‘เอนก’ฉายภาพปฏิรูปการเมือง ‘ทำครบ’ประเทศมีทางออก

23 มี.ค. 2561 | 03:55 น.
“13 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผน การปฏิรูปประเทศ ทั้ง 11 ด้าน พร้อมนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อผ่านความเห็นชอบเร็วๆ นี้” ตอนหนึ่งจากเวทีแถลงความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศไทย หัวข้อ “การเมืองสร้างสรรค์ พลังงานมั่นคง ดำรงความสุจริต” นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองหัวหอกคนสำคัญในการปฏิรูปประเทศ เกริ่นถึงแผนการปฏิรูปด้านการเมืองโดยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ ดังนี้

นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราไม่เคยเห็นแผนปฏิรูปการเมืองที่เป็นเรื่องของรัฐบาลทั้งคณะ ที่สำคัญยังผูกพันเกี่ยวข้องกับองค์กรต่างๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลด้วย ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการยุติธรรม ศาล และองค์กรอิสระ ฯลฯ ซึ่งต่างอยู่ในแผนการปฏิรูปการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น การบริหารประเทศหลังจากนี้นอกจากจะต้องมองเรื่องของนโยบายที่ต้องจัดลำดับความสำคัญ เล็ก กลาง และใหญ่ รวมถึงการวางแผนระยะสั้น กลาง และระยะยาวแล้ว รัฐบาลจากนี้ไปจนถึงหลังเลือกตั้งยังมีข้อผูกพันอยู่กับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศด้วย

[caption id="attachment_270300" align="aligncenter" width="335"] เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เอนก เหล่าธรรมทัศน์[/caption]

นายเอนก อธิบายขยายความแผนการปฏิรูปการเมืองว่า มีภารกิจที่สำคัญ 5 ประการด้วยกัน คือ 1. การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชา ธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งถือเป็นความสำคัญลำดับแรกเป็นมูลฐานการเมืองการปกครองของไทย โดยมุ่งหวังให้วัฒนธรรมทางการเมืองของประชาชนสูงขึ้น

“ต้องไม่ใช่แค่ทวงถามสิทธิประโยชน์ หรือพูดถึงเฉพาะข้อเรียกร้องของตนเองเท่านั้น สิ่งที่สำคัญกว่านั้นในระยะปานกลางและระยะยาว คือ เป็นพลเมืองที่ต้องถามตัวเองด้วยว่า จะช่วย จะทำ หรือมาเป็นกำลังให้กับบ้านเมืองได้อย่างไรด้วย

ประชาชนต้องเป็นทั้งพลเมือง เป็นทั้งประชาชน ที่สำคัญ คือ การเป็นพสกนิกรที่ดีของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเสนอให้มี พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย พ.ศ. ... ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ระดมทุกภาคส่วนของสังคมมาจัดทำเรื่องนี้ นายเอนก ระบุ

++ยกท้องถิ่นร่วมพัฒนาประเทศ
ภารกิจที่ 2 คือ การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรมให้กับท้องถิ่น ซึ่งเป็นหลักการในการให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ใช้อำนาจของตนเองในทางตรงในการบริหารจัดการท้องถิ่น นอกจากนี้ท้องถิ่นยังถือได้ว่าเป็นฐานรากของสังคมและประเทศชาติ การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นจึงเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้เรียนรู้การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและให้อำนาจของตนเองในทางตรง การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นจึงเป็นการสร้างฐานรากและปลูกฝังให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและจะนำไปสู่การทำให้การเมืองการปกครองระดับชาติมีความเข้มแข็งตามไปด้วย

ถามว่ามีการพูดถึงการ กระจายอำนาจมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 การปฏิรูปในครั้งนี้จะทำให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้อย่างไรนั้น นายเอนกเผยว่า อย่าง น้อยที่สุดก็ทำให้การกระจายอำนาจของการปกครองส่วนท้องถิ่นมีสถานะที่มั่นคง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศมากยิ่งขึ้นจะไม่เป็นแต่เพียงผู้รับผลประโยชน์ หรือเป็นเพียงผู้รับนโยบายอย่างที่ผ่านมาแต่ทำให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการสร้างประเทศด้วย

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ ++ปชต.-ธรรมาธิปไตย
ภารกิจที่ 3 คือ การสร้างรัฐธรรมาธิปไตย ที่ไม่ใช่แค่ระบอบการปกครองประชาชนของเสียงข้างมากเท่านั้น แต่ต้องเป็นการปกครองเพื่อธรรมาธิปไตย ต้องมีธรรมะที่ดีของทุกศาสนา มี ความดีงาม ความถูกต้องเป็นหลัก มีผลประโยชน์ของมหาชน ของชาติบ้านเมืองกำกับ

นับเป็นครั้งแรกของการทำงานของรัฐบาลในอีก 5 ปีต่อไปว่า ประชาธิปไตย ต้องหมายถึง ธรรมาธิปไตยด้วย เป็นรัฐที่ยึดถือประโยชน์ของปวงชนและส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และยึดถือเหตุผลความจริง ความถูกต้องเป็นธรรมในการบริหารจัดการต่างๆ ผู้ใช้อำนาจในการบริหาร เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รวมถึงบุคคลผู้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของประชาชนในการใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร เป็นผู้กำหนดทิศทางและนโยบายสำคัญ จึงเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจตั้งแต่ระดับสูงสุด ลดหลั่นกันลงมาต้องตัดสินใจด้วยเกณฑ์ธรรมาธิปไตย

ไม่สำคัญว่า ใครเป็นเสียงข้างมาก ใครเป็นผู้ปกครอง ที่สำคัญคนที่มีอำนาจปกครองนั้นต้องมีธรรมาธิปไตย ประชาชนที่เฝ้าดูอยู่ก็ต้องมีธรรมาธิปไตย สังคมและรัฐบาลต้องมีธรรมาภิบาลด้วย

ภารกิจที่ 4 คือ การสร้างกลไกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธีและการรู้รักสามัคคี ให้มีความสงบสันติ ขัดแย้งได้แต่ต้องไม่แตกหัก ไม่แตกแยก โดยให้ประชาชนมีความรู้รักสามัคคี ไม่แตกแยกเป็นสอง ส่วนภารกิจสุดท้ายซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนต้องทำภายใน 1 ปีนี้ นั่นก็คือ ทำอย่างไรให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรม ทำอย่างไรจะให้นักการเมือง พรรคการเมืองมีความสามารถ มีความเที่ยงธรรม มีธรรมาธิปไตยมากขึ้น เสนอนโยบายต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับส่วนรวม ไม่ทำให้ภาระงบประมาณของประเทศเกินควร

ทำอย่างไรจะให้การเลือกตั้งครั้งแรกนี้เป็นการเลือกตั้งเพื่อการปฏิรูปการเมืองเสียที ไม่ใช่การเลือกตั้งเพียงเพื่อว่า พรรคไหนจะชนะ พรรคไหนจะได้คะแนนเสียง รัฐบาลจะเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ทำอย่างไรจะให้การเลือกตั้งครั้งแรกมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่า เป็นการปฏิรูปประเทศ เป็น การส่งสัญญาณที่ชัดเจนออกไป

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ ++แผนปฏิรูปไม่ใช่การบังคับ
ทั้งยังยืนยันด้วยว่า แผนปฏิรูปการเมืองครั้งนี้ไม่ใช่แผนที่จะไปบังคับ กะเกณฑ์ หรือไปลงโทษใครเพิ่มอีก เนื่องจากที่กล่าวมานั้นมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 44 มากมายแล้ว คณะกรรมการปฏิรูปฯ จะไม่ทำเพิ่มเติมอีก แต่จะเน้นเรื่องมาตรการส่งเสริม สนับสนุน และสร้างความเข้มแข็งระดับมูลฐานให้มากขึ้น รวมทั้งเสนอนวัตกรรมความคิดใหม่ๆที่เกี่ยวกับการพัฒนาประชาธิปไตย

วัฒนธรรมทางการเมืองหลายเรื่องของไทยดีมาก และหลายเรื่องก็เป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตย ยกตัวอย่างเช่น ความคิดเรื่องการอุปถัมภ์ ในอดีตอุปถัมภ์ให้คนดีขึ้นมา จากคนตัวเล็กตัวน้อย ขึ้นมาเป็น เจ้าพระยา สมเด็จเจ้าพระยา แต่ระยะหลังๆ กลับไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เป็นไปเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม หากอุปถัมภ์ในทางที่ถูก คนที่เหมาะสมก็ดี แต่ถ้าไม่ถูก ไม่ควรก็ต้องลดเลิกไป

จากนี้ไปจะต้องสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้ประชาชนตระหนักถึงความเป็นพลเมือง และประโยชน์สาธารณะ ไม่เป็นเพียงคนของกลุ่มของท้องที่นั้นๆ แต่ต้องเป็นคนของประเทศ ของสังคม เป็นระบอบที่คู่ไปกับสังคมขนาดใหญ่ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ระดับท้องถิ่น ที่สำคัญต้องมีวัฒนธรรมของการเป็นพสกนิกรที่ดีของสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องตระหนักว่า จะพัฒนาประชา ธิปไตยไปได้นั้นไม่ใช่มีแต่วัฒนธรรมของต่างชาติ แต่เราจะต้องเข้าใจวัฒนธรรมดั้งเดิมของสังคมไทย เลือกสรรสิ่งที่ดีของวัฒนธรรมเดิมมาใช้ มาประสานเข้ากับวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่เป็นสากลให้ได้ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องทำใน 5 ปีนี้ ขณะที่บางเรื่องก็ต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป

“หากทำทุกอย่างได้ครบถ้วนเป็นกระบวนการดังที่กล่าวมาแล้ว และด้วยความหวังว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะยั่งยืนสถาพรเพื่อที่จะทำให้ยุทธศาสตร์และแผนการปฏิรูปประเทศนั้นยั่งยืนสถาพรไปด้วย ถ้าทำได้ ผมเชื่อว่าบ้านเมืองมีทางออก มีทางรอด” นายเอนก ระบุ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,350 วันที่ 22 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว