“Blue Carbon Society” เปิดตัวอย่างเป็นทางการ

20 มี.ค. 2561 | 06:35 น.
ดร.ชวัลวัฒน์ และคุณทิพพาภรณ์ อริยวรารมย์ จัดงานเปิดตัว “Blue Carbon Society” เมื่อวันจันทร์ที่ 12 มีนาคม 2561 พร้อมเชิญแขกพิเศษเข้าร่วมงานครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

“Blue Carbon Society” เปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยคู่ผู้บริหารนักพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ดร.ชวัลวัฒน์ และคุณทิพพาภรณ์ อริยวรารมย์ โดยมีแขกพิเศษที่มาร่วมงานครั้งนี้ ได้แก่ นายมาร์ติน ฮาร์ท-แฮนเซ่น รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (Martin Hart-Hansen, Deputy Resident Representative of UNDP Thailand), ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง (DMCR) พร้อมหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงดารา นักร้อง นักแสดง อาทิ หมาก - ปริญ สุภารัตน์, นนท์ - ธนนท์ จำเริญ หรือ นนท์ เดอะ วอยซ์ เป็นต้น

ในฐานะผู้ก่อตั้ง “Blue Carbon Society” ดร.ชวัลวัฒน์ และคุณทิพพาภรณ์ อริยวรารมย์ กล่าวว่า บลู คาร์บอน มีส่วนช่วยลดภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) และภาวะโลกร้อน (Global Warming) ได้ โดยอาศัยศักยภาพของท้องทะเลในการเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ผ่านองค์ประกอบหลักของระบบนิเวศทางทะเล และชายฝั่ง (Marine and Coastal Ecosystem Components) อาทิเช่น ป่าชายเลน หญ้าทะเล และที่ลุ่มน้ำเค็ม เมื่อพิจารณาสัดส่วนของพื้นน้ำ พบว่าโลกมีพื้นที่ ¾ เป็นพื้นที่น้ำ หากเราพัฒนาพื้นที่ทางทะเล และชายฝั่งทะเลให้มีความสมบูรณ์ได้ จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ

"Blue Carbon Society" องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร จึงเชิญชวนคนไทยทุกคนให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาระบบนิเวศทางทะเล และชายฝั่งทะเล โดยหวังขยายเครือข่ายผู้มีจิตอนุรักษ์ และเป็นพื้นที่ของทุกคนในการเรียนรู้ถึงความสำคัญในการดูแล รักษา และฟื้นฟูระบบนิเวศให้สมบูรณ์ยั่งยืนสืบไป

ทั้งนี้ นายมาร์ติน ฮาร์ท-แฮนเซ่น รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP) ขึ้นกล่าวปาฐกถา โดยระบุว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ แต่สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด คือ ประเทศไทยทิ้งขยะลงแม่น้ำมากที่สุด ส่งผลให้ขยะไหลลงสู่ทะเลเป็นอาหารสำหรับสัตว์น้ำโดยเฉพาะปลาวาฬ

นอกจากนี้ นายมาร์ติน เปิดเผยผลสำรวจพื้นที่ป่าในประเทศไทย พบว่าในปี 1961 มีพื้นที่ป่าร้อยละ 53 และในปี 2013 พื้นที่ป่าลดลงเหลือเพียงร้อยละ 31 ซึ่งการฟื้นฟูระบบนิเวศของไทยให้กลับมาอุดมสมบูรณ์และสวยงามอีกครั้ง จำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุนสำหรับการฟื้นฟูมากกว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 189,359,996,928 บาท) ซึ่งภาครัฐไม่สามารถแบกรับภาระได้เพียงผู้เดียว จึงจำเป็นต้องมีภาคเอกชน รวมถึงองค์กรต่างๆ เข้ามาร่วมฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่ง “Blue Carbon Society” เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของภาคเอกชน ที่จะช่วยอนุรักษ์ และฟื้นฟูความหลากลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยนำความสวยงามของสิ่งแวดล้อมกลับมาในประเทศไทยอีกครั้ง ภาพข่าวบันเทิง
สำหรับผู้ที่สนใจร่วมกันพิทักษ์โลกไปกับ “Blue Carbon Society” สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทาง www.bluecarbonsociety.org หรือ www.facebook.com/bluecarbonsociety ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว