นากุ้งเวียดนามพังตามรอยรุ่นพี่ ๆ

22 ม.ค. 2559 | 01:00 น.
วัฏจักรการเลี้ยงกุ้งมักจะเริ่มด้วยความร่ำรวยอย่างฉับพลัน ชาวนาแห่เปลี่ยนที่ดินป่าชายฝั่งทะเลและนาข้าวเป็นฟาร์มกุ้ง ร่ำรวยกันทั้งหมู่บ้าน ตามด้วยสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย เกิดโรคระบาดจนนากุ้งเจ๊ง เป็นแบบนี้มาตลอดตั้งแต่ประเทศไต้หวันมาไทยและตอนนี้กำลังเกิดขึ้นที่เวียดนาม

หนังสือพิมพ์เวียดนามนิวส์รายงานว่าธุรกิจนากุ้งทำให้ประชาชนแถบสามเหลี่ยมแม่น้ำโขง ได้กำไรจากการทำฟาร์มกุ้งเปลี่ยนฐานะจากชาวนายากจนกลายเป็นเศรษฐีกันเป็นแถว แต่การแห่เพิ่มการเลี้ยงกุ้งโดยไม่มีการวางแผนทำให้ผลร้ายตามรังควานทั้งสิ่งแวดล้อมที่เสียไป คุณภาพกุ้งที่เสียไป และการค้ากุ้งที่หดตัวลง

การทำนากุ้งในเวียดนามเริ่มเมื่อ 15 ปีก่อน โดยชาวนาในชุมชนชายฝั่งทะเลทางใต้ของจังหวัดเบ๋นแตร เปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาเลี้ยงกุ้ง และทำกำไรได้มากมายจนชาวบ้านในแถบสามเหลี่ยมแม่น้ำโขง แตกตื่นหันมาลงทุนทำนากุ้งกันหมด

ในเวลาเพียงไม่กี่ปี เมืองถั่นฟวก หนึ่งในจังหวัดฟาร์มกุ้ง ก็เปลี่ยนจากชุมชนยากจนมาเป็นชุมชนร่ำรวยจากการทำนากุ้ง รายได้ครัวเรือนต่อปีเพิ่มขึ้นมากกว่า 50,000 ดอลลาร์ (1.8 ล้านบาท) ต่อปีและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นายโงหวั่นทู (Ngo Van Thu) ชาวนาในชุมชนเมืองถั่นฟวก ให้สัมภาษณ์เวียดนามนิวส์ว่า ตอนแรก ๆ ที่ยังไม่มีการเปลี่ยนพื้นที่เป็นนากุ้งกันมาก บริเวณนั้นมีน้ำสะอาดมากมายทำให้สามารถขยายการเลี้ยงกุ้งได้

“เมื่อมีคนทำกำไรได้มาก ทำให้ชาวนาในพื้นที่ที่ธรรมชาติไม่เอื้ออำนวยในการเลี้ยงกุ้งหันมาเลี้ยงกุ้งด้วยและทำทุกอย่างเพื่อให้สามารถเลี้ยงกุ้งได้ ซึ่งมีชาวนาในจังหวัดเบ๋นแตร ด้วยแต่ปัญหาของพื้นที่แถบนั้นคือมีแต่น้ำจืดทำให้ชาวบ้านใช้วิธีขุดบ่อเพื่อดึงน้ำกร่อยขึ้นมาใส่บ่อเพื่อเลี้ยงกุ้ง’

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของฟาร์มกุ้งโดยที่ยังไม่มีการเตรียมระบบและโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเพื่อรองรับทำให้เกิดการระบาดของโรคกุ้ง มีกุ้งตายจำนวนมากทำให้ชาวนาขาดทุนเป็นจำนวนมาก นายทู ให้สัมภาษณ์ว่า เขาหยุดทำนากุ้งมา 3 ปีแล้ว เพราะ “ยิ่งทำมากยิ่งขาดทุนมากเพราะกุ้งเริ่มตายโดยไม่รู้สาเหตุ”

ในปีที่แล้ว นายโง หวั่น หุ่ง (Ngo Van Hung) พี่ชายของนายทู ยังไม่หยุดเลี้ยงกุ้ง ลองเสี่ยงโชคเลี้ยงไป 2 รุ่นปรากฏว่า ขาดทุนไป 60 ล้านด่อง (ประมาณ 97,200 บาท) โดยนอกจากเมืองถั่นฟวกแล้วมีรายงานว่านากุ้ง เมืองจร่าวิญ เมืองชายฝั่งทะเลแถบสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงซึ่งมีระบบชลประทานไม่ดี กำลังเจอกับโรคระบาดเช่นกัน

นายหวั่ง เฟื้อก หาย (Huynh Phuoc Hai) ชาวนาจากจังหวัดเกียนซาง ซึ่งอยู่แถวสามเหลี่ยมแม่น้ำโขง กล่าวว่า “ตอนนี้สภาพแวดล้อมของนากุ้งประสบปัญหามลพิษอย่างหนัก บ้านเรือนแถวนี้ต้องแย่งน้ำกันทำนากุ้ง พอกุ้งเป็นโรคก็ปล่อยน้ำออกไปทำให้จุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคกุ้งกระจายไปทั่ว”

นายโว ฮอง โงน (Vo Hong Ngoan) ชาวนากุ้งจากจังหวัดบากเลียว ซึ่งเป็นจังหวัดชายฝั่งทะเลแถบสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงเช่นกันกล่าวว่า ขณะนี้สภาวะแวดล้อมในนากุ้งแถบนั้นเป็นพิษมาก เจ้าของนากุ้งต้องใช้ยาปฏิชีวนะกันเกินพิกัด ซึ่งทำให้ต้นทุนการเลี้ยงกุ้งสูงขึ้นและยังทำให้เกิดการปนเปื้อนยาเป็นเหตุให้สินค้าไม่ได้มาตรฐานด้วย

เวียดนามนิวส์ ระบุว่าในช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้ มีสินค้าอาหารทะเลส่วนใหญ่คือกุ้งโดนลูกค้าส่งกลับจากปัญหาการปนเปื้อนยา 32,000 ตัน และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 มีผู้นำเข้าต่างประเทศคืนสินค้ามา 582 เที่ยวแล้วโดยให้เหตุผลในเรื่องเดียวกัน ดังนั้นจึงมีการเรียกร้องให้ทางการเวียดนามเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าส่งออก

นายโงน ให้สัมภาษณ์เวียดนามนิวส์ว่า ขณะนี้ในตลาดมียาปฏิชีวนะวางขายกันเกร่อ โดยที่ชาวนากุ้งไม่ทราบถึงผลร้ายของการใช้ยาเกินขนาด ส่วนโรงงานแปรรูปกุ้งก็รับซื้อโดยไม่มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ทำให้ชาวนากุ้งไม่ควบคุมการใช้ยาให้ถูกต้อง เป็นผลกระทบต่อคุณภาพสินค้าส่งออกอย่างมาก

นายเจิ่น ก๊วก ต๋วน (Tran Quoc Tuan) ผู้อำนวยการกรมอุตสาหกรรมและการค้าจังหวัดจร่าวิญ พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ทางการสนับสนุนให้มีการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในนากุ้งให้เข้มงวดยิ่งขึ้นและเร่งให้มีการเผยแพร่ความรู้ให้กับชาวนากุ้งให้เข้าใจถึงผลเสียของการใช้ยาโดยไม่ควบคุม

นายต๋วน กล่าวว่า “หน่วยงานราชการกำลังเร่งให้ชาวนากุ้งได้รู้ถึงผลร้ายของการใช้ยา และกระตุ้นให้บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้งให้ปรับวิธีการทำงานใหม่ หันมาร่วมมือกับชาวนากุ้งในการเลี้ยงกุ้ง ทั้งเรื่องพันธุ์ วิธีการเลี้ยง และการใช้ยาอย่างถูกต้องเพื่อให้มีการควบคุมคุณภาพสินค้าตลอดกระบวนการผลิต”

นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมกุ้งในเวียดนาม สรุป ว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ การเลี้ยงกุ้งในเวียดนามประสบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ ที่เลี้ยงกุ้งมาก่อนทั้งที่มีบทเรียนมากมายจากประเทศอื่น ๆ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,124 วันที่ 21 - 23 มกราคม พ.ศ. 2559