บุพเพสันนิวาส VS รักแท้

21 มี.ค. 2561 | 00:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

TP07-3350-1A บุพเพสันนิวาส หมายถึง การเคยเป็นเนื้อคู่กัน หรือการเคยอยู่ร่วมกันในชาติก่อน ทำให้ได้มารักกันอีกในชาตินี้ และหวังจะได้ครองคู่อยู่ร่วมกันต่อไปอีก

อย่างไรก็ดี หากท่านได้มีชีวิตอยู่ในโลกนี้มานานพอก็จะทราบดีว่าทุกสิ่งในโลกนี้ไม่แน่นอน ความรักก็เช่นกัน แม้จะมีตัวอย่างให้เห็นว่าคู่รักหลายคู่ได้อยู่ร่วมกันจนแก่เฒ่าจากโลกนี้ไป ก็มีอีกหลายคู่ที่เคยหวานชื่นแต่สุดท้ายต้องจากลา บางคู่จากกันด้วยดี แต่บางคู่ถึงกับต้องมาตามรังควานปองร้ายหรือเข่นฆ่ากัน

การที่คนรักจากลาแล้วเราต้องผิดหวัง เป็นเพราะเราต้องการที่จะครอบครองเขา เราทุกข์เพราะเรามัวแต่ยึดติดว่าเขาเป็นของเรา

ความจริงแล้ว “รักแท้” นั้นไม่ใช่การครอบครอง แต่คือความปรารถนาดีอยากให้คนที่เรารักมีความสุข แม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความสุขนั้น กล่าวคือหากเรารักใครจริงๆ แม้เขาจะไม่ได้เลือกที่จะอยู่กับเรา หากเขาไปแล้วได้ดีกว่าอยู่กับเรา ก็จงปล่อยเขาไป เพราะความสุขของเราคือการยินดีที่เห็นเขาไปแล้วได้ดีมีความสุข เติบโตก้าวหน้า

ท่านทราบไหมว่า “รักแท้” ในแบบที่กล่าวข้างบนนี้ สามารถถูกเขียนในรูปของแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ได้ด้วย
ในวิชาเศรษฐศาสตร์ มี Concept เรื่องของความสุขความพอใจ1 (Utility) โดยถ้าเป็นเศรษฐศาสตร์รูปแบบดั้งเดิม จะกำหนดให้ความสุขความพอใจ (Utility) ของแต่ละคนนั้นขึ้นกับปริมาณสินค้าและบริการที่เราได้บริโภค (หรืออาจขยายความรวมไปถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เราได้ประสบพบเจอ) โดยเขียนในรูปของแบบจำลองได้ว่า

TP07-3350-2A ***My utility = u(x)
โดยมี x เป็น input ของ My utility function ถ้า x ยิ่งมีค่าสูง(หมายถึง มีสินค้าบริการให้บริโภคมากขึ้น หรืออาจขยายความรวมไปถึงการได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมดีๆ ได้พบเจอสิ่งดีๆ) ความสุขความพอใจของเราก็จะยิ่งมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ฟังก์ชันความสุขความพอใจ (Utility Function) ได้ถูกพัฒนาต่อมาให้มีลูกเล่นต่างๆ ที่สามารถตอบโจทย์ความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์มากขึ้น โดยหากอยากเขียนความหมายของคำว่า “รักแท้” ในรูปของแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ จะสามารถเขียนได้ว่า

**My utility = u(My true love’s utility(.))
โดยการเขียนแบบนี้แปลว่า ความสุขความพอใจของคนที่เรารัก (My true love’s utility) จะเป็น input ของ My utility function คือยิ่งคนที่เรารักมีความสุขความพอใจมากเท่าไหร่ ความสุขความพอใจของเราก็ยิ่งมากขึ้นด้วยเท่านั้น คือ มีความสุขจากการที่เห็นคนที่เรารักมีความสุข

นอกจากนี้ ถ้าหากเรารักคนได้หลายๆ คน (หมายถึงรักโดยไม่ครอบครอง) หรือมีความรักให้เพื่อนมนุษย์ จะสามารถเขียนได้ว่า

**My utility = u(My true love #1’s utility(.),My true love #2’s utility(.),…,My true love #n’s utility(.))
แปลว่าเราปรารถนาอยากให้เพื่อนมนุษย์มีความสุข ไม่ว่าใครจะมีความสุข เราก็สุขด้วยกับเขา ยินดีด้วยกับเขา
ความปรารถนาดี อยากให้ผู้อื่นมีความสุขนี้ เรียกว่า “เมตตา”

บาร์ไลน์ฐาน ส่วนการยินดีกับความสุขของผู้อื่น เรียกว่า “มุทิตา”

ทั้ง “เมตตา” และ “มุทิตา” อาจจะเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่าย ต้องเกิดจากการฝึกฝนและขัดเกลาจิตใจ ต้องใช้สติและปัญญา เพราะโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์มีความรักแบบอยากได้อยากเป็นเจ้าของ ครอบครองไว้เพื่อความพอใจของตัวเอง นอกจากนี้เวลาเห็นคนอื่นมีความสุข หากไม่ระวังก็อาจเกิดความโลภ อยากได้ อยากมี อยากสุขแบบเขา หรือแม้กระทั่งอิจฉาริษยาเขา

ความรักเป็นสิ่งที่สวยงาม เป็นสิ่งที่เราสามารถให้ได้กับเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร ในขณะเดียวกัน ความรักก็สามารถทำให้เกิดความทุกข์ ผิดหวัง และเสียใจ

หากอยากมีความรักแบบไม่ต้องผิดหวัง อยากมีความรักแบบไม่ต้องเสียใจ ลองหัดรักแบบไม่ครอบครอง รักแบบมีเมตตา รักแบบมีมุทิตา แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก แต่หากลองพยายามจะทำได้บ้าง เราจะมีความรักได้แบบไม่ต้องทุกข์มาก ไม่ต้องมีบุพเพสันนิวาสกับใครก็มีความสุขได้ค่ะ

1จริงๆ แล้วคำว่า Utility แปลเป็นไทยได้ว่า “อรรถประโยชน์” แต่ผู้เขียนขออนุญาตแปลว่า “ความสุขความพอใจ” เพราะ น่าจะทำให้ผู้อ่านที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์เข้าใจได้ง่ายกว่า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,350 วันที่ 22 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2561
e-book-1-503x62