"อนุพงษ์" แจงใช้งบ “3หมื่นล้าน” สร้างเศรษฐกิจฐานราก “ไม่ใช่หาเสียงก่อนเลือกตั้ง”

20 มี.ค. 2561 | 08:17 น.
-20 มี.ค.61-  พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่ครม.อนุมัติงบกลางกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนแผนงานต่าง ๆ ของกระทรวงมหาดไทย ว่า งบประมาณ 20,000 ล้านบาทจะถูกนำลงไปใช้ในหมู่บ้านและชุมชนในกรุงเทพฯ กับเขตเทศบาล กว่า 82,000 แห่ง เฉลี่ยแล้วจะได้งบประมาณแห่งละ 200,000 บาท ซึ่งเป็นงบที่คณะกรรมการหมู่บ้านใช้โดยตรง แต่เวลาทำแผนงานโครงการ จะผ่านการตรวจสอบโดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ สำนักงบประมาณ รวมถึงภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ไปร่วมพิจารณาถึงความเหมาะสมของโครงการ จึงจะมีการอนุมัติให้ดำเนินการ แต่การเบิกจ่ายจะขึ้นตรงกับคณะกรรมการหมู่บ้าน โดยไม่ต้องผ่านกระทรวงมหาดไทย

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ส่วนอีก 2,500 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่ทำให้กระทรวงการคลังเกี่ยวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อเป็นงบประมาณของคณะผู้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบรายละเอียดของบุคคลที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่ของกระทรวงมหาดไทยเพียงอย่างเดียว เพื่อเป็นค่ารถและค่าอื่น ๆ ในการสำรวจ และงบประมาณอีก 9,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่จะเชื่อมโยงกับแผนการพัฒนาพื้นที่ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

เมื่อถามว่าบางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่างบประมาณส่วนนี้ อาจจะซ้ำซ้อนกับโครงการไทยนิยม ยั่งยืนนั้น พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้หลักการกว้าง ๆ คือ ต้องเป็นความต้องการของพื้นที่ แต่ต้องตอบสนองเรื่องการทำมาหากินของประชาชนเป็นหลัก แต่งานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน เช่น การทำถนน ก็ให้ใช้งบปกติ แต่ถ้าเป็นการทำถนนเพื่อจุดประสงค์ด้านการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ชุมชนดีขึ้น จะเป็นการใช้งบประมาณในโครงการไทยนิยมฯ

เมื่อถามว่าบางฝ่ายมองว่าการให้งบประมาณในส่วนนี้กับชุมชนเป็นเหมือนการซื้อใจประชาชนก่อนเลือกตั้ง พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมา ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะดี แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่าฐานรากยังไม่ดี งบประมาณเหล่านี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อแก้เศรษฐกิจฐานรากของประชาชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนจะมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร ก็ยังมีคนวิพากษ์วิจารณ์อยู่อย่างนั้น

พล.อ.อนุพงษ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการไทยนิยมฯ ว่า ขณะนี้จบรอบที่ 1 แล้วที่ลงไปพูดคุยระดับตำบล ซึ่งเป็นการสร้างความเข้าใจกับประชาชน สร้างความรับรู้ด้านประชาธิปไตย ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งความต้องการของประชาชน ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมความเห็นที่ไปรับฟัง เพื่อมาแปลงเป็นแผนงานโครงการในลักษณะที่ทำได้