'ชาญศิลป์' นั่ง CEO ใหม่ 'ปตท.'

20 มี.ค. 2561 | 11:04 น.
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ปตท. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. เป็นผู้ที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คนต่อไป แทนนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ที่จะหมดวาระในวันที่ 30 ส.ค. 2561 โดยนายชาญศิลป์มีวาระการดำรงตำแหน่ง 1 ปี 8 เดือน นับจากวันที่ได้รับการแต่งตั้ง เนื่องจากนายชาญศิลป์จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 12 พ.ค. 2563

 

[caption id="attachment_269384" align="aligncenter" width="336"] ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ชาญศิลป์ ตรีนุชกร[/caption]

โดยนายชาญศิลป์เป็นผู้มีประสบการณ์สูงในการทำงานใน ปตท. มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ตอบสนองแผนกลยุทธ์ของ ปตท. ในเรื่อง Disruptive Technology เพื่อแสวงหาธุรกิจใหม่ของ ปตท. และสามารถขับเคลื่อนธุรกิจของ ปตท. ต่อไป โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะนำนโยบาย CHANGE for Future of Thailand 4.0 เพื่อนำพาให้ ปตท. เป็นองค์กรแห่งความภาคภูมิใจ เน้นความโปร่งใส สู่ความยั่งยืน มีความก้าวหน้า และรุ่งเรืองในอนาคต

ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาได้พิจารณาคุณสมบัติของนายชาญศิลป์ตามกฎหมายแล้ว และตามข้อมูลที่ ปตท. ได้รับทราบนั้น นายชาญศิลป์ไม่ได้เป็นผู้ถูกกล่าวหา โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีการลงทุนในธุรกิจปาล์มแต่อย่างไร จึงเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจและบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บอร์ด ปตท. คัดเลือกในครั้งนี้ ไม่ได้มีเส้นแต่อย่างใด และแม้ว่าจะทำงานเพียง 1 ปี 8 เดือน แต่ด้วยความเป็นลูกหม้อมายาวนานถึง 35 ปี ทำงานเป็นกรรมการบริษัทมาถึง 16 แห่ง และเป็นประธานบริษัท 5 แห่ง ประกอบกับ ปตท. มีการวางการทำงานที่ต่อเนื่อง เช่น โครงการ ‘PTT 3D’ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงสานต่อนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-Curve, โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี), โครงการรถไฟความเร็วสูง และสนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น

ส่วนกรณีคดี ป.ป.ช. นายชาญศิลป์ ชี้แจงว่า ไม่ได้ถูก ปตท. ฟ้องร้องแต่อย่างใด เพราะหากถูกฟ้องร้องก็คงไม่ผ่านคุณสมบัติจากการคัดเลือกเข้ามาดำรงตำแหน่ง โดยข้อเท็จจริงนั้น บริษัท ปตท. กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (พีทีทีจีอี) ซึ่งลงทุนปาล์มในอินโดนีเซียนั้น ตนเข้าไปเป็นกรรมการผู้จัดการในช่วงปี ส.ค. 2551 - พ.ค. 2552 หลังจากเกิดปัญหา และเมื่อ ปตท. ได้ตรวจพบหลักฐานความผิดปกติในการลงทุนธุรกิจปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซียของพีทีทีจีอี ต่อมาจึงได้มีการสอบสวนลงโทษทางวินัยผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง พร้อมส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. พิจารณาสอบสวน และยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ซึ่งไม่ได้ฟ้องตน เป็นการฟ้องบุคคลอื่น โดยที่ผ่านมา ป.ป.ช. ได้เชิญตนเองไปให้ข้อมูลในฐานะที่เคยบริหารงานเท่านั้น


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,349 วันที่ 18-21 มี.ค. 2561 หน้า 02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ปตท.- รฟท. ผนึกกำลังใช้ไบโอดีเซลบี 10
เปิดกลยุทธ์ ปตท. ต่อยอดนิวเอส-เคิร์ฟ

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว