ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล เปิดเผยให้บุคคลอื่นทราบได้หรือไม่?

23 มี.ค. 2561 | 06:13 น.
TP06-3349-1A ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล” หน่วยงานราชการมีอำนาจเปิดเผยให้ผู้อื่นทราบหรือไม่? ถือเป็นปัญหาและความกังวลของเจ้าของข้อมูลมิใช่น้อย ...เนื่องจากโดยสภาพของข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ถือเป็นข้อมูลที่เป็นสิ่งเฉพาะตัวของเจ้าของข้อมูล หรือ “ข้อมูลส่วนตัว” และไม่ประสงค์ที่จะเปิดเผยต่อบุคคลอื่นที่ตนไม่ต้องการให้ได้รับรู้

โดยเฉพาะเมื่อหน่วยงานราชการมีข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลของประชาชนไว้ในครอบครองหรือควบคุมดูแลจำนวนมาก อันเนื่องมาจากการติดต่อราชการของประชาชนที่ต้องแสดงหลักฐานหรืออ้างอิงข้อมูลส่วนตัว เช่น บัตรประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด อายุ ภูมิลำเนา สถานที่อยู่ ประวัติการรักษาพยาบาล ประวัติการทำงาน ประวัติการศึกษา สถานภาพ สถานภาพทางครอบครัว เบอร์โทรศัพท์ ฯลฯ หรือหน่วยงานราชการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการเอง กับทั้งหน่วยงานราชการมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 โดยให้ประชาชนได้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ของรัฐ โดยการขอการตรวจดูการคัดสำเนาข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานราชการ รวมถึงการขอให้เจ้าหน้าที่รับรองสำเนาข้อมูลนั้นด้วย

ดังนั้น หน่วยงานราชการจะมีอำนาจเปิดเผย “ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล”ที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลได้เพียงใด?

นายปกครองมีคำอธิบายจากข้อพิพาทในคดีปกครอง... ครับ!

มูลเหตุของคดีนี้ เกิดจากการที่นางสาว ก. ยื่นคำร้องต่อผู้อำนวยการเขต (กรุงเทพมหานคร) ขอข้อมูลข่าวสาร คือ ขอคัดและรับรองสำเนาคำขอเปลี่ยนชื่อตัว (แบบ ช.1) ของนางสาว ข. โดยให้เหตุผลว่าเพื่อนำลายมือชื่อ (ในแบบ ช.1 ) ไปประกอบการดำเนินคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และขอคัดและรับรองสำเนารายการคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน (บ.ป.1) ของนาย ค. เพื่อใช้ประกอบสำนวนคดีอาญาข้อหาทำให้เสียทรัพย์

เรื่องนี้ ผู้อำนวยการเขตฯ ได้มีคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่นางสาว ก. ร้องขอ เพราะได้สอบถามไปที่สถานีตำรวจที่รับคำร้องทุกข์ของนางสาว ก. และได้รับทราบว่าในทางคดีไม่มีความจำเป็นต้องใช้หลักฐานดังกล่าว นอกจากนี้ยังเห็นว่าเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ซึ่งจะเปิดเผยโดยปราศจากความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของข้อมูลไม่ได้ และจะเป็นการรุกลํ้าสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร

นางสาว ก. จึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามขั้นตอนของกฎหมาย ต่อมา คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์

นางสาว ก. (ผู้ฟ้องคดี) จึงฟ้องต่อศาลปกครองขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าว

คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ข้อมูลข่าวสารตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 และเมื่อเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ ผู้ที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลได้นั้นคือ เจ้าของข้อมูลข่าวสารนั้น หรือบุคคลที่เจ้าของข้อมูลข่าวสารนั้นให้ความยินยอม หรือบุคคลที่มีสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น และตามหนังสือกรมการปกครอง ที่ มท 0302/27268 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2536 ได้วางแนวทางปฏิบัติว่า การขอคัดและรับรองทะเบียนชื่อบุคคลต้องดำเนินการโดยเจ้าของทะเบียนชื่อบุคคลหรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการ

ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องขอคัดสำเนาคำขอเปลี่ยนชื่อตัวและคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนของนางสาวข. และนาย ค. หัวหน้าฝ่ายทะเบียนจึงไม่อาจเปิดเผยข้อมูลให้กับผู้ฟ้องคดีโดยปราศจากความยินยอมเป็นหนังสือของเจ้าของข้อมูลได้
แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ผู้ฟ้องคดีมิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการขอคัดสำเนาคำขอเปลี่ยนชื่อตัว (แบบ ช.1) ตามข้อ 31 และข้อ 35 วรรค 1 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการทะเบียนชื่อบุคคล พ.ศ. 2551 และหนังสือกรมการปกครอง ที่ มท 0310.3/ว 236 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเป็นบุคคลทั่วไปและเป็นคู่กรณีที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีความ และยื่นคำร้องขอโดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของข้อมูล ดังนั้น คำสั่งไม่อนุญาตให้คัดและรับรองสำเนาข้อมูลข่าวสาร จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย (ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ. 115/2560)

คดีนี้มีข้อกฎหมายที่สำคัญที่ประชาชนทั่วไปควรรู้ คือ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 15 (5) และมาตรา 24 (8) โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลซึ่งการเปิดเผยจะเป็นการรุกลํ้าสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยก็ได้ และการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความควบคุมดูแลนั้น หน่วยงานของรัฐจะเปิดเผยโดยปราศจากความยินยอมเป็นหนังสือของเจ้าของข้อมูลที่ให้ไว้ล่วงหน้าหรือในขณะนั้นมิได้ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยต่อศาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลที่มีอำนาจตามกฎหมาย

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 จะรับรองสิทธิของประชาชนให้มีโอกาสได้รับรู้ ตรวจดู หรือขอสำเนาหรือขอสำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องของข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานราชการ (หรือหน่วยงานของรัฐ) ก็ตาม แต่ข้อมูลบางประเภทตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 14 หรือมาตรา 15 หน่วยงานของรัฐก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจที่จะไม่เปิดเผยก็ได้ ตามหลัก “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” แต่หากเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลและการเปิดเผยไม่ใช่เพื่อประโยชน์ตามที่ มาตรา 24(1) -(9) กำหนดไว้ หน่วยงานของรัฐก็ไม่มีอำนาจเปิดเผยต่อบุคคลใด ๆ ได้ โดยปราศจากความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของข้อมูลข่าวสารที่ให้ไว้ล่วงหน้าหรือในขณะนั้น ตามหลัก “ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น”... ครับ!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,349 วันที่ 18 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว