิจิทัลตั้งแต่ปี 2557 แค่ในช่วงปีแรกของการดำเนินการปีแรกก็เห็นปัญหาจากผู้ประกอบการมาโดยลำดับ ทั้งนี้ อาจมีทั้งในส่วนของการแข่งขันกันเองของผู้ประกอบการที่เพิ่มจำนวนช่องขึ้นหลายสิบช่อง ในขณะที่เม็ดเงินของวงการโฆษณาทางทีวีนั้นไม่ได้ขยายตาม หรือปัญหาอุปสรรคจากการขยายและเปลี่ยนผ่านพฤติกรรมการรับชมของคนไทยในช่วงปี 2 ปีแรก ที่ล่าช้าจนบางช่องยกเป็นเหตุผลที่ไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อได้จนมีการพึ่งอำนาจศาลไปก็มีนั้น สำหรับช่องที่เหลืออยู่ต่างก็ยังมีสถานะและผลประกอบการที่ไม่ดีนัก อีกทั้งในช่วงปี 2 ปี หลังเทคโนโลยีและความก้าวหน้าด้านอินเทอร์เน็ตทำให้รูปแบบการแพร่ภาพหรือผลิตรายการมาอยู่ในรูป OTT ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการมากขึ้น ทั้งคู่แข่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ทั้งเข้าถึงผู้ชมได้มากกว่า ทั้งหลายทั้งปวงจึงเป็นที่มาของการร้องขอจากผู้ประกอบการ ทีวีดิจิทัลให้ภาครัฐหามาตรการช่วยเหลือก่อนจะไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อได้เนื่องจากขาดทุนต่อเนื่อง

 

[caption id="attachment_270834" align="aligncenter" width="432"] สืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยทางด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สืบศักดิ์ สืบภักดี
นักวิจัยทางด้านโทรคมนาคม
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ[/caption]

ทั้งนี้ มาตรการที่พิจารณาไม่ว่าจะเป็นการพักชำระหนี้ 3 ปี ของค่าประมูลส่วนที่เหลือ โดยยังเสียดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยที่กำหนด หรือ การช่วยสนับสนุนเงินค่าเช่าโครงข่ายสำหรับ แพร่ภาพ (MUX) ก็ดี ถือว่าเป็นการช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการอาจจะมองว่าน้อยไปจากข้อเสนอและความคาดหวังที่เคยเสนอให้รัฐยกเว้นค่าประมูลส่วนที่เหลือทั้งหมด หรือแม้แต่การสนับสนุนค่าเช่าโครงข่าย (MUX) แบบเต็มจำนวนตลอดไป ซึ่งในความเห็นส่วนตัวมองก็มองว่าเป็นไปได้ยากที่ผู้ประกอบการจะได้ตามที่ร้องขอทั้งหมด

ซึ่งเราอาจต้องยอมรับว่า การประกอบธุรกิจใด ๆ ไม่ใช่แค่ทีวีดิจิทัลในยุคปัจจุบัน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วหรือการเกิดเทคโนโลยีหรือบริการรูปแบบใหม่ ๆ ที่เข้ามาแทนที่ หรือแม้แต่การทำลายธุรกิจหรือบริการแบบเดิม ๆ (Disruptive Technology) กำลังเกิดขึ้นในทุกวงการ จริงอยู่ที่อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลได้รับผลกระทบมากที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่ง แต่ทางออกของปัญหาอาจไม่ใช่การยกประโยชน์ในแง่การให้ฟรีค่าประมูลส่วนที่เหลือไปเลยทั้งหมด หรือการต้องไปออกค่าใช้จ่ายที่เป็นธุรกิจให้กับผู้ประกอบการโดยใช้เงินอุดหนุนจากภาครัฐไปตลอดไป เพราะจะยิ่งทำให้เกิดการบิดเบี้ยวในอุตสาหกรรมนั้น ๆ และผิดวินัยการเงินการคลังของประเทศ

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

มาตรการที่กำลังจะออกจึงน่าจะเป็นแนวทางที่รัฐพิจารณาแล้วว่าพอประทังการดำเนินธุรกิจไปได้ในระยะเวลาของการช่วยเหลือ คือ 2-3 ปีนับจากนี้ ส่วนที่เหลือต้องให้ผู้ประกอบการปรับกลยุทธและโมเดลธุรกิจด้วย ทั้งนี้ รัฐอาจพิจารณาทบทวนข้อบังคับบางอย่างให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจแทนในระยะยาว ก็อาจเป็นอีกแนวทางที่ช่วยผู้ประกอบการได้ ส่วนความจริงที่ต้องยอมรับ คือ อาจจะมีผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจต่อไม่ได้และปิดสถานีหรือคืนใบอนุญาตซึ่งภาครัฐและ กสทช. ต้องเตรียมรับมือว่าจะดำเนินการอย่างไร

สำหรับกรณีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบโทรคมฯ ที่ประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ไปได้โดยให้สามารถแบ่งจ่ายเงินประมูลงวดที่ 4 ซึ่งจะครบกำหนดในปี 2562 ออกไปอีก 5 งวดนั้น ก็เป็นข้อเรียกร้องจากฝั่งผู้ประกอบการเช่นกัน แต่กรณีของผู้ประกอบกิจการโทรคมฯ นั้น จะแตกต่างออกไป เพราะถึงแม้จะเป็นการขอยืดระยะเวลาการชำระค่างวด แต่ผู้ประกอบการยังคงต้องรับภาระค่าดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น รวมถึงไม่ได้เป็นสัญญาณที่รุนแรงเท่าฝั่งทีวีดิจิทัลที่กรณีนี้ไม่ได้แสดงท่าทีว่าผู้ประกอบการจะไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้หรือถึงขั้นคืนใบอนุญาต จนอาจสุ่มเสี่ยงต่อรายได้จากการประมูลคลื่นจะขาดหายไป


MP34-3346-A

ในแง่ผู้ประกอบการโทรคมฯ ทั้ง 2 ราย ยังต้องมีภาระในการชำระค่าประมูลตามวงเงินที่ประมูลได้ไว้ ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวอาจช่วยผู้ประกอบการในแง่การเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจและการลงทุน สำหรับการประมูลคลื่นรอบใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งแต่ละรายอาจต้องมีการวางแผนโดยไม่ให้กระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากทั้งสองรายต่างร่วมการประมูลคลื่นมาแล้วถึง 3 ครั้งทั้ง 2100 1800 และ 900 MHz และอาจสนใจเข้าร่วมประมูลคลื่นเพิ่มเพื่อรองรับบริการ 5G ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 กรณี มีข้อสังเกตและไม่อยากให้เป็นบรรทัดฐานต่อกรณีการประมูลใบอนุญาตต่าง ๆ ในอนาคต ที่ฝ่ายรัฐหรือองค์กรกำกับดูแลควรพิจารณาและทำหลักเกณฑ์ทั้งการประมูลและภายหลังการประมูลให้รอบคอบรัดกุม การกำหนดเกณฑ์การประมูลและชำระค่าประมูลเป็นงวด ๆ ซึ่งเป็นที่รับทราบไว้เเล้ว ต่อมาสามารถต่อรองหรือขอให้ยืดระยะเวลาหรือซอยการแบ่งชำระค่าประมูลได้อีก มองอีกมุมอาจไม่เป็นธรรมต่อผู้เข้าประมูลรายอื่น ๆ หรือมิฉะนั้นก็จะเกิดกติกาที่รู้กันแบบ ประมูลไปก่อนด้วยราคาสูง ๆ ให้ได้ใบอนุญาต จากนั้นค่อยมาเจรจาขอยืดขอยังไม่ชำระหรือแย่สุดคือขอให้ยกค่าประมูลฟรีส่วนที่เหลือทั้งหมดไปเลย ขึ้นอยู่กับการต่อรองเป็นราย ๆ หรือรวมกลุ่มมาต่อรองกับภาครัฐ ซึ่งไม่น่าจะส่งผลดีในระยะยาว


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
คสช. จ่อออกคำสั่ง 'ประมงใหม่'!! "ไม่หารือการเมือง-พักหนี้ทีวีดิจิทัล"
TVD มั่นใจ Q4 ฟื้นหลังปรับกลยุทธ์โหมสื่อโฆษณาทีวีดิจิทัล


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว