ม.44 เกาไม่ถูกที่คัน ชะลอตาย 'ทีวีดิจิตอล'!!

18 มี.ค. 2561 | 13:23 น.
‘สนธิญาณ’ ชี้! ใช้ ม.44 เยียวยาทีวีดิจิตอล แก้ไม่ถูกจุด เหตุ กสทช. ขาดความรู้ไร้ความเข้าใจในธุรกิจ ส่งผลคนตกงานกว่า 3,000 คน เงินหมุนเวียนหาย 4,000-5,000 ล้านบาท แนะลดค่าสัมปทานและค่ามัคตามราคาจริง

การเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ด้วยการประกาศใช้ ม.44 ใน 2 มาตรการ ได้แก่ การพักชำระค่าใบอนุญาตเป็นเวลา 3 ปี โดยให้จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และลดราคาค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน (ค่ามัค) 50% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ซึ่งจะนำเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 27 มี.ค. นั้น หลายฝ่ายมองว่า จะเป็นการช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการและทำให้ธุรกิจทีวีดิจิตอลที่กำลังอยู่ในช่วงวิกฤติกลับฟื้นตัวได้


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

ขณะเดียวกัน จะเป็นปัจจัยที่ทำให้หลายฝ่ายนำไปใช้ในการตัดสินใจว่า จะยุติการดำเนินการและส่งคืนช่องให้กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตาม ‘เจ๊ติ๋มโมเดล’ ที่ชนะคดีตามคำตัดสินของศาลปกครองกลางไปเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ช่องทีวีดิจิตอลส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดทุน โดยเฉพาะในช่องประเภทข่าวสารและสาระ รวมถึงช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว

ยึด ‘เจ๊ติ๋มโมเดล’ ทีวีรุกไล่บี้กสทช.

 

[caption id="attachment_267985" align="aligncenter" width="503"] สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม[/caption]

นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม กรรมการและประธานกรรมการ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NBC กล่าวแสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การใช้ ม.44 ช่วยเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลใน 2 มาตรการ ที่ออกมานั้น เป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เพราะการเกิดธุรกิจทีวีดิจิตอลผิดตั้งแต่เริ่มต้น และเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้รับการแก้ไข การใช้มาตรการดังกล่าวจึงเป็นแค่การชะลอเวลาตายเท่านั้น

ผู้ประกอบการเฮ! กสทช.พักชำระหนี้! ใบอนุญาตทีวีดิจิตอล 3 ปี

เพราะที่ผ่านมา กสทช. ไม่เข้าใจในธุรกิจทีวีดิจิตอล การเปิดประมูล และเงื่อนไขต่าง ๆ ไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจ และเม็ดเงินโฆษณาที่มีอยู่ แต่ กสทช. คิดแต่จะหาเงินให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะถือเป็นผลงาน

“กสทช. ชุดนี้ ไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจทีวี ไม่มีสติปัญญา อวดเก่ง”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

ธุรกิจโฆษณามีมูลค่าราว 1 แสนล้านบาท เป็นเม็ดเงินที่เกิดจากสื่อทีวี 7 หมื่นล้านบาท มาจาก 2 ช่องใหญ่ อย่าง ช่อง 3 และช่อง 7 รวมกันประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นของช่อง 9 และช่อง 5 เมื่อ กสทช. เปิดให้ประมูลทีวีดิจิตอล 24 ช่อง นักธุรกิจที่อยากรวยก็แห่เข้ามาประมูล ขณะที่ การใช้เงินซื้อเวลาโฆษณาเดิมที่ซื้อผ่านรายการใด ก็ยังคงซื้อในรายการนั้นอยู่ ส่วนทีวีดิจิตอลช่องสัญญาณรับยังแคบกว่าทีวีอนาล็อก จึงต้องแจกกล่องรับสัญญาณ และยังแบ่งเป็นเซ็กเมนต์เป็นกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งขาดความเข้าใจว่า ทีวีไม่ใช่หนังสือพิมพ์ที่จะแบ่งเซ็กเมนต์ได้

หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ช่องเนชั่นทีวี ซึ่งเป็นช่องข่าวอันดับ 1 ประสบความสำเร็จ มีผู้ชมติดตามจำนวนมาก แต่ทำไมยังขายโฆษณาได้ไม่คุ้มทุน เหตุผลเพราะเอเยนซีไม่ซื้อโฆษณา สิ่งนี้บ่งชี้ให้เห็นว่า แม้ช่องนั้นจะเก่งและเป็นที่ยอมรับ แต่ตลาดไม่เป็นแบบนั้น ทุกคนเทเงินไปที่ช่องบันเทิงหมด


Unknown

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องทำ คือ การลดค่าสัมปทานและค่ามัค โดยพิจารณาจากราคาตลาดที่แท้จริง เพื่อให้ทุกคนอยู่ได้ และหากเป็นกังวลว่า จะถูกข้อครหาจากผู้ที่ประมูลไม่ได้ ก็ควรเปิดช่องสัญญาณอื่นที่มีอยู่ให้ผู้คนเหล่านั้นเข้ามาทำ

“การแก้ที่ไม่ถูกจุด ท้ายที่สุด เหมือนการทำลายอุตสาหกรรมนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ คนที่จะตกงานกว่า 3,000 คน เงินหมุนเวียนในธุรกิจทีวีดิจิตอลจะหายไปปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท” นายสนธิญาณ กล่าวและว่า การส่งเสริมให้เกิดช่องข่าว คือ การส่งเสริมสติปัญญาให้ประชาชน ไม่ใช่คิดแต่จะหาเงินอย่างเดียว


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

ด้าน นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นว่า กสทช. ต้องพิจารณาบทบาทของตนเองว่า จะทำหน้าที่กำกับดูแลหรือส่งเสริมเพียงหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่ง หรืออาจจะทำหน้าที่ทั้ง 2 ส่วน ถ้ากรณีผู้ประกอบการเกิดการล้มหายไปของสถานีช่องทีวีดิจิตอล ก็ต้องมาพิจารณากันหลายมิติ และมิติต่าง ๆ ที่ออกมา จะเป็นแนวทางให้หน่วยงานต่าง ๆ ขับเคลื่อนธุรกิจทีวีดิจิตอลได้ต่อไป ส่วนทีวีดิจิตอลช่อง 14 Family ของ อสมท นั้น ยังไม่มีแผนที่จะส่งคืนใบอนุญาต เพราะมองว่า ยังเป็นช่องที่มีโอกาสสร้างการเติบโตได้ ด้วยการปรับผังรายการให้มีความน่าสนใจ ซึ่งสามารถหารายได้จากค่าเช่าเวลา เพราะต้นทุนค่าบริหารของช่องไม่สูง ซึ่งหากโชคดีจะมีกำไรได้ภายใน 1 ปี หรืออย่างน้อยถึงจุดคุ้มทุน แต่อย่างช้าน่าจะทำกำไรได้ภายใน 2 ปีีนับจากนี้ โดยที่ผ่านมา มีการปรับผังรายการบ้างแล้ว และจะปรับผังรายการใหม่อีกครั้งช่วงเดือน พ.ค. หรือ มิ.ย. นี้


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,349 วันที่ 18-21 มี.ค. 2561 หน้า 15
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'บีอีซี' ออกหุ้นกู้ 4 พันล้าน ลงทุนทีวีดิจิตอล
จับชีพจรทีวีดิจิตอล ‘เวิร์คพอยท์-RS’โกยเงิน-เรตติ้ง

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว