ชาวไร่อ้อยวอนรัฐเร่งแก้อุปสรรค หวัง“ไบโอคอมเพล็กซ์” ช่วยหนุนเกษตรกร

21 มี.ค. 2561 | 04:26 น.
ประธานสหสมาคมชาวไร่อ้อย หวังโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร อีกทั้งยังสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน จังหวัด และประเทศชาติ วอนภาครัฐเร่งแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการ ให้เดินไปได้อย่างราบรื่นและรวดเร็ว

 

[caption id="attachment_270239" align="aligncenter" width="503"] นายทองคำ เชิงกลัด นายทองคำ เชิงกลัด[/caption]

นายทองคำ เชิงกลัด ประธานสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 11 นครสวรรค์ กล่าวว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ทราบว่าจะมีโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ ตั้งขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ต่างก็ยินดีและรอคอยที่จะเห็นโครงการนี้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะรู้ดีว่าโครงการนี้จะช่วยให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้มากขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น เพราะมีตลาดรับซื้ออ้อยเพิ่มขึ้น การระบายอ้อยออกจากแปลงก็เป็นไปอย่างคล่องตัว ไม่มีปัญหาอ้อยค้างไร่ และได้อ้อยที่มีคุณภาพ ส่งผลดีต่อเนื่องไปถึงการจัดการระบบโลจิสติกส์ การขนส่งต่างๆ ก็จะดีขึ้น การจัดการไร่ของชาวไร่อ้อยก็ดีขึ้น บำรุงตอได้เร็วขึ้น มีการสร้างงานให้กับคนในชุมชน ในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น และไม่ขึ้นอยู่กับฤดูการผลิตเหมือนในอดีต สามารถผลิตได้ตลอดทั้งปี เศรษฐกิจในพื้นที่ก็จะดีตามไปด้วย

“ในนามของชาวไร่อ้อย ขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นอย่างยิ่งที่ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายทำการปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ขึ้นได้ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์จนสำเร็จลุล่วงพร้อมที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในแง่ของชาวไร่อ้อย โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ดีที่สุดโครงการหนึ่งของรัฐบาลที่พยายามยกระดับความเป็นอยู่ของชาวไร่อ้อยให้ดีขึ้น ตลอดจนเชื่อว่าจะเกิดผลดีอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของชุมชนในท้องถิ่นอีกด้วย”  นายทองคำกล่าว

209248 ประธานสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ระดับประเทศ จึงน่ายินดีที่ได้เลือกให้จังหวัดนครสวรรค์เป็นพื้นที่ต้นแบบและเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งที่ผ่านมาชาวไร่อ้อยในพื้นที่ก็ได้มีส่วนสนับสนุนโดยการทำหนังสือไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยยืนยันว่ามีความพร้อมในการสร้างอ้อยเพิ่มเพื่อรองรับโรงงานใหม่ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณอ้อยที่ส่งเข้าโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม

ปัจจุบันอาชีพทำไร่อ้อยนับเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งมีพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 2 ล้านไร่ มีโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ของกลุ่มบริษัทเกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS จำนวน 3 โรงงาน ซึ่งได้ดูแลใส่ใจชาวไร่อ้อยในพื้นที่ดีมาก ดังนั้น เมื่อจะมีไบโอคอมเพล็กซ์เกิดขึ้นโดยมีกลุ่มเคทิสร่วมลงทุนด้วย ชาวไร่อ้อยก็มีความเชื่อมั่นและพร้อมจะให้ความร่วมมือด้วยดี ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว