กูรูเชียร์รัฐปิดทางกาสิโนดิจิตอล

22 มี.ค. 2561 | 04:50 น.
นักเศรษฐศาสตร์แนะปิดทาง “กาสิโนดิจิตอลและนักเก็งกำไร” หนุนออกกฎหมายและให้คนไทยเข้าใจการลงทุน
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และ ร่างพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร การจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)อยู่ในขั้นตอนกำหนดรายละเอียดแนวทางเพื่อเป็นกฎหมายหลักก่อนจะทยอยออกกฎหมายลูกในระยะถัดไป

 

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ให้ความเห็นว่า กรณีในต่างประเทศนั้น นอกจากมีระเบียบในการออกเหรียญหรือระดมทุนด้วย ICO ซึ่งเห็นได้ว่ามักกำหนด 4 คุณลักษณะ เช่น ทุกคนเข้าถึงได้ เป็นอิเล็กทรอนิกส์,ออกโดยธนาคารกลางและใช้กันระหว่างบุคคลกับบุคคลได้(Peer to Peer) นอกจากนี้สกุลเงินดิจิตอลที่ออกมาต้องเทียบวัตถุประสงค์หรือสิทธิได้ ไม่ว่าสินทรัพย์(Asset Token) หรือการใช้จ่าย(Payment Token) รวมถึงบริการ-สาธารณูปโภค(UtilityToken)ซึ่งใช้เหรียญเพื่อแลกกับบริการใดบริการหนึ่ง โดยรวมมูลค่าของเหรียญจะมีบริการหนุนหลัง

กรณีของไทยเมื่อมีก.ล.ต.กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิตอล ตามพ.ร.ก. เมื่อเป็น AssetToken สามารถเทียบเคียงสิทธิกับหุ้นหรือบอนด์ อย่างไรก็ดีในแง่กฎหมายยังห่วงกรณีไม่มีความชัดเจนหากคนที่ลงทุนไปก่อนหน้า อย่างที่ผ่านมาและเวลานี้มีผู้ออกเหรียญ ระดมทุนฉวยจังหวะที่ไม่มีกฎหมายกำกับ ถ้าโดนเบี้ยวหรือเกิดความเสียหายต้องใช้เวลาพิสูจน์ทราบกันยาว ดังนั้นต้องให้แน่ใจว่ากฎหมายที่ออกมาจะตามทันเทคโนโลยีเหล่านี้

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

“ถ้าเทียบธนาคารกลางต่างประเทศที่ออกเหรียญนั้น ธปท.เน้นเรื่อง LessCash ก่อนออกเหรียญเพราะระบบเทคโนโลยีของเมืองไทยยังไม่เร็วเช่นประเทศอื่นที่สำคัญตอกยํ้าความเหลื่อมลํ้าส่วนนักลงทุนตอนนี้ไม่มีอะไรรับประกัน เพราะธุรกิจที่ระดมทุนออกขายเหรียญไม่มีเทคโนโลยีที่ดีจริง หากอยากลงทุนควรเลือกเทคโนโลยีระดับโลกหรือระดับสูงที่ดีจริงๆ แต่ยอมรับว่าแม้ต่างประเทศมีการออกขายเหรียญรับเงินแล้วปิดตัวหายไป”

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าพ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับต้องใช้เวลากำหนดรายละเอียดและโครงสร้างเพื่อให้สกุลเงินดิจิตอลอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายและมีบทบาทในระบบการเงินและเศรษฐกิจในอนาคตในต่างประเทศใช้ ICO เป็นหลักทรัพย์ในการระดมทุนสำเร็จเพียง 1 ใน 3 จาก 100 บริษัท ซึ่งเป็นStartupโดยมีความเสี่ยงใน 2 มิติ คือ นอกจากล้มเหลวสูงแล้ว ในส่วนStartupรายที่ไปต่อแต่สกุลเงินดิจิตอลกลายเป็นเพียงวัตถุเก็งกำไรแทน เพราะเหรียญดังกล่าวไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง

“ในญี่ปุ่นเปิดรับเหรียญมาหลายปี แต่ตอนนี้ต้องชะลอหลังเกิดกรณีฉ้อโกง ถัดมาในปีก่อนทางการออกกฎหมายรองรับสกุลเงินดิจิตอลใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาเกิดคดีแฮกบริษัทคอยเทคฯ สะท้อนความหละหลวมของกฎหมาย”

ส่วนของไทยนั้นควรรอโครงสร้างกฎหมายและคนไทยมีความพร้อมด้านความรู้ความเข้าใจในการลงทุนก่อน ขณะนี้คนลงทุนเพื่อเก็งกำไร ซึ่งอาจจะกลายเป็นกาสิโนดิจิทัล ซึ่งการที่รัฐออกกฎหมายมาถือว่าเดินถูกทาง ส่วนหนึ่งอาจมาจากไทยมีประสบการณ์หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้ระมัดระวังไม่กระโดดเข้ามาซึ่งกฎหมายอาจจะช้าแต่รอบคอบดีกว่า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,349 วันที่ 18 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว