ทางออกนอกตำรา : ดอกเอ๋ย ดอกเบี้ยเอ๋ย เจ้าไม่เคยเหี่ยวเฉาสักที

21 มี.ค. 2561 | 13:26 น.
265664 lampa 00010100 ผมยกเนื้อเพลง “ดอกเบี้ย” ที่น้าแอ๊ด วงคาราบาว ร้องไว้ในชุด “ขี้เมา” เมื่อกว่า 35 ปี มาแล้ว พาคุณผู้อ่านมาติดตามปัญหาความไม่เป็นธรรมของคนในสังคม และการอาศัยช่องว่างของกฎหมาย มาเป็นลู่ทางในการทำธุรกิจ โดยที่หน่วยงานกำกับของภาครัฐได้แต่มองตาปริบๆ จากการบังคับใช้กฎหมาย แต่ล่าสุดมีคำตัดสินของศาลฎีกาที่สั่นสะท้านไปทั้งวงการธนาคาร ไฟแนนซ์ ลีสซิ่ง ธุรกิจปล่อยกู้ ธุรกิจจำนำทะเบียนรถ ฯลฯ...คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2560 คือบรรทัดฐานที่ผมว่า

ฎีกานี้ มีคำพิพากษาในคดีที่เจ้าหนี้ (โจทก์) คิดดอกเบี้ยจากลูกหนี้ (จำเลย) ร้อยละ 1.3 ต่อเดือน หรืออัตรา ดอกเบี้ยร้อยละ 15.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตรา ที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ในมาตรา 3 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ (ปพพ.) มาตรา 654 จึงมีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าว ตกเป็นโมฆะ
แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1 เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืม มิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิ์ได้ดอกเบี้ย ก่อนผิดนัด และไม่อาจจะนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้ว ไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิ์คิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระไปชำระเงินต้นทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกานี้ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่ใช้บังคับต่อเจ้าหนี้ในการปล่อยเงินกู้ แม้คิดดอกเบี้ยเงินกู้เกินไปเพียง 0.6% ศาลถือว่าคิดดอกเบี้ยที่ขัดกฎหมาย จึงพิพากษาให้ตกเป็นโมฆะทั้งหมด
1521633432514 คำพิพากษานี้ยังนำความใน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ที่ได้บัญญัติบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมายรุนแรงขึ้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับมาใช้ด้วย ทำให้ป่วนกันไปทั้งวงการ แต่ชาวบ้านไม่รู้...

ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว ระบบสถาบันการเงินคือธนาคารพาณิชย์ แบงก์เฉพาะกิจอาจไม่มีปัญหา แต่กับสัญญาเงินกู้ของบริษัทลิสซิ่ง สินเชื่อส่วนบุคคล ธุรกิจบัตรเครดิตที่เป็นการเบิกเงินสด ธุรกิจจำนำทะเบียนรถที่แฝงตัวมาและฟูเฟื่องจนเป็น “ยาใจคนจน” อาจมีปัญหาหมด

ผมยกตัวอย่างให้เห็นชัดขึ้น ในสัญญาเงินกู้จำนำทะเบียนรถที่แต่ละบริษัทอ้างว่าดำเนินการถูกกฎหมาย ส่วนใหญ่คิดดอกเบี้ยกันเกินกว่า 15% แถมบวกค่าบริการจิปาถะไปในนั้นอีกประมาณ 8-10% นี่ไม่รวมการทวงหนี้ที่คิดบวกไปจากการผิดนัดชำระหนี้

ภาคธุรกิจอาจบอกว่า นี่เป็นธุรกิจเช่าซื้อ ....แต่คำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีนี้บอกว่า ไม่ใช่
2157fceefbd9d2e รูปแบบเช่นนี้ ถือเป็นสัญญาเงินกู้ ที่กำหนดให้ลูกหนี้ ต้องนำรถยนต์จักรยานยนต์มาเป็นหลักทรัพย์ประกัน ไม่ใช่ลักษณะสัญญาเช่าซื้อตามกฎหมายเช่าซื้อ หรือสินเชื่อส่วนบุคคลตามที่อ้างกัน แต่ถือเป็นสัญญาเงินกู้ยืม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ต้องอยู่ในบังคับพ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ซึ่งกำหนดไว้ไม่เกิน 15% เท่านั้น

เป็นการบอกที่ชัดเจนว่า สัญญาเงินกู้โดยทั่วไปถ้าบังคับให้มีสินทรัพย์ค้ำประกัน จะถือเป็นสัญญาเงินกู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ไม่สามารถคิดดอกเบี้ยเกิน 15% ทั้งสิ้น

ธุรกิจเช่าซื้อ จำนำทะเบียนรถ การปล่อยสินเชื่ออื่นๆ จิปาถะรายใด ที่คิดดอกเบี้ยอัตราเดือนละ 2-2.5% หรือ 40-51% ต่อปี ที่บานสะพรั่งไม่มีวันร่วงโรย ล้วนแล้วแต่มีการทำเป็นสัญญาเงินกู้แบบมีหลักประกัน ที่พร้อมจะบังคับเอาทรัพย์สินของลูกหนี้ไปขายทอดตลาด หากลูกหนี้ผิดนัดชำระค่างวด

ล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่ขัด พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราทั้งหมด

แค่นี้ก็ปั่นป่วนไปทั้งบ้านทั้งเมืองแล้วขอรับนายท่าน แล้วทางแก้จะอยู่ตรงไหน...มาติดตามกันต่อนะครับ
.........................
คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา / หน้า 6  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ /ฉบับ 3350 ระหว่างวันที่ 22-24 มี.ค.2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว