ซากอิเล็กทรอนิกส์ ท่วม 30 ล้านเครื่อง

24 มี.ค. 2561 | 11:30 น.
กรมควบคุมมลพิษคาดการณ์ซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 10 รายการ ปี 59 มียอดรวม 23.73 ล้านเครื่อง ปี 64 พุ่งเกือบ 30 ล้านเครื่อง พบโทรศัพท์มือถือมีซากมากสุด“จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช” เตือนอนาคตขยะโซลาร์เซลล์มากขึ้นต้องกำจัดให้ดี ด้านพ.ร.บ.ลดปริมาณซากอิเล็กทรอนิกส์ยังอยู่ในขั้นวิป สนช.

ความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น พ.ศ....กำลังอยู่ในขั้นตอนวิเคราะห์ ประมวล เรียบเรียง โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ (วิป สนช.) เพื่อเป็นข้อมูลก่อนนำเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเร็วๆ นี้ เพื่อดูแลขยะอิเล็กทรอนิกส์

ต่อเรื่องนี้ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ โดยโครงการพัฒนาแนวทางการประเมินซากผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ระบุว่า สถิติการขยายตัวของซากขยะดังกล่าว เปรียบเทียบระหว่างปี 2559 และปี 2564 พบว่า ในปี 2559 สถิติชนิดซากอิเล็กทรอนิกส์สำคัญจำนวน 10 รายการ ประกอบด้วยโทรศัพท์มือถือ และโทรศัพท์บ้าน, คอมพิวเตอร์, โทรทัศน์, พัดลม, เครื่องพิมพ์,กล้องถ่ายรูปดิจิตอล, วิดีโอ, ตู้เย็น, เครื่องปรับอากาศ, เครื่องซักผ้า, ไมโครเวฟ มีจำนวนซากรวมกันทั้งสิ้น 23.73 ล้านเครื่องต่อปี คาดว่าปี 2561 จะเพิ่มเป็น 25.92 ล้านเครื่องต่อปี และปี 2564 เพิ่มเป็น 29.29 ล้านเครื่องต่อปี จากสถิติพบว่าโทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์บ้านมีปริมาณซากอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด โดยขยายตัวจาก 10.91 ล้านเครื่อง เมื่อปี 2559 จะเพิ่มเป็น 11.98 ล้าน เครื่องในปี 2561 และเพิ่มเป็น 13.42 ล้านเครื่องต่อปีในปี 2564 รองลงมาเป็นคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ พัดลม และเครื่องพิมพ์(ดูตาราง)

TP15-3350-2 ++เร่งกฎหมายคลอด1-2ปีนี้
นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า กฎหมายนี้อยู่ในกลุ่มกฎหมายที่มีความพร้อม และอยู่ในไทม์ไลน์ที่สนช.จะต้องพิจารณาต่อ และต้องผลักดันให้กฎหมายออกมาภายใน 1-2 ปีนี้ หรือให้ออกมาในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื่องจากกฎหมายที่ออกมาเป็นเรื่องใหม่ และนำแนวคิดในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ เข้ามาใช้

“แม้ว่าร่างพ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น ออกมาไม่ได้ช่วยทำให้ปริมาณการบริโภคเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลดลง แต่จะช่วยลดซากอิเล็ก ทรอนิกส์ที่ถูกนำไปทิ้งโดยนำไปกำจัดแบบถูกวิธีได้มากขึ้น โดยซากที่เคยทิ้งก็เข้าระบบเพิ่มขึ้น และช่วยทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำชิ้นส่วนมาใช้ใหม่ได้”

หากพ.ร.บ.นี้ผลักดันไม่สำเร็จ ก็ต้องใช้กลไกเดิม ตามกฎหมายที่มีอยู่เดิม การคัดแยกขยะ โรงงานกำจัดขยะก็ต้องทำให้ถูกวิธีและใช้พ.ร.บ.โรงงานของหน่วยงานต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว ไปควบคุมให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ไม่ใช่รับขยะมาแล้ว จัดการไม่ถูกวิธีสร้างปัญหามลพิษขึ้นมาเสียเอง ต้องไปดูว่าจะทำอย่างไรถึงจะรวบรวมซากขยะเหล่านี้มาจัดการได้ให้มากที่สุด

++ผู้ผลิตแบกต้นทุนสูงขึ้น
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษตั้งข้อสังเกตว่า ในแง่ภาคเอกชนหรือผู้ผลิตอาจมองถึงเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะต้องส่งซากขยะไปคัดแยก รีไซเคิล แต่ก็จะได้มูลค่าจากการคัดแยกขยะที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ หรือโรงงานรีไซเคิลก็จะมีรายได้จากวัสดุที่รีไซเคิลได้ แต่ก็จะมีบางส่วนที่รีไซเคิลไม่ได้ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องส่งไปให้โรงงานที่รับกำจัดปลายทาง ตรงนี้จะเป็นค่าใช้จ่าย ทั้งหมดสุดท้ายก็ขึ้นอยู่ที่กลไกการตลาดที่จะเป็นตัวกำหนดและสนับสนุนให้เกิดกระบวนการตรงนี้ ดังนั้นถ้าภาคเอกชนสามารถรวมตัวกันได้มากเท่าไหร่ก็จะลดต้นทุนของเขาได้มาก

“ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายและกลไกที่จะมาจัดการกับปัญหาซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รวมถึงของเสียอันตรายจากชุมชนอื่นๆ ที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 4 แสนตันต่อปี”

ด้านนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าปัจจุบันมีขยะในประเทศทั้งหมด 5 กลุ่มสำคัญคือ 1.ขยะมูลฝอยชุมชน ที่กระทรวงมหาดไทยดูแลอยู่ มีปริมาณขยะรวมราว 27 ล้านตัน (แบ่งเป็นรีไซเคิล 30% ของเสียอันตราย 3% ขยะอินทรีย์ 64% และอื่นๆ เช่น เศษวัสดุจากการก่อสร้าง 3%)”

2.ขยะอุตสาหกรรม ขึ้นอยู่กับกระทรวงอุตสาหกรรม มีปริมาณขยะรวมราว 30 ล้านตัน (รวมขยะมีพิษและไม่มีพิษ) 3.ขยะประเภทกัมมันตรังสี ขึ้นอยู่กับกระทรวงวิทย์ 4.ขยะติดเชื้อ ขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข เช่น ขยะที่มาจากโรงพยาบาล และ 5.ขยะหรือซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นอยู่กับกรมควบคุมมลพิษ โดยขยะจาก 4 กลุ่มแรกมีกฎหมายออกมารองรับอยู่แล้ว ส่วนซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขณะนี้ยังเป็นร่างพ.ร.บ.อยู่

บาร์ไลน์ฐาน ++ระวังขยะโซลาร์เซลล์เกลื่อน
นายจักรมณฑ์ กล่าวอีกว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่อไปจะมีความสำคัญมากขึ้นเพราะปริมาณจะสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งการกำจัดดูแลอย่างถูกต้องถูกวิธีในต่างประเทศเขาทำกันแล้ว ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นขยะที่สามารถรียูส รีไซเคิลได้ แต่ในส่วนที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้นั้นก็ต้องกำจัดให้ถูกวิธี

“ที่น่าจับตาต่อไปคือซากขยะจากเซลล์แสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทมากในอนาคต เพราะจำนวนผู้ใช้และปริมาณที่หมดอายุกลายเป็นขยะจะมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นในส่วนที่เป็นเซลล์รับแสงแดดอาจยังมีพลังงานตก ค้างอยู่เหมือนแบตเตอรี่ที่เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา และยังไม่เสื่อมทั้งหมดเมื่อถูกทิ้งไปแล้วอาจเป็นอันตรายได้ เพราะยังมีพลังงานตกค้างอยู่ จำเป็นต้องดูแลการกำจัดอย่างถูกวิธี”

อย่างไรก็ตามกฎหมายที่ดูแลขยะมีหลายฉบับ และบางฉบับ มีความยุ่งยาก เช่น ขยะชุมชนซึ่งเกี่ยวโยงกับพื้นที่ ท้องถิ่น ส่วนขยะอุตสาหกรรมก็มีเรื่องขยะมีพิษ ไม่มีพิษ ภาครัฐจึงอยากให้มีคณะกรรมการแห่งชาติมาดูแลส่วนรวมด้านขยะทั้งหมด ที่ขณะนี้กำลังฟอร์มทีมขึ้นมา

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่าในแง่กระทรวงอุตสาหกรรมก็ส่งเสริมผู้ประกอบการที่นำเอาซากขยะอิเล็กทรอนิกส์มากำจัด ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานประเภทนี้จำนวน 174 โรงงาน ที่เป็นโรงงานกำจัดขยะ มีทั้งโรงงานที่เอาซากเครื่องใช้ไฟฟ้ามาคัดแยกและสกัดโลหะมีค่านำกลับไปใช้ใหม่ ส่วนที่เหลือก็นำไปข้าสู่เตาเผาขยะ หรือนำไปฝังกลบ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมพยายามส่งเสริมโรงงานเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อช่วยลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์

ปัจจุบันมีการนำเข้ากากของเสียอันตราย การเคลื่อนย้ายขยะอันตราย และการข้ามแดนการ กำจัดนั้นจะอยู่ภายใต้อนุสัญญาบาเซิล หลายประเทศส่วนใหญ่ไม่ อยากให้นำเข้ามาในรูปของทีวี ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เพื่อมาคัดแยก สำหรับไทยกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ส่งเสริมให้เกิดขึ้น เนื่องจากของเสียที่เข้ามานั้นจะใช้ได้ไม่ทั้งหมด แต่เป็นการนำเข้ามาทิ้งในไทย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,350 วันที่ 22 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว