เปิดจุดตาย2ก.ม.ลูก ‘มีชัย’ยันขัดรธน.ทำเลือกตั้งโมฆะ-หวั่นติดเดดล็อก

10 เม.ย. 2561 | 07:03 น.
เปิดหนังสือ“มีชัย”ยื่นสนช. จี้ชงศาลตีความ 2 กฎหมายลูก “ส.ส.-ส.ว.” ชี้ชัดขัดรธน.ทำเลือกตั้งโมฆะ หวั่นติดเดดล็อก ด้าน “พรเพชร” ชงตีความแค่ที่มาส.ว. ยํ้าเลือกตั้งส.ส.ไม่ขัดรธน.

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ยื่นทำหนังสือแสดงความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้เลือกตั้งส.ส. และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อเสนอแนะให้สมาชิก สนช.จำนวน 1 ใน 10 คน เข้าชื่อเพื่อนำร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

[caption id="attachment_269516" align="aligncenter" width="503"] มีชัย ฤชุพันธุ์ มีชัย ฤชุพันธุ์[/caption]

ทั้งนี้ได้ระบุถึงความห่วงใยต่อร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ว่า 1. วิธีการสมัคร ที่แบ่งออกเป็น 2 วิธีคือ การสมัครด้วยตนเองกับการสมัครด้วยการแนะนำจากองค์กร และ 2. การเลือกในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ โดยให้ผู้สมัครแต่ละวิธีแยกกันเลือกเป็นบัญชี 2 ประเภท

เนื้อหาดังกล่าวทำให้ผลการเลือก ไม่ใช่การเลือกกันเองระหว่างผู้สมัครทั้งหมด เพราะเป็นการแบ่งโควตาระหว่างผู้สมัครอิสระกับองค์กรแนะนำ ซึ่งการให้ องค์กรเป็นผู้กลั่นกรองก่อนนั้น ทำให้ประชาชนไม่สามารถเลือกสมัครได้อย่างเสรีทุกกลุ่ม จึงไม่ตรงตามเจตนารมณ์ มาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งให้ผู้สมัครเลือกกันอย่างเท่าเทียม ภายใต้กฎ เดียวกัน และไม่ได้มุ่งหมายให้แยก ประเภท ซึ่งกรธ.เห็นว่าปัญหาไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมีความสำคัญ หากมีผู้ร้องเรียนภายหลังจะทำให้การเลือกวุฒิสภาต้องเสียไปทั้งหมด และจะกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่อาจดำเนินการต่อไปได้

++กาบัตรแทนผู้พิการขัดรธน.
ส่วนร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. นายมีชัย มีข้อห่วงกังวล 2 ประเด็นคือ 1.มาตรา 35 การตัดสิทธิเป็นข้าราชการการ เมือง หากไม่ไปเลือกตั้ง เพราะการที่ผู้ใดจะเข้ารับตำแหน่งไม่ใช่สิทธิ แต่เป็นเสรีภาพ จึงกังวลว่าเป็นการเขียนเกินขอบเขตการจำกัดสิทธิตามมาตรา 95 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญ

2. การให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วย ลงคะแนนแทนผู้พิการ และให้ถือเป็นการออกเสียงโดยตรงและลับ กรธ.กังวลว่า จะขัดต่อมาตรา 85 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ ส.ส.มาจากการลงคะแนนโดยตรงและลับ การกำหนดแบบนี้ จึงเป็นการยอมรับว่า การลงคะแนนดังกล่าวไม่ตรงและลับ อีกทั้งเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549 ที่ระบุ หลักการเลือกตั้งโดยลับว่า จะต้องดำเนินการเลือกตั้งโดยไม่ให้ผู้ใดทราบเลยว่า ผู้ลงคะแนนตัดสินใจเลือกใคร

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ ++“พรเพชร”ชงตีความแค่ส.ว.
ด้านนายพรเพชร เปิดเผยว่า สนช.ได้พิจารณาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับกฎหมายลูกที่มาส.ว.ว่า สมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า เป็นความโชคดีของประเทศไทยที่บางครั้งก็หาทางออกได้ เพราะสนช.ได้แก้ไขการบังคับใช้ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ว.ออกไป 90 วัน นอกจากให้พรรคการเมืองได้มีเวลาเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งแล้ว ยังใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เพราะเมื่อถูกกระแสกดดันให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความก็จะอาศัย เวลาดังกล่าวเพื่อให้ศาลมีคำวินิจฉัย โดยเชื่อมั่นว่าศาลจะวินิจฉัยได้ภายเวลาไม่เกิน 1 เดือน ซึ่งยังอยู่ในช่วงเวลา 90 วัน

“เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ทักท้วง และเพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะหากมีใคร ไปยื่นให้ศาลตีความหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้จะทำให้กฎหมายล้มทั้งยืนได้ เนื่องจากเกี่ยวพันกับกระบวนการได้มาซึ่งส.ว.ชุดใหม่ สนช.จึงจำเป็นต้องดำเนินการ โดยมีสนช.เข้าชื่อมาแล้ว นำโดย นายกิตติ วะสีนนท์ เป็นผู้รวบรวมได้ 30 รายชื่อ ซึ่งผมได้รับเรื่องแล้ว คาดว่าจะยื่นต่อศาลได้วันที่ 19 มีนาคมนี้”

++ยันกฎหมายส.ส.ไม่ขัดรธน.
นายพรเพชร กล่าวว่า ขณะที่ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.นั้น ทางสนช.ทั้งหมดยืนยันว่า 2 ประเด็นที่กรธ.ทั้งกรณีตัดสิทธิเป็นข้าราชการการ เมืองหากไม่ไปเลือกตั้ง กับให้มีผู้ช่วยเหลือผู้พิการในขณะเข้าคูหาเลือกตั้งนั้น ไม่มีเนื้อหาส่วนใดที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ และหากยื่นให้ศาลตีความจะกระทบต่อโรดแมปเลือกตั้งแน่นอน เพราะไม่มีเวลา 90 วัน มารองรับเหมือนร่างพ.ร.บ.ที่มาส.ว.

นอกจากนั้นประเด็นที่กรธ.แย้งมา ก็เป็นประเด็นเฉพาะกลุ่มไม่มีผลทำให้กฎหมายต้องตกไปทั้งฉบับ และหากเห็นว่า กระทบสิทธิบุคคลนั้นก็สามารถไปยื่นได้หลังจากกฎหมายใช้แล้ว โดยเฉพาะ กกต.บางคนที่อยากให้สนช.ยื่นให้ศาลวินิจฉัยในตอนนี้ เพราะกลัวว่าประเด็นเรื่องคนพิการจะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะนั้น ก็สามารถยื่นได้ทันทีหลังกฎหมายประกาศใช้ เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และจะไม่กระทบต่อกระบวนการการเลือกตั้ง เพราะยังอยู่ในช่วง 90 วันก่อนนับหนึ่ง 150 วัน กระบวนการเลือกตั้ง

“ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. ทางสนช.จะไม่ยื่นตีความ ดังนั้น จะส่งร่างไปให้นายกฯ ภายในวันที่ 19 มีนาคมนี้”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,349 วันที่ 18 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว