เด้งขรก.เอี่ยวโกงพ้นตำแหน่งก่อน นายกฯยันรัฐบาลสางทุจริตต่อเนื่อง

20 มี.ค. 2561 | 11:00 น.
-20 มี.ค. 61- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมครม. ถึงการแก้ปัญหาการทุจริตว่า รัฐบาลดำเนินการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นมาตลอด ตนไม่อยากให้มองว่าปัญหาการทุจริตเพิ่มขึ้นหรือแย่ลง หรือมันดีขึ้น เพราะเรายังไม่รู้ทั้งหมด เนื่องจากกลไกการกระทำทุจริตในช่วงที่ผ่านมามีมากมาย ตนจึงอยากให้ไปเปรียบเทียบว่าการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตในช่วงรัฐบาลนี้ได้ทำมากน้อยเพียงใด อย่างไร แม้มันยังมีอยู่ แต่รัฐบาลดำเนินการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ดูได้จากคดีต่างๆ ทั้งคดีที่ยุติแล้ว และคดีที่ถูกหยิบมาพิจารณาใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีที่อยู่ในกระบวนการตรวจสอบแต่ไม่ได้อยู่ในความสนใจ โดยมีการตรวจสอบจนเกิดผลดำเนินคดีหลายราย ขณะเดียวกันมีผู้หลบหนีคดีไปหลายราย ดังนั้นขอให้ไปเปรียบเทียบตรงนี้
20180320025644 นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า สำหรับการทุจริตที่เกิดขึ้นใน 2-3 กระทรวงนั้น ตนสั่งการแล้วว่าให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องต้องพ้นจากหน้าที่เดิมไปทั้งหมด และต้องเร่งทำการสอบสวน ไม่ว่าจะเป็นการสอบสวนของกระทรวงนั้นๆและของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ต้องมีการตรวจสอบทั้ง 2 ช่องทางดังกล่าว รัฐบาลเข้มงวดเรื่องการป้องกันการทุจริตมาตลอด แต่ต้องขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติระดับล่างที่เป็นผู้ใช้จ่ายงบประมาณ

“ สำหรับกองทุนต่างๆนั้น ตนพยายามไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน ซึ่งมีหลายกองทุนที่ถูกยกเลิกไป ขณะที่มีหลายกองทุนต้องถูกนำไปพิจารณาใหม่เพื่อให้เกิดความซ้ำซ้อนและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ(สศศ.) และเงินอุดหนุนสำหรับการดำเนินนโยบายเรียนฟรี 15 ปี รวมถึงสามารถกำหนดได้ว่าเงินที่ใช้ไปในเรื่องกองทุนการศึกษาต่างๆ จะเอาไปทำประโยชน์อะไรได้บ้าง มีคนได้รับเงินจำนวนกี่คน ทำงานที่ไหน นี่คือสิ่งที่เราต้องกำหนดผลสัมฤทธิ์ ซึ่งตนสั่งการให้ติดตามทุกวัน”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่ารัฐบาลกำลังจัดระเบียบทุกอย่าง ไม่ได้ปล่อยปละละเลย ทำทุกอย่าง แต่เป็นเรื่องกลไกภายในซึ่งทุกคนต้องหารือร่วมกัน บางทีหลายคนอาจไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นถ้าเราตัดสินใจอะไรท่ามกลางความขัดแย้ง มันก็ไปไม่ได้ เหมือนกับเรื่องการออกกฎหมาย ถ้าคนยังไม่พร้อม ก็ยังใช้กฎหมายนั้นๆไม่ได้ ทั้งที่ฝ่ายกฎหมายมีความหวังดีว่าอยากให้กฎหมายนั้นๆใช้ได้ระยะยาว รองรับได้ในวันหน้า จะได้ไม่ต้องแก้ไขบ่อย แต่เมื่อถึงเวลาก็มีการผ่อนผันหรือใช้กฎหมายพิเศษเข้ามาบ้าง เพื่อให้เวลาช่วงการเปลี่ยนผ่านเป็นไปด้วยความเรียบร้อยโดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมายใหญ่ที่เพิ่งผ่านออกมา ตรงนี้คือความยากง่ายของการทำงาน