ทิศทางการพัฒนา 'ท่าอากาศยานไทย'

21 มี.ค. 2561 | 05:11 น.
ขณะที่เที่ยวบินและฝูงบินเพิ่มมากขึ้น การมองย้อนมาที่สนามบิน คือ ประเด็นที่สำคัญ เพราะท่าอากาศยานถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของระบบการขนส่งทางอากาศ อันนำมาสู่รายได้และเชื่อมโยงสู่ธุรกิจต่าง ๆ นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน เผยว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีแผนแม่บทระบบท่าอากาศยานของประเทศ การวางแผนพัฒนาท่าอากาศยานขาดการบูรณาการ ต่างคนต่างทำ ทำให้ไม่สามารถรองรับความต้องการได้เต็มศักยภาพ นอกจากนั้น จังหวัดที่ยังไม่มีท่าอากาศยานได้ร้องขอให้มีการก่อสร้างท่าอากาศยานในพื้นที่ ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยมีแนวทางในการพัฒนาท่าอากาศยานที่มีอยู่ในปัจจุบันและก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอนาคต สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จึงได้จัดทำแผนแม่บทการจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศไทย โดยได้แบ่งกลุ่มท่าอากาศยานในประเทศไทยออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อกำหนดบทบาทและแนวทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้


09-3343

1.ท่าอากาศยานที่เป็นศูนย์กลางหลัก (Primary Hub Airports) ต้องตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองขนาดใหญ่มาก มีเที่ยวบินทั้งภายในและเที่ยวบินระยะใกล้ ปานกลางและระยะไกลระหว่างประเทศ โดยเชื่อมต่อกับท่าอากาศยานศูนย์กลางหลักในต่างประเทศ (Connecting Flight) และมีจำนวนผู้โดยสารมากกว่า 25 ล้านคนต่อปี ซึ่งนั้นคือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง

2.ท่าอากาศยานศูนย์กลางรอง (Secondary Hub Airports)
ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองขนาดใหญ่เช่นกัน สามารถให้บริการเที่ยวบินแบบจุดต่อจุด (Point to Point) รวมทั้งเที่ยวบินทั้งภายในและระยะใกล้ ปานกลาง และระยะไกล ระหว่างประเทศ แต่ต่ำกว่าศูนย์กลางหลักและมีจำนวนผู้โดยสารระหว่าง 5-25 ล้านคนต่อปี และนี่คือ ท่าอากาศยานเชียงใหม่และภูเก็ต


10-3343-50

3.ท่าอากาศยานระดับภาค (Regional Airports)
ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองขนาดใหญ่ที่ตอบสนองความต้องการในการเดินทางทางอากาศของประชาชนในจังหวัดและภูมิภาคนั้น ๆ โดยให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศเป็นหลัก อาจมีเที่ยวระยะใกล้และระยะปานกลางระหว่างประเทศบ้าง และมีจำนวนผู้โดยสารระหว่าง 1-5 ล้านคนต่อปี ยกตัวอย่างเช่น ท่าอากาศยานกระบี่ หาดใหญ่ เชียงราย เป็นต้น

4.ท่าอากาศยานระดับจังหวัด (Local Airports) ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดเพื่อตอบสนองการเดินทางทางอากาศของประชากรในจังหวัดหนึ่งหรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศเป็นหลัก และมีจำนวนผู้โดยสารน้อยกว่า 1 ล้านคนต่อปี ได้แก่ ท่าอากาศยานตรัง พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน แพร่ และอื่น ๆ อีกกว่า 10 จังหวัด


09-3343-46

โดยแผนแม่บทนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อการพัฒนาในระยะ 20 ปี มีเป้าหมายในเชิงยุทธศาสตร์อีก 6 ด้าน ได้แก่

1.ความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย (Safety & Security) ซึ่งท่าอากาศยานต้องดำเนินงานได้ไม่น้อยกว่ามาตรฐานด้านความปลอดภัยที่กำหนดโดย กพท. ที่สำคัญอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ท่าอากาศยาน ต้องไม่มีอัตราเพิ่มขึ้น

2.ความสามารถในการเข้าถึง (Accessibility) คือ จำนวนประชากรทั่วประเทศ ร้อยละ 80 สามารถเข้าถึงท่าอากาศยานที่มีเที่ยวบินระหว่างประเทศได้ในระยะเวลารวมในการเดินทางทุกรูปแบบไม่เกิน 180 นาที และภายในประเทศไม่เกิน 90 นาที

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

3.ความสามารถในการเชื่อมต่อ (Connectivity) หรือ ท่าอากาศยาน ต้องรักษาและพัฒนาบริการด้านการบินให้มีความสามารถในการเชื่อมต่อกับท่าอากาศยานอื่นที่เหมาะสมกับประเภทของท่าอากาศยาน

4.คุณภาพการให้บริการ (Service Quality) โดยท่าอากาศยานต้องมีความสามารถในการให้บริการ และพัฒนาบริการให้สอดคล้องกับความต้องการ และความคาดหวังของผู้ใช้บริการ


09-3343-47

5.ประสิทธิภาพการดำเนินงาน (Operational Efficiency) ซึ่งท่าอากาศยานต้องสามารถดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อส่งมอบคุณค่าให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญ

6.ความยั่งยืน (Sustainability) ท่าอากาศยานต้องสามารถพัฒนาและรักษาสมดุลของการดำเนินงานและการพัฒนาท่าอากาศยานใน 3 มิติหลัก ได้แก่ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

และเพื่อให้ทิศทางการพัฒนาในระยะยาวเกิดความต่อเนื่อง ทางกองนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาออกเป็นอีก 4 ระยะ เพื่อให้สอดรับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดังนี้ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2560-2564) “ยกระดับขีดความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรขนส่ง” โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญของขีดความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรและการขนส่งทางอากาศเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว, ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565-2569) “ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน” โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกที่ส่งเสริมการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจท่าอากาศยาน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการท่าอากาศยานทุกระดับให้ความสำคัญกับการดำเนินงานและการพัฒนาที่มุ่งตอบสนองความต้องการ และความคาดหวังของผู้ใช้บริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในการดำเนินงานและธุรกิจท่าอากาศยาน, ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2570-2574) “ท่าอากาศยานชั้นนำแห่งนวัตกรรม” โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรมที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริงและเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีความได้เปรียบในการแข่งขันจากการใช้นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้น และสามารถสร้างคุณค่าได้อย่างแท้จริง และระยะที่ 4 (พ.ศ. 2575-2579) “ท่าอากาศยานแห่งความยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนของท่าอากาศยานให้มีระบบท่าอากาศยานที่มีการพัฒนาผลผลิตที่สร้างผลลัพธ์ได้ตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล


10-3343

ทั้งนี้ ตามแผนแม่บทฯ ท่าอากาศยานที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น จะต้องมีการพัฒนา Airside และ Landside เพื่อให้รองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีการจัดตั้งท่าอากาศยานแห่งใหม่ จำนวน 2 แห่ง คือ 1.ภาคใต้ เขตพื้นที่ จ.ภูเก็ต โดยมีพื้นที่ที่เหมาะสม คือ ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา และ 2.ภาคเหนือ เขตพื้นที่ จ.เชียงใหม่ / ลำพูน โดยมีพื้นที่ที่เหมาะสม คือ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ และ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน เนื่องจากพื้นที่เดิมที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับการเติบโตได้ในอีก 20 ปีข้างหน้า ได้อย่างเพียงพอ ที่สำคัญยังเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่มีความสนใจต้องการลงทุนเข้ามาร่วมเจรจา หรือ Public Private Partnerships (PPP) ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

นอกจากสายการบินอีกหนึ่งมิติสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของไทยในระยะยาว เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและเติบโตในเวทีระดับสากลได้อย่างมีศักยภาพนั้น คือ บุคลากรด้านการบิน ปัจจุบัน โรงเรียนด้านการบินของไทยมีอยู่หลากหลายสถานที่ ยกตัวอย่างเช่น BAC Academy ท่าอากาศยานนครราชสีมา ศูนย์ฝึกการบินหัวหิน ของสถาบันการบินพลเรือน พร้อมกันนี้ ยังมีอีก 8 แห่ง ที่อยู่ระหว่างการรออนุมัติ ได้แก่ ไทยแอร์โรนอร์ติคอลเซ็นเตอร์ ที่ท่าอากาศยานขอนแก่น บริษัท ศรีราชา เอวิเอชั่น จำกัด, บริษัท สยามอินเตอร์แมเนจเม้นท์ จำกัด ที่ท่าอากาศยานเพชรบูรณ์, บริษัท ไทย เอวิเอชั่น จำกัด ที่ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด เป็นต้น ซึ่งคาดว่า เมื่อได้รับอนุมัติการใช้พื้นที่จะสามารถผลิตบุคลากรด้านการบินได้เพิ่มขึ้นเพียงพอต่อการขยายตัวของการขนส่งทางอากาศ


10-3343-51

อีกหนึ่งปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้และถือเป็นโอกาสในการสร้างอาชีพในอนาคตเช่นกัน คือ ศูนย์ซ่อมอากาศยาน โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานทั้งหมด 8 ราย แบ่งออกเป็น การให้บริการซ่อมบำรุงเครื่องบิน 7 ราย และให้บริการซ่อมบำรุงเฮลิคอปเตอร์ 1 ราย ซึ่งที่ผ่านมา ศูนย์ซ่อมอากาศยานของไทยได้รับความไว้วางใจทั้งภาครัฐและเอกชนในการดูแลซ่อมบำรุง ขณะเดียวกัน ยังพร้อมรับงานซ่อมเครื่องบินจากต่างประเทศมาโดยตลอด สำหรับในส่วนของกรมท่าฯ มีบริษัทเข้ามาติดต่อขอใช้พื้นที่สร้างศูนย์ซ่อมอากาศยานที่ท่าอากาศยานนครราชสีมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติ โดยคาดว่า เมื่อก่อสร้างเสร็จและเปิดใช้งานจะเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานอีกแห่งหนึ่งที่ให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานการบิน

ถือได้ว่า ภาพรวมหลังจากไทยปลดล็อกธงแดงจาก ICAO บรรยากาศการขนส่งทางอากาศและอุตสาหกรรมการบินของไทยจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นการเตรียมความพร้อมรับมือในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการความปลอดภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก หากเรามีความพร้อมและตอบสนองความต้องการได้อย่างคล่องตัว การใช้งานของทั้งสายการบินที่เป็นผู้ให้บริการและผู้โดยสารที่เป็นผู้ใช้บริการแล้ว โอกาสที่ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็มีความเป็นไปได้มากขึ้นอย่างแน่นอน


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,343 วันที่ 25-28 ก.พ. 2561 หน้า 09
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ผ่า 'ดอนเมือง' เฟส 3! รับไฟลต์บิน ตปท.
สนามบินอุดรทุ่มงบ! ขยายรันเวย์-อาคาร 3

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว