"DOA for ALL" … ท่าอากาศยานมาตรฐานสากล ส่งเสริมโครงข่ายคมนาคมของประเทศ

21 มี.ค. 2561 | 12:56 น.
“เราทำท่าอากาศยานให้เป็นเหมือนบ้าน ให้เป็นสถานที่ซึ่งใช้เงินภาษีของประชาชนมาสร้าง Department of Airports หรือ DOA for All ซึ่ง All ในที่นี้ หมายถึงประชาชนชาวไทยทุกคน ทุกกลุ่มอาชีพ ทุกกลุ่มอายุ มีสิทธิ์เท่าเทียม เพราะฉะนั้น สนามบินของเราจะดูความเหมาะสมในเรื่องของราคา ใช้ Universal Design หรือปรับปรุงสนามบินเดิมให้ตอบโจทย์การใช้งานให้กับทุกคนได้ใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะผู้พิการ เราเป็นสถานที่เชื่อมโอกาสให้วิสาหกิจชุมชนเข้ามาเผยแพร่และจัดจำหน่ายสินค้าใน 28 สนามบิน ที่เราดูแล เราทำท่าอากาศยานให้เป็น Tourist Airport หรือส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งการสร้างความสะดวกสบายกับนักท่องเที่ยว อาทิ การจัดรถรับส่ง เพื่อรองรับตลาดที่ขยายมากขึ้น และเมื่อเกิดความขยายตัว เม็ดเงินจะกระจายสู่ทุกท้องถิ่น” จุดเริ่มต้นของการพูดคุยที่ดูสนุกสนานและตื่นเต้นไปกับการพัฒนากรมท่าอากาศยานไทยในมิติต่าง ๆ จาก ดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน


11-3343

คุณดรุณ เผยต่ออีกว่า หลังจาก ICAO ปลดธงแดงไทย เมื่อเดือน พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ทำให้บรรยากาศด้านการขนส่งทางอากาศของไทยกลับมาคึกคัก เห็นได้ชัดจากการขอเปิดเส้นทางบินใหม่ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2559 ท่าอากาศยานกระบี่มีสายการบินต่างประเทศเข้ามาทำการบินให้ผู้บริการจำนวน 14 ประเทศ ต่อมาในปี 2560 มีสายการบินมาเปิดเส้นทางการบินอีก 12 ประเทศ รวมมีสายการบินต่างประเทศเข้ามาเปิดเส้นทางการบินที่ท่าอากาศยานกระบี่เป็น 26 ประเทศ ไม่เพียงเท่านั้น ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานีก็มีสายการบินจากต่างประเทศ อย่าง คาซัคสถาน เข้ามาเช่นกัน ในปี 2560 ที่ผ่านมา

สำหรับบทบาทของกรมท่าอากาศยานนั้น อธิบดีกรม ฉายภาพให้ฟังว่า เรามีหน้าที่ความรับผิดชอบในการดำเนินงานท่าอากาศยานทั้งหมด 28 แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 1 แห่ง คือ ท่าอากาศยานเบตง โดยทุกการดำเนินงานของกรมท่าอากาศยานนั้น เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ทั้งในด้านความปลอดภัย (Safety) และการรักษาความปลอดภัย (Security) รวมทั้งการอำนวยความสะดวกสบาย (Faciltation) ของท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

โดยทางกรมท่าอากาศยานได้ดำเนินการปรับปรุงคู่มือสนามบิน คู่มือปฏิบัติงาน แผนรักษาความปลอดภัย และเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดทำโครงการปรับปรุงกายภาพของท่าอากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานกำหนด ตลอดจนการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานท่าอากาศยาน โดยเฉพาะในด้านการรักษาความปลอดภัย ซึ่งในปี 2560 ที่ผ่านมา กรมท่าอากาศยานได้งบประมาณในการติดตั้งเครื่องตรวจอาวุธและวัตถุระเบิดแบบอัตโนมัติ (Explosive Detection System : EDS) พร้อมสายพานลำเลียงสัมภาระสำหรับตรวจค้น (Hold Baggage) ตลอดจนการติดตั้งระบบการจัดการการรักษาความปลอดภัยพื้นที่การบินที่ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ท่าอากาศยานอุดรธานี และอีก 8 สนามบิน เพื่อให้การดำเนินงานด้านการรักษาความปลอดภัยมีประสิทธิภาพและตรงตามที่มาตรฐานกำหนด

สำหรับแผนการพัฒนานั้น กรมท่าอากาศยานมุ่งมั่นการดำเนินงานตามแนวทางต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องในภาพรวมของชาติ โดยได้นำเอานโยบายของภาครัฐ หรือ แผนแม่บทการจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศ ที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้จัดขึ้นเป็นแนวทางในการพัฒนาท่าอากาศยานในสังกัด รวมทั้งดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์กรมท่าอากาศยาน ปี 2560-2564 ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

1.จัดให้มีการพัฒนาสนามบิน เพื่อส่งเสริมโครงข่ายการบินให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่
2.ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวกให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3.การพัฒนาและปรับปรุงการบริหารจัดการสนามบินอย่างมีประสิทธิภาพ
4.พัฒนาองค์กรภายใต้หลักธรรมาภิบาล
5.บริหารทรัพยากรมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ


11-3343-47

ในมิติของการพัฒนาท่าอากาศยานนั้น ได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารสถานที่สนามบินในสังกัดให้มีความทันสมัย ปลอดภัย และมีมาตรฐานเดียวกันในทุกสนามบิน ด้านการออกแบบภายนอก มุ่งเน้นการออกแบบให้เข้ากับสภาพของแต่ละท้องถิ่น ไม่เพียงเท่านั้น ในขณะนี้กรมท่าฯ กำลังจัดทำแผน Ultimate Design หรือการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร ที่คาดว่า จะเพิ่มขึ้นอีก 20 ปีข้างหน้า โดยนำตัวเลขผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีมาวิเคราะห์และออกแบบรวมทั้งกำหนดแผนขยายท่าอากาศยานในอนาคต ซึ่งสอดรับกับข้อกำหนดของ ICAO อย่างตรงประเด็น ยกตัวอย่างเช่น สนามบินที่เคยรองรับอากาศยานแบบ 80 ที่นั่ง เมื่อมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต้องใช้อากาศยานขนาด 180-200 ที่นั่ง และต้องเพิ่มความกว้างของทางวิ่งเป็น 45 ม. จากเดิม 30 ม.

ด้านความปลอดภัยอย่างที่กล่าวไว้ เบื้องต้น ได้มีการนำเอาเครื่องตรวจอาวุธและวัตถุระเบิดแบบอัตโนมัติควบคู่ไปกับการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ และฝึกอบรมด้านความปลอดภัยและรักษาความปลอดภัยแห่งแรก ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญและตรงตามข้อกำหนดของแผนการรักษาความปลอดภัยขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO นอกจากนี้ ปัจจัยที่สำคัญอีกด้าน คือ การพัฒนาบุคลากร ทางกรมท่าฯ นั้น ได้มุ่งสร้างทักษะด้านต่าง ๆ ให้เหมาะกับสายงาน มุ่งเน้นการจัดอบรมทางวิชาการควบคู่ไปกับการประเมินผลการปฏิบัติจริง ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เรายังมุ่งปลูกฝังการสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับเจ้าหน้าที่มีใจรักในด้านการบริการให้ผู้โดยสารรับรู้และสัมผัสถึงมิตรภาพอย่างอบอุ่นในทุกการเดินทาง ภายใต้แนวคิด “ยิ้มแย้มยินดี สุขขีที่บ้านเรา” โดยภาพลักษณ์ใหม่นี้จะทำให้ผู้โดยสารรู้สึกเสมือนท่าอากาศญาน คือ บ้านของทุกคน

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ยังพร้อมพัฒนาและจัดทำโครงการ ‘Tourist Airport’ หรือ สนามบินเพื่อการท่องเที่ยว โดยได้เริ่มนำร่องพัฒนาสนามบินในภูมิภาค 3 แห่ง ได้แก่ ระนอง บุรีรัมย์ และน่าน ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรมบินไปปั่นไป @น่าน เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การเป็น ‘ทัวริสต์ แอร์พอร์ต’ ของท่าอากาศยานน่านนคร หรือจะเป็นการชูความโดดเด่นของ จ.บุรีรัมย์ ด้านการท่องเที่ยวเพื่อการกีฬาที่มีทั้งสนามแข่งรถ สนามฟุตบอลที่ทันสมัย และ จ.ระนอง ได้ทำการโปรโมตการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพราะมีทั้งการแช่บ่อน้ำแร่ น้ำพุร้อน และสปา

อย่างไรก็ดี กรมท่าอากาศยานยังให้ความสำคัญในเรื่องของการบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างสมดุล ตามนโยบายของรัฐบาล โดยไม่จำกัดอยู่เพียงแต่ภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมในนโยบาย One Transport หรือจะเป็นความร่วมมือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในการเตรียมติดตั้งเครื่องไปรษณีย์อัตโนมัติ หรือ Automated Postal Machine และภาคเอกชนอื่น ๆ ที่จะตามมาในอนาคต


11-3343-49

“ทุกการขับเคลื่อนของกรมท่าอากาศยานต่อจากนี้ จะทำให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสในการใช้ท่าอากาศยาน เพื่อการเดินทางหรือขนส่งทางอากาศได้อย่างเท่าเทียม และนำแนวบริหารจัดการที่ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งมาเป็นฐานราก ควบคู่ไปกับการสร้างมาตรฐานในการบริหารจัดการที่เทียบเท่ากับสากล โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้ผู้โดยสารทุกคนมีความสะดวกสบายปลอดภัยและประทับใจอย่างอบอุ่นเหมือนกับได้อยู่ที่บ้านในทุกครั้ง ที่เข้ามาใช้บริการกับกรมท่าอากาศยาน หรือ DOA for All” ดรุณ แสงฉาย กล่าวทิ้งท้าย


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,343 วันที่ 25-28 ก.พ. 2561 หน้า 11
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ทิศทางการพัฒนา 'ท่าอากาศยานไทย'
ท่าอากาศยานดอนเมืองครบรอบ 104 ปี การดำเนินงาน


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว