Bangkok Fintech Fair 2018 กระหึ่ม! แบงก์-ฟินเทคงัดนวัตกรรมการเงินโชว์ไม้เด็ด

21 มี.ค. 2561 | 08:32 น.
กระหึ่ม!งาน Bangkok Fintech Fair 2018 สถาบันการเงิน-ฟินเทคขนทัพนวัตกรรมเทคโนโลยีโชว์กว่า 56 บูธ ไฮไลท์ซิม TMB Pay Wave แตะจ่ายเงิน ดีเดย์เม.ย.นี้เริ่มใช้จริง ด้านธนชาตจับมือธนาคาร BCEL ต่อยอดชำระเงิน QR Code ข้ามประเทศ ฟากฟินเทค TALAD Invoice เจาะเอสเอ็มอีร้อนเงิน นำใบแจ้งหนี้ขอสินเชื่อหมุนเวียน ITMX เตรียมพัฒนา Standard API ธปท.ระบุยอดคนเข้างานเกินความคคาดหมาย

สำหรับภาพรวมการจัดงาน Bangkok Fintech Fair 2018 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 มีนาคม 2561 โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นเจ้าภาพหลักจัดงาน ถือเป็นการจัดงานครั้งแรก ภายในงานจะแบ่งออกเป็น 3 โซน คือ โซนสัมมนาจากวิทยากรจากสถาบันและผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี โซนที่ 2 จะเป็นการแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมของหน่วยงานต่างๆ และโซนที่ 3 จะเป็นโซน Cybersecurity room เป็นเวทีที่นำเสนอด้านความปลอดภัยทางการเงิน ทั้งนี้ มีหน่วยงาน สถาบันการเงิน และผู้ประกอบการทางด้านเทคโนโลยีฟินเทคเข้าร่วมออกบูธแสดงนวัตกรรมต่างๆ ร่วมทั้งสิ้น 56 บูธ โดยจะแบ่งเป็นบูธฟินเทคสตาร์ตอัพจำนวน 11 บูธ ที่เหลือจะเป็นสถาบันการเงิน สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) และผู้ให้บริการชำระเงิน

สำหรับไฮไลท์ภายในงาน Bangkok Fintech Fair 2018 นอกจากเวทีสัมมนาจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีที่มาให้ความรู้แล้ว นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ในอนาคตอันใกล้จะถูกหยิบยกมาใช้นั้น ถือว่าเป็นไฮไลท์เช่นกัน โดยจะเห็นสถาบันการเงิน นอนแบงก์ ผู้ให้บริการชำระเงิน หรือฟินเทคต่างๆ ได้นำนวัตกรรมมาโชว์ภายในงานให้แขกและผู้ร่วมงานได้ยลกัน

อาทิ บมจ.ธนาคารทหารไทย ได้นำนวัตกรรม TMB Pay Wave ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะเปิดตัวภายในเดือนเมษายนนี้นำมาโชว์ โดยเป็นนวัตกรรมการชำระเงินผ่านซิมที่สามารถนำไปติดบนโทรศัพท์มือถือ นาฬิกา หรือบัตรพนักงานได้ โดยหากมีการซื้อสินคค้าและบริการลูกค้าสามารถแตะซิมบนเครื่องที่มีสัญลักษณ์ Pay Wave ซึ่งซิมจะทำหน้าที่เป็นตัวชำระเงินผ่านบัญชีเงินฝากที่ลูกค้าผูกบัญชีเงินฝากไว้กับ All Free ปัจจุบันร้านค้าที่เข้าร่วมมีมากว่า 2 แสนจุด และรถแท๊กซี่บางคันก็สามารถชำระได้ หรือแอพพลิเคชั่น “Sabuy Shop” ที่เริ่มให้บริการวันที่ 1 มีนาคม เพื่อช่วยเหลือร้านค้าบริหารจัดการสต็อกสินค้าได้ดีขึ้น

หรือบมจ.ธนาคารธนชาตที่ดึงมาตรฐาน QR Code มาต่อยอดสำหรับการชำระเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ข้ามประเทศครั้งแรก โดยธนาคารธนชาตร่วมกับธนาคารการค้าต่างประเทศลาว หรือ BCEL ร่วมกันพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่นใหสามารถสแกน QR Code ชำระค่าสินค้าและบริการข้ามประเทศได้เป็นครั้งแรก โดยมุ่งหวังมีธุรกรรมซื้อขายภายในสิ้นปี 1,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3-5% จากมูลค่าซื้อขายชายแดนไทย-สปป.ลาว.ในช่วงครึ่งปีหลังที่ 2 หมื่นล้านบาท จากทั้งปีที่คาดว่ามูลค่าการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาวอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท และในเฟสต่อไปจะมีการพัฒนาไปสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค CLMV ต่อเนื่อง

สำหรับไฮไลท์ในส่วนของผู้ประกอบการฟินเทคนั้น จะเป็นในส่วนของบริษัท TALAD Invoice ตลาดกลางออนไลน์ในการซื้อขายใบแจ้งหนี้ Invoice ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ได้รับเงินสดอย่างรวดเร็วที่สุดใน 24 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนสูง มีปัญหาเรื่องประวัติชำระหนี้ หรือเพิ่งเริ่มดำเนินกิจการสามารถนำใบแจ้งหนี้มาขอวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนได้ โดยให้สูงสุด 80 ส่วนใบสินค้าคงคลัง 50% โดยบริษัทจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและนักลงทุน ซึ่งบริษัทจะคิดอัตราค่าธรรมเนียม 1-3% ของมูลค่า ปัจจุบันมีลูกค้าเอสเอ็มอี 500 ราย นักลงทุน 200-300 ราย โดยเฉลี่ยผลตอบแทน 4-15%

อนึ่ง สมาคมฟินเทคประเทศไทย ระบุว่าปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 170 ราย เป็นนิติบุคคลประมาณ 80 ราย ที่เหลือจะเป็นบุคคล ซึ่งในจำนวนฟินเทคที่เป็นนิติบุคคล 80 รายนั้น ถือว่ามีสัดส่วนเกินครึ่งที่เป็นินเทคในประเทศไทยที่มีอยู่ 140 ราย ซึ่งฟินเทคส่วนใหญ่จะเน้นทำเรื่องระบบการชำระเงิน เป็นหลัก

นอกจากนี้ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ จำกัด กำลังสร้างโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อระบบงานทางด้านเทคโนโลยี API ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐาน หรือ ITMX Industry Standard API รองรับกรอบนโยบายของธปท. ซึ่งจากเดิมจะเป็นเรื่องระบบชำระเงินผ่านพร้อมเพย์ แต่หลังจากพัฒนาระบบจะนำไปสู่บริการด้านอื่นๆ ได้หลากหลายขึ้น ด้วยหลักการ Open API ทำให้สมาชิกสามารถเชื่อมต่อได้สะดวกรวดเร็ว ลดเวลา และค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ จำนวนผู้เข้าร่วมงานในวันที่ 19 มีนาคม 2561 จากการเก็บตัวเลขของธปท.นั้น พบว่ามีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้น 1,083 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลจากสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ นอนแบงก์ ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และประชาชนทั่วไป โดยมีผู้ที่สนใจที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ (Walk in) จำนวนทั้งสิ้น 263 ราย และหากรวมผู้ร่วมงานทั้ง 2 วัน มีผู้ร่วมงานทั้งสิ้น 1,600 ราย เป็นผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้จำนวน 600 คน

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงิน และเทคโนโลยีการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกับ ”ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมการจัดงาน งาน Bangkok Fintech Fair 2018 ครั้งแรกนั้น โดยภาพรวมเป็นไปอย่างน่าพอใจ หากดูจากตัวเลขจำนวนผู้ลงทะเบียนและยอดผู้เข้าชมงานถือว่าค่อนข้างดี โดยธปท.ได้เรียนเชิญผู้เข้าร่วมงานประมาณ 900-1,000 คน หากดูตัวเลขผู้ร่วมร่วมงานคิดเป็นประมาณ 90-95% จากที่ธปท.เรียนเชิญ ถือว่าค่อนข้างได้ผลตอบรับดี ส่วนเวทีสัมมนาและห้อง Tech Talk ในหัวข้อต่างๆ ได้รับความสนใจจากผู้เข้าฟัง หากดูจากจำนวนผู้เข้ร่วมฟังในห้องค่อนข้างแน่น สะท้อนว่าธปท.ได้จัดหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจ และตรงกับผู้เข้าร่วมฟัง ดังนั้น โดยภาพรวมถือว่าการจัดงานคครั้งแรก เป็นที่น่าพอใจและดีใจคนเข้าร่วมจำนวนสูงกว่าที่คาดหมายไว้ โปรโมทแทรกอีบุ๊ก