กรมสุขภาพจิต แนะประชาชนพื้นที่เสี่ยงพายุฤดูร้อน 20-23 มี.ค.นี้ เตรียมพร้อมรับมือเน้นความปลอดภัยชีวิตก่อน

20 มี.ค. 2561 | 09:36 น.
กรมสุขภาพจิตให้หน่วยงานในสังกัดเตรียมทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท พร้อมออกดูแลจิตใจประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 20-23มีนาคม 2561 ตลอด 24 ชั่วโมง แนะประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ให้เตรียมพร้อมรับมือเน้นความปลอดภัยในชีวิตตัวเองและครอบครัวเป็นอันดับแรก พกเบอร์โทรศัพท์หน่วยงานเกี่ยวข้องอาทิสายด่วนสุขภาพจิต 1323 สายด่วนกู้ชีพ 1669 เพื่อใช้การได้ทันทีหากต้องการขอความช่วยเหลือ

[caption id="attachment_270066" align="aligncenter" width="503"] นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์[/caption]

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเตรียมการรับมือพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 20 -23 มีนาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งอาจมีฝนฟ้าคะนอง มีลูกเห็บตกหรือฟ้าผ่าได้ ตามประกาศเตือนภัยของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า กรมสุขภาพจิตได้ให้หน่วยบริการในสังกัดคือโรงพยาบาลจิตเวช และศูนย์สุขภาพจิตประจำเขตต่างๆรวม 32 แห่งทั่วประเทศ เตรียมพร้อมทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท(Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) พร้อมออกปฏิบัติการสนับสนุนการดำเนินการดูแลจิตใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบร่วมกับทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทของสถานพยาบาลในพื้นที่เขตสุขภาพต่างๆตลอด24ชั่วโมง ขณะเดียวกันให้โรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่งจัดเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลเช่นระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถใช้การทดแทนได้ทันที เพื่อมิให้กระทบต่อการให้บริการผู้ป่วยจิตเวช

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า เนื่องจากพายุฤดูร้อนเป็นภัยที่เกิดขึ้นธรรมชาติ จึงขอแนะให้ประชาชนติดตามประกาศเตือนภัยของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมรับมืออย่างมีสติ 4 ประการดังนี้ 1.เน้นความปลอดภัยชีวิตตนเองและครอบครัวเป็นอันดับแรก 2. ขอให้อยู่ในบ้าน หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง 3.ขอให้จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นไว้ใช้ในบ้านยามฉุกเฉิน เช่นไฟฉาย ไฟแช็ค ไม้ขีดไฟ แบตเตอรี่สำรอง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวรวมทั้งผู้ป่วยจิตเวชด้วย ขอให้ญาติช่วยดูแลจัดเก็บยาที่รับประทานเป็นประจำไว้ในที่ปลอดภัยและหยิบฉวยได้ง่าย และ4.ขอให้ประชาชนบันทึกเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 สายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 และสายด่วนนิรภัย 1784 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ไว้ประจำครัวเรือนหรือบันทึกไว้ในมือถือหากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถใช้งานได้ทีนที

ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จังหวัดนครพนม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพื้นที่ที่ประสบภัยจากพายุฤดูร้อน ประชาชนสามารถช่วยกันดูแลปฐมพยาบาลจิตใจเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบในเบื้องต้นได้ โดยใช้หลัก 3 ส. คือ ส.ที่1 ให้สอดส่องมองหาเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบและต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ส.ที่2 คือใส่ใจพูดคุยรับฟังเพื่อนบ้าน เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ บอกเล่าอารมณ์ความรู้สึกและคลายความทุกข์ใจออกมา วิธีการนี้จะช่วยให้ผู้ที่ประสบภัยอารมณ์สงบและสบายใจขึ้น และส.ที่ 3 คือการส่งต่อความช่วยเหลือเรื่องสิ่งจำเป็นพื้นฐานให้เช่น น้ำ อาหาร ยา เป็นต้น จะช่วยบรรเทาความทุกข์ร้อนในขั้นต้นได้อย่างดี ทำให้ผู้ประสบภัยเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจและมีกำลังใจสามารถก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากได้อย่างดี แต่หากพบว่าผู้ประสบภัยยังไม่สบายใจหรือมีอาการรุนแรง ให้ส่งพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านหรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง e-book-1-503x62