กฟผ.ปัดล็อกนำเข้า LNG เปิดประมูล 5 ล้านตันไม่สนบริษัทลูกร่วมทุนสยามแก๊ส

24 มี.ค. 2561 | 06:48 น.
กฟผ.เตรียมเปิดประมูลแข่งขันนำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตัน เล็งเปิดเป็น 2 สัญญา ป้องกันความเสี่ยงจากราคาผันผวน ยันไม่ล็อก กฟผ.อินเตอร์ หลังจับมือสยามแก๊ส ร่วมทุน แต่พิจารณาจากเสนอให้ราคาตํ่าสุด

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมเปิดให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมประมูลแข่งขันนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จำนวน 1.5 ล้านตันภายในปี 2561 นี้ ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ต้องการให้ กฟผ. นำเข้าแอลเอ็นจี เพื่อทดสอบระบบคลังและท่อก๊าซตามนโยบายเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ ล่าสุดอยู่ระหว่างเตรียมขั้นตอนการประมูล เปิดให้เอกชนแข่งขันนำเข้าแอลเอ็นจี โดยจะคัดเลือกจากผู้ประกอบการที่เสนอราคาตํ่าสุด เบื้องต้นอาจแยกเป็น 2 สัญญา หรือจำนวน 7.5 แสนตันต่อสัญญา เพื่อป้องกันความเสี่ยง

TP9-3350-1A ขณะที่การจัดหาแอลเอ็นจี เพื่อป้อนให้กับโครงการก่อสร้างสถานีกักเก็บและแปลงสภาพก๊าซธรรมชาติเหลวแบบลอยนํ้า (FSRU) ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ขนาด 5 ล้านตันต่อปีภายในปี 2567 นั้น จะมีการเปิดประมูลเช่นกัน โดยเบื้องต้นมีบริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ร่วมกับบริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) ศึกษาความเป็นไปได้ในการเป็นผู้จัดหาและจัดส่งก๊าซแอลเอ็นจีแล้ว

นายถาวร งามกนกวรรณ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กฟผ.อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้ผู้ประกอบการยื่นประมูลแข่งขันนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี จำนวน 1.5 ล้านตัน ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 เพื่อป้อนให้กับคลังแอลเอ็นจีส่วนขยายของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อทดสอบระบบคลังแอลเอ็นจีและท่อก๊าซ ตามนโยบายเปิดเสรีก๊าซ ซึ่งตามแผน กฟผ. ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีภายในปีนี้

โดยเบื้องต้นคาดว่าการเปิดประมูลแข่งขันนำเข้า จะแบ่งออกเป็น 2 สัญญา สัญญาละ 7.5 แสนตัน โดยจะทยอยเปิดประมูลล็อตแรกเร็วๆ นี้ จากนั้นจะเริ่มเปิดประมูลล็อต 2 ต่อไป ซึ่ง กฟผ.จะพิจารณาจากราคาเสนอ ตํ่าสุด รวมทั้งสัญญาซื้อขายระหว่างคู่สัญญาด้วยว่าจะเป็นสัญญาระยะยาวกี่เปอร์เซ็นต์และระยะสั้นกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเป็นการจัดหาแอลเอ็นจีในตลาดจร ดังนั้นราคาจึงมีความผันผวนตามความต้องการใช้

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ นอกจากนี้ กฟผ.ได้รับสิทธิ์ในการใช้คลังเก็บก๊าซของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด เป็นระยะเวลา 38 ปี และสัญญาจะสิ้นสุดลงในปี 2599 รวมถึงระบบท่อของ ปตท. โดยการนำเข้าแอลเอ็นจีดังกล่าวจะนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าวังน้อย

สำหรับการจัดหาแอลเอ็นจีเพื่อป้อนโครงการ FSRU ขนาด 5 ล้านตัน ของ กฟผ. คงต้องแยกกัน แต่จะใช้วิธีการเปิดประมูลเช่นกัน และยืนยันว่าไม่ได้กำหนดให้บริษัท กฟผ.อินเตอร์ฯ เป็นผู้นำเข้าแอลเอ็นจี 5 ล้านตัน แม้ว่าที่ผ่านมา กฟผ.อินเตอร์จะลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับบริษัทสยามแก๊สฯ เพื่อร่วมลงทุนในการจัดหาแอลเอ็นจีก็ตาม ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจไม่เกี่ยวข้องกับการเปิดประมูลนำเข้าแอลเอ็นจีของ กฟผ. แต่ กฟผ.อินเตอร์มีสิทธิ์เข้าร่วมประมูลเช่นกัน

ส่วนความคืบหน้าโครงการ FSRU ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน 5 ล้านตันต่อปี กฟผ. อยู่ระหว่างทำการศึกษาการสำรวจและออกแบบงานวิศวกรรม (FEED) เพื่อนำเข้าแอลเอ็นจี โดยจะจัดส่งให้กับโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ที่มีความต้องการใช้ประมาณ 3 ล้านตันต่อปี ส่วนอีก 2 ล้านตันต่อปี จะส่งไปยังโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ รวมทั้งจัดส่งก๊าซธรรมชาติเข้าสู่โครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน โดยกำหนดส่งก๊าซธรรมชาติได้ ในปี 2567

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,350 วันที่ 22 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว