โซเชียลมีเดียสื่อจุดกระแส แรงไม่พอเปลี่ยนการเมืองไทย

23 มี.ค. 2561 | 04:33 น.
อิทธิพลของ “โซเชียลมีเดีย” สร้างให้เกิดปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับโลกขึ้นมาให้เห็นกันแล้ว สำหรับในไทยโซเชียลมีเดีย เริ่มทำให้เห็นปรากฏการณ์สำคัญ อาทิ นาฬิกาหรู เสือดำ หรือ ป้าทุบรถ อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงการจุดกระแสสร้างให้สังคมเกิดการรับรู้เท่านั้นยังไม่ถึงกับการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในเวทีสัมมนาหัวข้อพลังโซเชียลเปลี่ยนการเมืองไทย ...จริงหรือ? จัดโดยผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 7 สถาบันอิศรา มูลนิธิเพื่อการพัฒนาสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยว่าพลังโซเชียลนั้นสามารถเปลี่ยนการเมืองไทยได้ เพราะเรื่องของการเมืองเป็นการต่อสู้ทางความคิดที่อิงกับข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนได้รับ เพราะฉะนั้นเมื่อรูปแบบการรับรู้ข้อมูลข่าวสารต้องเปลี่ยนไป ประเด็นคือเปลี่ยนไปในลักษณะไหน อะไรที่เป็นคุณ และอะไรที่เป็นโทษ

[caption id="attachment_270490" align="aligncenter" width="503"] เวทีสัมมนาหัวข้อพลังโซเชียลเปลี่ยนการเมืองไทย … จริงหรือ? เวทีสัมมนาหัวข้อพลังโซเชียลเปลี่ยนการเมืองไทย … จริงหรือ?[/caption]

โดย 2 เรื่องสำคัญที่โซเชียลมีเดียมีผลกับการเมือง คือ 1. ช่วงที่ไม่มีการเลือกตั้ง และ 2 ช่วงที่มีการเลือกตั้ง หากดูข่าวในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาสื่อที่กำหนดว่าอะไรอยู่ในกระแส คือ โซเชียล หลายๆ ครั้งสื่อหลักอย่างโทรทัศน์นั้นก็เอาสิ่งที่อยู่ในโซเชียลมาเล่น จนไม่แน่ใจว่าสื่อโทรทัศน์ยังเป็นสื่อหลักอยู่หรือไม่หรือสื่อโซเชียลเป็นสื่อหลักไปแล้ว สื่อโซเชียลกลายมาเป็นสื่อหลักก็จะเห็นข้อเปลี่ยนแปลงมากมาย สื่อโซเชียลนั้นสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าและง่ายกว่าที่ผ่านมาที่ต้องอาศัยสื่อหลัก เช่น กรณีการล่าเสือดำ นาฬิกา ที่มีกลไกโซเชียลมีเดียผลัก ดัน และถ้าสื่อเหล่านี้ถูกใช้ในแง่ของการตรวจสอบก็ถือเป็นการสร้างพลังทางการเมืองที่สำคัญ

ส่วนการเลือกตั้งมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ห่างจากการเลือกตั้งครั้งเก่า 6-7 ปี และมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่ 6-7 ล้านคน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงในหลายปีที่ผ่านมา ก็ทำให้โซเชียล มีเดียกลายเป็นสนามต่อสู้ทางการเมือง ผู้มีสิทธิลงสมัครเลือกตั้งก็อาจจะใช้สื่อโซเชียลเป็นเวทีหาเสียงแทนที่จะเป็นเวทีหาเสียงแบบดั้งเดิม เนื่องจากอาจมีผู้เข้ามารับชมมากกว่าไปปราศรัยบนเวทีแบบที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามปัญหาการใช้สื่อโซเชียลก็มีหลายเรื่อง ต้องมีกระบวนการตรวจสอบไตร่ตรองก่อนที่จะแชร์ ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดปัญหาได้ อาทิ ข่าวเท็จหรือ Fake News จะมีความรุนแรงขึ้น ทั้งยังกระทบต่อเรื่องการทำผิดกฎหมายง่ายขึ้นเพราะว่าเวลาคนพิมพ์อะไรผู้มีอำนาจอาจจะมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงต่อรัฐได้

ด้านนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าโซเชียลทำให้คนอยู่ด้วยความจริงมากขึ้น เพราะมีการตรวจสอบสอดส่องพฤติกรรมตลอดเวลา การกระทำผิดใดๆ สามารถ ถูกบันทึกเป็นหลักฐานได้ตลอดจนทำให้คนเริ่มที่จะเกรงกลัวในการทำผิด โดยโทรศัพท์มือถือเป็นเหมือนซีซีทีวีเคลื่อนที่ ที่สามารถเห็นการกระทำได้ตลอด และเผยแพร่พฤติกรรมและรายละเอียดของเรื่องนั้นๆ เช่นกรณีนาฬิกาหรูของรองนายกรัฐมนตรี กรณีการล่าเสือดำของนายทุน ซึ่งเป็นพลังการแสดงออกทางโซเชียล

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ ขณะที่โซเชียลกับการเมืองนั้น มองว่าขณะนี้พรรคการเมืองยังมีข้อจำกัดหลายประการ ทำให้การเข้าถึงประชาชนเป็นไปได้ยาก แต่อนาคตการเมืองจะเปลี่ยนจากยุคตัวแทนกลายเป็นยุคของประชาธิปไตยแบบ Smart Democracy หรือประชาธิปไตยในมือของประชาชน เป็นโอกาสของประชาชนในการจะทำให้บ้านเมืองดีขึ้น ถือเป็นพลังบวก ในการตรวจสอบและหาข้อมูลในประเด็นที่สังคมให้ความสนใจในขณะนั้นๆ แต่โซเชียลยังมีจุดอ่อน เพราะยังมีข้อมูลที่เป็นเท็จ จึงต้องไตร่ตรอง ตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อนเชื่อ หรือแชร์ข้อมูล

ด้านนายปราบ เลาหะโรจนพันธ์ ผู้ก่อตั้งโครงการ Rethingk Thailand เห็นว่าโซเชียล เป็นเพียงแค่การจุดกระแส ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้จริง เพราะที่ผ่านมาไม่มีคนรับผิดชอบโดยตรง เป็นเพียงกระแสแล้วจบไป ซึ่งทำพูดที่บอกว่าใครๆก็เป็นสื่อได้ ไม่ใช่ทุกคนที่จะผลิตสื่ออย่างมีคุณภาพได้ และในการเปลี่ยนแปลงจะใช้เพียงกระแสไม่เพียงพอ ดังนั้นคนรุ่นใหม่ต้องมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ต้องมีการรวมตัว เพื่อให้เกิดพลังโดยใช้โซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์

ส่วนนายอธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์ เห็นว่า พลังโซเชียลเป็นพลังแบบธรรมชาติของมนุษย์ มีความดิบ การเข้าถึงมากขึ้น แต่มี ความน่ากลัว เพราะขาดการกลั่นกรองที่ดี ควบคู่กับความเสื่อมของกระแสหลัก และสื่อขาดการสังเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำให้คนหันไปเสพสื่อโซเชียลมากขึ้น แต่พลังโซเชียลไม่เปลี่ยนการ เมืองทันที เพราะยังมีความเปะปะ เน้นการสร้างกระแส เน้นอารมณ์ร่วมมีการตัดสินบนพื้นฐานความรู้สึกโดยไม่มองหรือฟังเสียงรอบข้าง เอาความสะใจเป็นหลัก ทั้งที่กระบวนการยุติธรรมมีขั้นตอน และเรียกร้องให้รัฐใช้อำนาจสุดขั้วเพื่อแก้ปัญหา ทำให้กลับสู่ภาวะปกติได้ยาก ทั้งนี้พลังโซเชียลมีจุดอ่อน ต้องได้รับการยกระดับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,350 วันที่ 22 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว