ส่งออกไทยเดือนก.พ.61 โต 10.3% มั่นใจทั้งปียังขยายตัว 8%

21 มี.ค. 2561 | 06:59 น.
[caption id="attachment_270247" align="aligncenter" width="503"] นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร[/caption]

-21 มี.ค.61-นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยตัวเลขส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ว่า ขยายตัวต่อเนื่อง 10.3% เป็นเดือนที่ 2 คิดเป็นมูลค่า 20,365 ล้านดอลาร์สหรัฐ หรือขยายตัว 13.8% สูงสุดในรอบ 7 ปีนับตั้งแต่ปี 2555 แต่หากดูภาพการส่งออกในรูปเงินบาทลดลงเป็นครั้งแรก 0.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่า 643,706 ล้านบาท ผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 19,557 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 16.0% ส่งผลให้การค้าไทยเกินดุล 808 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ การส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นผลมาจากตลาดส่งออก โดยเฉพาะสหรัฐ เอเชียใต้ อาเซียน(5) และตลาด CLMV มีการขยายตัวได้ดี

นอกจากนี้ ยังกระจายการเติบโตไปสู่ตลาดศักยภาพ และตลาดใหม่อื่นๆ ด้วย เช่น ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง รวมไปถึงการส่งออกในกลุ่มสินค้าก็มีการเติบโต โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวเป็นเดือนที่ 16 ที่ขยายตัว 0.3% โดยสินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ส่วนสินค้าที่หดตัว ได้แก่ ยางพาราคา ผลมาจากราคาเป็นหลักและการส่งออกหดตัวในทุกตลาด น้ำตาลทราย และอาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป

ส่วนสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมขยายตัวเป็นเดือนที่ 12 ขยายตัว 11.5% สินค้าที่ขายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะที่สินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ ทองคำ โดยเฉพาะส่งออกไปตลาดสวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ แผงวงจรไฟฟ้า ส่งออกหดตัวในตลาด ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

ทั้งนี้ตลาดส่งออกสำคัญขยายตัวดีทุกตลาด โดยตลาดหลักขยายตัว 18.8% อาทิ ตลาด ญี่ปุ่น ขยายตัว 41.1% ซึ่งการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนการส่งออกไปสหรัฐ ยุโรป ก็ยังคงขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปตลาดศักยภาพ ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง 7.8% โดยมีสาเหตุสำคัญจากการขยายตัวสูงจากการส่งออกไปตลาดอินเดีย และการส่งออกไป จีน CLMV ด้านตลาดศักยภาพระดับรอง ฟื้นตัวในเกณฑ์สูง 15.1 % โดยการส่งออกไปรัสเซีย และ CIS

อย่างไรก็ดี เป้าหมายการส่งออกทั้งปียังคงเป้า 8% มูลค่าอยู่ที่ 255,630 ล้านดอลลาร์สหรัฐมั่นใจว่าจะสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย แม้ขณะนี้ ค่าเงินบาทจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ส่งออกในรูปของค่าเงินบาท แต่ในรูปเงินเหรียญสหรัฐนั้นยังคงเติบโตอยู่ โดยหลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและหามาตรการเข้าดูแล ทั้งนี้ เป้าหมายการส่งออกอยู่ภายใต้สมมติฐานค่าเงินบาทเฉลี่ย 32--34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 55-65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลล์ โดยการส่งออกได้ตามเป้าหมาย มูลค่าการส่งออกต่อเดือนทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 21,412 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หลังจากนี้หากการส่งออกต่อเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 21,516 ล้านดอลาร์สหรัฐ การส่งออกก็ยังโตได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว