ส่วนต่อขยาย รถไฟทางคู่ภาคตะวันออก

20 มี.ค. 2561 | 06:26 น.
การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลโครงการรถไฟทางคู่ในส่วนต่อขยายอีกหลายเส้นทางเพื่อให้บริการรถไฟทางคู่ในพื้นที่โซนภาคตะวันออกสามารถให้บริการได้อย่างครอบคลุมและเพิ่มประสิทธิภาพยิ่งขึ้นทั้งการขนส่งสินค้าและโดยสาร

แต่ก่อนที่จะไปรู้จักกับรถไฟทางคู่ส่วนต่อขยายจะขอกล่าวถึงการเปิดให้บริการรถไฟทางคู่ในโซนพื้นที่ภาคตะวันออกในปัจจุบันนี้ก่อนว่าล่าสุดนั้นยังมีกำหนดเปิดให้บริการรถไฟในเส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา-บ้านพลูตาหลวง-กรุงเทพฯ เพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติในปีนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางในช่วงวันหยุดที่มุ่งเน้นการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่ในจังหวัดชลบุรี

tp12-3349-k ในส่วนรูปแบบรถให้บริการนั้นร.ฟ.ท.ได้จัดรถนั่งปรับอากาศชั้น 2 ซึ่งจะเป็นการทดลองให้บริการ 6 เดือน (ในช่วงวันหยุดเสาร์ -อาทิตย์ วันละ 2 ขบวน ไปและกลับ) เริ่มให้บริการวันเสาร์ที่ 17 มีนาคม-วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน 2561 นี้ร.ฟ.ท.คาดว่าเมื่อเปิดให้บริการขบวนรถพิเศษดังกล่าวจะมียอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น และหากมีจำนวนเพิ่มอย่างต่อเนื่องก็จะมีการพิจารณาขยายเวลาการให้บริการต่อไป

ดังนั้นจากกรณีที่แนวเส้นทางรถไฟภาคตะวันออกสิ้นสุดที่พัทยาคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกจึงมีแนวคิดการพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ในส่วนต่อขยายออกไปอีก 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน (เน้นการเชื่อมโยง 3 ท่าเรือ) ระยะกลาง (เพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรม) และระยะต่อไป (เน้นเชื่อมโยงภูมิภาค)

ปัจจุบันอยู่ระหว่างร.ฟ.ท.เร่งว่าจ้างศึกษาความเป็นไปได้ โดยยึดตามแนวเส้นทางรถไฟเดิมก่อนนั้นประกอบไปด้วย ระยะเร่งด่วน ได้แก่ 1.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางรถไฟช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา ระยะทาง 125 กิโลเมตร (ปัจจุบันเป็นทางเดี่ยว จะทำเพิ่มเป็นทางคู่) 2.โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา-มาบตาพุด ระยะทาง 70 กิโลเมตร(ปัจจุบันเป็นทางเดี่ยว จะเพิ่มเป็นทางคู่ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 8,000 ล้านบาท) ซึ่งจะนำไปดำเนินการก่อน

ระยะกลาง ได้แก่ 1.โครงการรถไฟทางคู่ช่วงศรีราชา-ระยอง (ที่จะเข้าไปตลาด) 2.ช่วงระยอง-มาบตาพุด ระยะทาง 101 กิโลเมตร เป็นแนวเส้นทางใหม่ และโครงการรถไฟทางเดี่ยว

3. ช่วงระยอง-จันทบุรี-ตราด ระยะทาง 150 กิโลเมตร(แนวเส้นทางใหม่) และระยะต่อไป ได้แก่ 1.รถไฟทางคู่ช่วงระยอง-จันทบุรี-ตราด-คลองใหญ่ ระยะทาง 188 กิโลเมตร(แนวเส้นทางใหม่) 2.รถไฟทางคู่ช่วงคลองสิบเก้า-อรัญประเทศ ระยะทาง 174 กิโลเมตร (ปัจจุบันเป็นทางเดี่ยว จะเพิ่มเป็นทางคู่) และ 3.โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงท่าแฉลบ-พานทอง ระยะทาง 120 กิโลเมตร (แนวเส้นทางใหม่) โดยงบประมาณการลงทุนคิดเป็นกิโลเมตรละ 120-150 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อให้บริการครบทั้งเส้นทางก็จะเชื่อมโยงพื้นที่อีอีซีได้อย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,349 วันที่ 18 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว