หวั่นเครดิตประเทศลด สภาวิชาชีพฯนัดระดมสมอง20 มีนา รับมือ IFRS9

19 มี.ค. 2561 | 12:36 น.
สภาวิชาชีพบัญชีหวั่นประเทศถูกลดเครดิต ผลกระทบจาก IFRS9 เปิดเวทีถกปัญหาทางบัญชีทุกภาคธุรกิจ 20 มี.ค.นี้ ระบุ 5 แบงก์ใหญ่ยอมควัก 1 พันล้านจัดระบบ เผยผลสำรวจเฉพาะกลุ่มแบงก์กันสำรองเพิ่มสูงสุด 30% ขณะที่ประกันชีวิตผลกระทบแผนลงทุนระยะยาวด้านแบงก์ใบโพธิ์นำร่อง ส่งงบการเงินมิ.ย.นี้

เครื่องมือทางการเงิน(IFRS9) ตามมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ ที่จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2562 สำหรับกิจการทุกประเภทที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กิจการที่ดูแลทรัพย์สินของประชาชนในวงกว้าง เช่น สถาบันการเงิน บริษัทประกันภัย โดยข้อกำหนดของ IFRS9แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1.การจัดประเภทและการวัดมูลค่าของเครื่องมือทางการเงิน 2.การรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน/การกันสำรอง และ 3. การบัญชีป้องกันความเสี่ยง

โดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ จะเปลี่ยนจากการใช้ประสบการณ์ในอดีตมาเป็นการคาดการณ์ความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต ที่ใช้ปัจจัยทางสถิติในการคำนวณ ซึ่งผลสำรวจจากต่างประเทศพบว่า ผลกระทบต่อค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและภาระกันสำรองของธนาคารจะเพิ่มขึ้น 15-30%

MP23-3349-A ขณะที่เกณฑ์กันสำรองใหม่แบ่งเป็น 3 ระดับคือ ปกติ ตํ่ากว่ามาตรฐาน (Under Performing) และไม่ปกติ (Non Performing) ซึ่งระดับปกตินั้น ให้เพิ่มกันสำรองตามโอกาสที่คาดว่าจะเป็นหนี้เสียในระยะ 12 เดือน แต่ในส่วน 2 และ 3 นั้นต้องเพิ่มกันสำรองตามคาดการณ์ตลอดอายุสัญญา ซึ่งหลักคำนวณให้ลดทอนมูลค่าของหลักประกันทำให้เกิดความสูญเสียสูงและต้องกันสำรองสูงตาม แม้จะให้เลือกทยอยกันสำรองเป็นเวลา 3 ปี หรือหนี้เอ็นพีแอลภายใต้เกณฑ์ IFRS9 ไม่ให้รับรู้รายได้ จากดอกเบี้ยทั้งจำนวน แต่ให้เฉพาะส่วนที่คาดว่าจะได้คืนเท่านั้น รวมถึงการรับรู้รายได้ ค่าใช้จ่าย

ขณะที่กลุ่มธุรกิจประกันชีวิต จากข้อกำหนดในการจัดประเภทเครื่องมือทางการเงินซึ่งไม่อนุญาตให้รับรู้กำไร(ขาดทุน) จากการขายเงินลงทุนประเภทเผื่อขายเดิมในงบกำไรขาดทุน แต่ให้โอนเข้ากำไรสะสมโดยตรงทำให้ส่งผลกระทบต่อการวางแผนการลงทุนระยะยาว

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก ต่อประเด็นดังกล่าว สภาวิชาชีพบัญชีจึงจะมีการระดมความเห็น ข้อเสนอ รวมถึงอุปสรรคและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจาก IFRS9 อีกครั้งในวันที่ 20 มีนาคมนี้ เพื่อเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสีย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเงินฝาก หรือกองทุนของประชาชน เช่น บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯสถาบันการเงิน หรือธุรกิจประกันและลิสซิ่ง แสดงความคิดเห็น อุปสรรคต่างๆ เพื่อนำไปปรับปรุงให้กฎที่ออกมาแล้วสามารถปฏิบัติได้ เพราะมาตรฐานบัญชีเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ถ้าไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดไว้ไทยอาจถูกลดเครดิตของประเทศได้

ขณะที่แหล่งข่าวในวงการเงินระบุว่า ขณะนี้ภาคธุรกิจมีการว่าจ้างที่ปรึกษามาให้การอบรม แนะนำแนวทาง เพื่อปฎิบัติตามมาตรฐานบัญชีใหม่หรือลงทุนในระบบฐานข้อมูล ซึ่งเฉพาะ 5 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่คาดว่า มีการใช้เงินรวมกันเป็น 1,000 ล้านบาท สำหรับจ้างที่ปรึกษาผู้สอบบัญชีต่างประเทศ (ขนาดใหญ่ 4 อันดับแรก)

“ผลกระทบดังกล่าว อาจส่งต่อเนื่องในระบบการเงินของประเทศ เช่น รายได้ของรัฐในรูปเงินภาษีทั้งจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐลดลง ธนาคารเข้มงวด ลดวงเงินหรือระยะเวลากู้สั้นลง หรือ เรียกหลักประกัน เพิ่มป้องกันความเสี่ยง หรือผลักภาระไปให้ผู้กู้แทน โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะมีต้นทุนกู้สูงขึ้นต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ เพราะเข้าถึงแหล่งทุนยากขึ้น จะไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่พยายามสนับสนุนให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ”

[caption id="attachment_269611" align="aligncenter" width="398"] กิตติยา โตธนะเกษม กิตติยา โตธนะเกษม[/caption]

ด้านนางกิตติยา โตธนะเกษม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหา ชน) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าภายในเดือนมิถุนายนนี้ ธนาคารต้องส่งรายงานงบการเงินให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะเป็นงบที่ลองทำภายใต้สมมติฐาน IFRS9 ในโมเดลแบบต่างๆ เพื่อให้ธปท.นำไปวิเคราะห์ดูผลกระทบต่างๆ เพื่อหาแนวทางและกรอบปฏิบัติว่า จะมีผลกระทบต่อธนาคารขนาดเล็ก ธนาคารขนาดกลาง และธนาคารขนาดใหญ่ รวมถึงธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) อย่างไรบ้างเพื่อหาแนวทางและออกหลักเกณฑ์ต่อไป

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญทยอยเพิ่มขึ้น เพราะตามมาตรฐานบัญชีใหม่ต้องตั้งสำรองเลยตามเหตุที่น่าจะเกิด โดยมีโมเดลคาดการณ์ความเสียหายล่วงหน้า แตกต่างจากเดิมที่จะตั้งสำรองตามเหตุที่เกิดขึ้น เช่น ค้างชำระ 1 เดือน 2 เดือนหรือ 3 เดือนตามเกณฑ์ธปท. แต่ระหว่างทางได้ตั้งสำรองสินเชื่อด้อยคุณภาพที่เรียกว่า PIL หรือ Possible Impaired Loan ด้วย และภายในกลางปีนี้ จะต้องส่งรายงานงบการเงินเพื่อเป็นฐานข้อมูลให้ธปท.พิจารณาด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,349 วันที่ 18 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว