“ทีดีอาร์ไอ” ชี้รัฐบาลอุ้ม ผู้ประกอบการโทรคมนาคม ไม่แตกต่างจากยุคทักษิณ

20 มี.ค. 2561 | 13:35 น.
- 20 มี.ค. 61 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลและผู้ประกอบการ 4 จี” ในเฟซบุ๊คส่วนตัว

ฐานเศรษฐกิจขอนำบางมุมที่เกี่ยวกับการประมูลคลื่น 4 จี หากผู้ใดสนใจบทความทั้งหมดติดตามได้ใน https://www.facebook.com/somkiat.tangkitvanich

“.....ในกรณีการประมูลคลื่น 4 จี มีความแตกต่างจากการประมูลคลื่นทีวีดิจิทัลมาก เพราะไม่ปรากฏชัดเจนว่าหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะกสทช. ทำอะไรบกพร่อง นอกจากปล่อยให้แจส โมบาย ซึ่งชนะการประมูลแล้วทิ้งใบอนุญาตได้ง่ายๆ จนรัฐบาลต้องไปเชิญชวนให้เอไอเอส มารับใบอนุญาตแทน นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมนี้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรุนแรงจนส่งผลต่อผู้ประกอบการมากเท่ากับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ เพราะแม้จะเสียรายได้จากบริการบางอย่างไป เช่น บริการเสียง แต่ก็มีรายได้จากการให้บริการข้อมูลมากขึ้น ผู้ประกอบการโทรคมนาคมส่วนใหญ่จึงยังมีกำไร แม้จะลดลงกว่าเดิมไปบ้าง

การกล่าวอ้างว่าการที่แจส โมบาย เข้าร่วมประมูลแล้ว ทำให้ราคาสูงขึ้นนั้น อาจทำให้เรารู้สึกสงสารผู้ประกอบการทั้งสองคือเอไอเอส และทรู แต่เราต้องไม่ลืมว่า ทั้ง 2 รายได้พิจารณาแล้วว่า ราคาที่ตนประมูลได้ไปนั้นมีความคุ้มค่า และเงื่อนไขการจ่ายค่าประมูล รวมทั้งการจ่ายเป็นงวด 4 งวดตามที่กำหนดเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ มิฉะนั้นก็คงถอนตัวจากการประมูลไปแล้ว ตนจึงไม่มีความสงสารผู้ประกอบการทั้ง 2 แต่หากจะมีความเห็นใจเล็กๆ บ้างก็คือเอไอเอส ซึ่งถูกรัฐบาลเชิญชวนให้มารับใบอนุญาตแทน แจส โมบาย ในราคาที่สูงกว่าที่ เอไอเอสเคยประมูลไว้ แต่เอไอเอสก็รับไว้ โดยไม่ปรากฏว่าได้ต่อรองกับรัฐบาลในเรื่องงวดการจ่ายค่าประมูลเลย

ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ คสช. จะต้องเข้ามาอุ้มผู้ประกอบการทั้ง 2 แถมจะดำเนินการล่วงหน้า 2 ปี ก่อนถึงปี 2563 ก่อนที่คสช. จะหมดอำนาจออกคำสั่งตามมาตรา 44 อันที่จริงระยะเวลาในการผ่อนชำระค่าประมูลของ กสทช. นั้น ถือได้ว่าไม่เข้มงวด เพราะให้จ่าย 3 งวดแรกน้อยมากคือเพียง 1.7 หมื่นล้านบาท แล้วค่อยให้จ่ายที่เหลือประมาณ 6.4 หมื่นล้านบาทในงวดที่ 4 ซึ่งแตกต่างจากการประมูลคลื่นความถี่โดยทั่วไปในต่างประเทศ และการประมูลคลื่น3จี ที่ผ่านมาในประเทศไทยเอง ที่ให้จ่ายค่าประมูลเกือบหมดตั้งแต่ช่วงแรกๆ แน่นอนว่าเพื่อป้องกันปัญหาการเบี้ยวกันภายหลัง การที่คสช.จะยินยอมให้เอไอเอสและทรู เปลี่ยนการจ่ายค่าประมูลงวดสุดท้ายรวดเดียวกลายเป็นการทยอยจ่ายใน 5 ปี จึงเป็นการยกประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการทั้ง 2 โดยแม้จะให้มีการจ่ายดอกเบี้ย แต่ดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายกันนั้นก็ต่ำมากคือ 1.5% ต่อปี ทั้งที่ตามเงื่อนไขการประมูล การจ่ายค่าประมูลล่าช้านั้น ต้องคิดดอกเบี้ยถึง 15% ต่อปี ส่วนต่างดอกเบี้ยนี้เองที่เป็นผลประโยชน์มากมายมหาศาล

เมื่อคิดมูลค่าผลประโยชน์ที่คสช. จะยกให้เอไอเอสและทรูนั้น จากส่วนต่างดอกเบี้ยดังกล่าว จะพบว่าสูงถึงรายละเกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือรวมกันเกือบ 3 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว จะมากหรือน้อยกว่านี้ ก็ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยที่ใช้คิดลด (discount rate) ทั้งนี้หากเชื่อว่า ผู้ประกอบการทั้งสองสามารถระดมทุนมาจ่ายค่าประมูล จากทั้งการกู้และการเพิ่มทุน โดยมีต้นทุนทางการเงินเฉลี่ย (WACC) ที่ประมาณ 9% ต่อปี ตามที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ใช้กับบริษัทเหล่านี้ ผลประโยชน์ที่คสช.จะยกให้ผู้ประกอบการทั้งสองก็ยังจะสูงถึงระดับ 1.6 หมื่นล้านบาท

ดังนั้นหากคสช. จะมีมติยกผลประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการทั้ง 2 รายตามที่เป็นข่าวจริง ก็คงทำให้ประชาชนอดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า แม้ว่าคสช.และรัฐบาลพลอ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะแตกต่างจากรัฐบาลทักษิณ 1 เพราะไม่ได้มีครม.ที่เต็มไปด้วยนายทุนโทรคมนาคมและนายทุนโทรทัศน์ จนเป็นที่มาของการเกิด “คอรัปชั่นเชิงนโยบาย” แต่นโยบาย “อุ้ม” นายทุนโทรคมนาคมก็แทบจะไม่ได้แตกต่างกันเลย

ความแตกต่างเล็กๆ หากจะมีก็คือ รัฐบาลทักษิณออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เก็บภาษีสรรพสามิตเพื่อเอื้อผู้ประกอบการโทรคมนาคมในสมัยนั้น โดยแอบซุกไปกับภาษีสรรพสามิตบริการอื่นๆ อาทิ สนามกอล์ฟ ในขณะที่ผู้มีอำนาจรัฐในปัจจุบันกำลังจะอุ้มผู้ประกอบการโทรคมนาคมโดยซุกไปกับการอุ้มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล”