‘อีอีซี’พลิกโฉมประเทศ

19 มี.ค. 2561 | 05:01 น.
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา “ฐานเศรษฐกิจ” ได้จัดสัมมนาในหัวข้อ “Go Thailand : ลงทุนเพื่ออนาคต” โดยมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มาเป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อดังกล่าว รวมถึงงานเสวนาในหัวข้อ “ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พลิกประเทศ”

[caption id="attachment_269380" align="aligncenter" width="503"] อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม[/caption]

++อีอีซีการพัฒนาเชิงพื้นที่
นายอุตตม ชี้ให้เห็นว่า การที่รัฐบาลมียุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 20 ปี หรือไทยแลนด์ 4.0 โดยมีนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ อาศัยการทำงานแบบองค์กรรวม เป็นการยกระดับฐานอุตสาหกรรมใหม่ ที่ต่อยอดมาจากฐานอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองใหม่ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

โดยมีการออกร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แล้ว และอยู่ระหว่างรอประกาศบังคับใช้ เพื่อให้การดำเนินงานมีกฎหมายรองรับ และเกิดความต่อเนื่อง ซึ่งในกฎหมายอีอีซีดังกล่าว จะครอบคลุมการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ กับผู้ที่จะเข้ามาลงทุนสูงสุด โดยเฉพาะการลงทุนในเขตส่งเสริมพิเศษ เรื่องการให้สิทธิเช่าที่ดิน ก็เป็นกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น การเช่าที่ดินเป็นเวลา 50 ปี และต่อได้ 49 ปี แต่นำมากำหนดไว้ในอีอีซีให้มีความชัดเจนมากขึ้น

อีกทั้ง สิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับนั้น ได้นำเอาสิทธิประโยชน์ของประเทศต่างๆ มาเทียบเคียง โดยเฉพาะการลงทุนที่อยู่ในเขตส่งเสริมพิเศษที่ทั่วโลกมีกว่า 3-4 พันแห่ง อยู่ในเอเชียกว่า 50% ได้นำมาออกแบบให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้วย

โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุมัติโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญไปแล้ว เพื่อให้การพัฒนาประเทศไปสู่ยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ได้ ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาอีอีซีขึ้นมานำร่อง และเชื่อมโยงไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไป

[caption id="attachment_269379" align="aligncenter" width="503"] Go Thailand… นสพ.ฐานเศรษฐกิจ จัดสัมมนาหัวข้อ “Go Thailand : ลงทุนเพื่ออนาคต” โดยมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา Go Thailand… นสพ.ฐานเศรษฐกิจ จัดสัมมนาหัวข้อ “Go Thailand : ลงทุนเพื่ออนาคต” โดยมีนายอุตตม สาวนายนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา[/caption]

++เป็นโอกาสต่อยอดลงทุน
ดังนั้น วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันในการขับเคลื่อนก้าวไปข้างหน้า เพราะเห็นโอกาสและทิศทางในการพัฒนาแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศประสบปัญหาต่างๆ ทำให้การลงทุนหยุดชะงักเดินต่อไม่ได้ กระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจ เมื่อมีอีอีซีเกิดขึ้น ด้วยความหวังว่าจะมีอนาคตใหม่ ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และยั่งยืน

นอกจากนี้ ด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีการยึดโยงกันไร้เส้นแบ่ง ภาคการบริการและการผลิตทำได้เร็วมากขึ้น ดังนั้นการปรับตัวของคนไทย เพื่อความอยู่รอดจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งวันนี้จึงเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่จะปรับเปลี่ยนประเทศ ก้าวสู่การเจริญเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด โดยใช้ศักยภาพฐานการผลิตที่มีอยู่ และสร้างขึ้นมาใหม่

++ใช้คนรุ่นใหม่ขับเคลื่อน
ที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน กำลังถูกจับตามองจากทั่วทุกมุมโลก เศรษฐกิจมีการขยายตัวค่อนข้างสูง เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศต่างๆ รวมถึงไทยด้วย ที่มีความเหมาะสมในการเข้าสู่บริบทใหม่ของการพัฒนาประเทศ ซึ่งเวลานี้ไทยมีความพร้อมในทุกด้าน หากเปลี่ยนประเทศวันนี้ เพื่ออนาคตได้ เศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัวค่อนข้างมาก เป็นสิ่งที่รัฐบาลเน้นยํ้ามาก ที่เศรษฐกิจจะต้องเข้มแข็ง เพราะจะทำให้จีดีพีโดยรวมเติบโตได้ในระดับ 4-5% ต่อปี จาก 3 ปีก่อนอยู่ในระดับ 0.9% เท่านั้น

ดังนั้น การพัฒนาอีอีซี จะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ภายใต้แนวทางการดำเนินงาน 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. ต้องมองสิ่งที่ผ่านมาอะไรเป็นอุปสรรค หากไม่แก้ไขทุกมิติ เดินหน้าไปจะลำบาก 2. การพัฒนาเศรษฐกิจ จะต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ประเทศพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางให้ได้ โดยการยกระดับจากอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว และสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ที่เป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ในการขับเคลื่อน 3. การเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยองค์ความรู้ และ 4. การดำเนินงานควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม

โดยสรุป วันนี้โอกาสมาถึงแล้ว ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน ใช้พลังของคนรุ่นใหม่ประสานกับประสบการณ์จากคนรุ่นเก่า ที่จะร่วมกันผลักดันเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไทย เพราะหากไม่ทำวันนี้ จะลงมือทำเมื่อไร และถ้าไม่ร่วมกันสร้าง จะมีใครมาร่วมทำให้เป็นจริงได้อย่างไร

[caption id="attachment_269408" align="aligncenter" width="335"] คณิศ แสงสุพรรณ คณิศ แสงสุพรรณ[/caption]

++เร่งโครงสร้างพื้นฐาน
ขณะที่นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรม การนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.)ได้กล่าวในช่วงงานเสวนา หัวข้อ “ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พลิกประเทศไทย” ว่า ในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่ได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หรือบางโครงการไม่สามารถดำเนินการเป็นผลสำเร็จ ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศลดน้อยลง เมื่อรัฐบาลชุดนี้เข้ามา จึงมองไปข้างหน้าว่าจะแก้ปัญหาของประเทศในระยะยาวได้อย่างไร และสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้

จึงนำมาสู่นโยบายการพัฒนาอีอีซี ที่เป็นการต่อยอดจากอีสเทิร์น ซีบอร์ดเดิม ที่เป็นฐานการผลิตสำคัญของประเทศ โดยการวางโครงสร้างพื้นฐานเข้าไปรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้เข้าไปผลักดันหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ข้อกฎหมาย และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) การมีกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ในการจูงใจนักลงทุน ที่แล้วเสร็จไปตั้งแต่ปี 2560 พ.ร.บ.อีอีซี ที่กำลังจะประกาศบังคับใช้ ขณะที่พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรม และพ.ร.บ.ผังเมืองกำลังเข้าพิจารณาในสนช. ซึ่งทั้งหมดจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาอีอีซีให้เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ชาติหรือไทยแลนด์ 4.0 โดยการกำหนด 10 กลุ่มอุตสาหกรรมขึ้นมา เป็นการชี้เป้าว่าประเทศไทยจะเดินไปทางไหน เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน และพื้นที่อีอีซีก็เป็นตัวอย่าง ที่จะสามารถตอบโจทย์นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนได้

++ได้ผู้ประมูลทั้งหมดในปีนี้
โดยตลอดในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาการพัฒนาอีอีซี มีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยเฉพาะการดำเนินงานด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานหรือเอ็มอาร์โอ กนศ.มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติหลักการไปแล้ว ระหว่างนี้แต่ละโครงการอยู่ขั้นจัดเตรียมทีโออาร์ ที่จะเชิญชวนภาคเอกชนมาร่วมลงทุน (พีพีพี) ได้ทั้งหมดภายในปีนี้ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-อู่ตะเภา กับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา จะต้องแล้วเสร็จและเปิดพร้อมใช้งานในระยะเวลาเดียวกันหรือในปี 2566 เพราะหากโครงการใดโครงการหนึ่งเสร็จก่อนการใช้งานก็จะไม่มีประโยชน์

ดังนั้น เมื่อโครงการต่างๆ มีความชัดเจนแล้ว จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้อย่างมาก และจะช่วยให้การลงทุนของประเทศเกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,349 วันที่ 18 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว