ประมูล 6 แสนล้าน! ลงพื้นที่ 'อีอีซี' ปีนี้

18 มี.ค. 2561 | 11:00 น.
ความคืบหน้าลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลเร่งขับเคลื่อน กำลังเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมครบทุกโหมด ทั้งทางน้ำ ทางบก ระบบราง และทางอากาศ

 

[caption id="attachment_269405" align="aligncenter" width="503"] เวทีสัมมนา“ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พลิกประเทศ” เวทีสัมมนา“ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พลิกประเทศ”[/caption]

ทั้งนี้ องค์ประกอบสำคัญที่ภาครัฐได้วางไว้ 5 โครงการใหญ่ ประกอบด้วย 1.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, 2.สนามบินอู่ตะเภา 3.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO), 4.ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งโครงการทั้งหมดมีมูลค่ารวมกันราว 5.71 แสนล้านบาท และทุกโครงการจะเป็นการร่วมลงทุนภาครัฐ (พีพีพี) ตามแผนดำเนินการแล้วเสร็จ และเปิดดำเนินการได้ตั้งแต่ปี 2566-2568

เศรษฐกิจปี 61 ขยับ 4-5%
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ฉายภาพในงานสัมมนา หัวข้อ “ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพลิกประเทศ” ว่า จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวนี้ เชื่อว่าจะทำให้การลงทุนของประเทศขยายตัวในระดับ 10% ได้ จากปกติ และจะทำให้จีดีพีของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับ 2% ต่อปี หรือขึ้นไปอยู่ระดับ 5% ต่อปีได้ เพราะเชื่อว่า บริษัทต่างชาติที่ลงทุนในไทยอยู่แล้ว จะขยายการลงทุนมากขึ้น รวมถึงจะมีบริษัทรายใหม่ที่ยังไม่เคยลงทุนในไทยจะเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเชื่อว่า ฐานของจีดีพี ปี 2561 น่าจะขยับขึ้นไปที่ 4% หรือ 5% ภายในปลายปีนี้ได้

 

[caption id="attachment_269408" align="aligncenter" width="335"] คณิศ แสงสุพรรณ คณิศ แสงสุพรรณ[/caption]

“โครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาเมือง และการพัฒนาพื้นที่โดยตรง โครงการท่าเรือมาบตาพุดกับท่าเรือแหลมฉบัง สร้างเสร็จและเปิดดำเนินการไม่พร้อมกันได้ แต่รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กับโครงการสนามบินอู่ตะเภา ต้องเปิดดำเนินการพร้อมกันในปี 2566 ถ้าเสร็จไม่พร้อมกันจะมีผลกระทบอย่างมาก”

ส่วน นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาจะใช้งบประมาณหมื่นล้านบาท เป็นซ่อมบำรุงเครื่องบิน ทั้งแอร์บัสและโบอิ้งที่ทันสมัย ติดอันดับโลก ซึ่งจะเสนอแผนร่วมทุนกับแอร์บัสในเร็ว ๆ นี้ ส่วนกองทัพเรือจะลงทุนด้านสิ่งปลูกสร้างและงานโยธา โดยมีเป้าหมายจะเปิดบริการเดือน ก.ค. ปี 2565

 

[caption id="attachment_269025" align="aligncenter" width="335"] อุษณีย์ แสงสิงแก้ว อุษณีย์ แสงสิงแก้ว[/caption]

ขณะที่ นายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า โครงการระบบรางในพื้นที่อีอีซี ที่การรถไฟฯ รับผิดชอบ ทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร ขณะนี้ มีความคืบหน้าด้านการร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค. นี้ จะพยายามให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ ยังมีรถไฟรางคู่เชื่อมการเดินทางระหว่างเมือง ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

วางกรอบ 4 เดือน เอกชนยื่นซอง
อย่างไรก็ดี รถไฟความเร็วสูง แบ่งโครงการออกเป็น 5 ส่วน โดย 3 ส่วน ที่เป็นงานโยธา อีก 2 ส่วน เป็นงานพัฒนาที่ดิน โดยส่วนที่ 1 เป็นช่วงแอร์พอร์ตลิงค์ที่เปิดให้บริการ จากสนามบินสุวรรณภูมิไปถึงพญาไท ส่วนที่ 2 ต่อจากพญาไทไปถึงดอนเมือง และส่วนที่ 3 จากสุวรรณภูมิไปอู่ตะเภา ส่วนที่ 4-5 นั้น จะเป็นการเสริมโครงการให้เกิดการดึงดูดการลงทุนมากขึ้น โดยเป็นการพัฒนาที่ดินมักกะสันและศรีราชา ที่ต้องการให้เอกชนร่วมลงทุนไปพัฒนา โดยแปลงมักกะสันมีพื้นที่ 140 ไร่ ส่วนแปลงศรีราชา เนื้อที่ 24 ไร่ มีรูปแบบการพัฒนาทั้งอาคาร สำนักงาน พื้นที่เชิงพาณิชย์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ตามที่กำหนดไว้


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

“ขณะนี้ อยู่ระหว่างคณะกรรมการอีอีซีจัดเตรียมแผนจัดประกวดราคา คาดว่าจะเริ่มประกาศเชิญชวนได้ราวต้นเดือน เม.ย. นี้ เปิดให้เอกชนจัดเตรียมเอกสารยื่นข้อเสนอประมาณ 4 เดือน ก่อนที่คัดเลือกเอกชนและจัดทำร่างสัญญา คาดว่าจะเป็นช่วงปลาย พ.ย. หรือต้น ธ.ค. 2561 นี้”

ส่วนรถไฟรางคู่วิ่งให้บริการจากกรุงเทพฯ ไปถึงศรีราชา จ.ชลบุรี แล้วจะก่อสร้างต่อไปจนถึงมาบตาพุดและระยอง เพื่อเชื่อมต่อ 3 ท่าเรือ เข้าด้วยกัน คือ ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือมาบตาพุด เน้นการขนส่งสินค้าให้ได้รับความสะดวก รวดเร็วขึ้น ลดภาระการขนส่งสินค้าทางถนนและลดต้นทุนการขนส่งให้ราคาสินค้าลดลง


TP15-3349-AA

ชิงดำประมูลแหลมฉบัง เฟส 3
ด้าน ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ว่า ในปี 2560 ท่าเรือแหลมฉบัง โครงการที่ 1 และ 2 มีการขนถ่ายสินค้าผ่านระบบตู้คอนเทนเนอร์ 7,670,000 ทีอียู เติบโตกว่าปีก่อนหน้า 8% และเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5% และในปี 2561 คาดการณ์ว่าจะขยายเป็น 8 ล้านทีอียู เชื่อมั่นว่า ภายใน 3-4 ปีข้างหน้า การบริการจะเต็มขีดความสามารถ ทั้งนี้ ระยะที่ 1 และ 2 รวมกันมีขีดความสามารถที่ 10.8 ล้านทีอียูต่อปี จึงต้องเร่งพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 สอดคล้องกับความต้องการของอีอีซี

โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะเน้นใน 2 ทิศทาง คือ 1.การขนส่งสินค้าผ่านระบบตู้คอนเทนเนอร์ เดิมที่มีขีดความสามารถ 10.8 ล้านทีอียู จะพัฒนาท่าเรือเพิ่มเติม พร้อมเพิ่มขีดความสามารถการขนถ่ายสินค้าได้อีกปีละ 7 ล้านทีอียู เมื่อรวมกันแล้ว ท่าเรือแหลมฉบังจะมีขีดความสามารถประมาณ 18 ล้านทีอียูต่อปี


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

นอกจากนี้ ยังเพิ่มขีดความสามารถการส่งออกรถยนต์จากท่าเรือแหลมฉบังได้อีก 1 ล้านคัน จากเดิมที่สามารถส่งออกได้ถึง 2 ล้านคัน รวมกันเป็น 3 ล้านคันต่อปี ถ้าในอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์มีการเปลี่ยนแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ก็จะสามารถปรับท่าเรือตรงนี้ให้ขนส่งสินค้าผ่านตู้คอนเทนเนอร์ก็ได้ พร้อมกันนี้ ยังมีการออกแบบท่าเรือให้รองรับเรือขนาดใหญ่ที่วิ่งในโลก กว้าง 360 เมตร ความลึก 18 เมตร

“ความคืบหน้าพีพีพีในโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ปัจจุบัน มีเอกชนแสดงความสนใจมากกว่า 10 ราย”


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,349 วันที่ 18-21 มี.ค. 2561 หน้า 15
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ชิง‘มาบตาพุด เฟส3’เดือด นักลงทุนต่างชาติ 130 รายเล็งเข้าร่วมประมูลพีพีพี
แจงกรณีการประมูลงาน "สนามบินขอนแก่น"
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว