TG MRO Campus ศูนย์ซ่อมอากาศยานอันดับ1โลก

22 มี.ค. 2561 | 05:09 น.
อีกหนึ่งของการลงทุนภายใต้นโยบายอีอีซีของรัฐบาล คือ การชี้เป้าให้การบินไทย ไปร่วมลงทุนกับบริษัทผู้ผลิตอากาศยานระดับโลก เพื่อพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO : Maintenance, Repair and Overhaul) ที่สนามบินอู่ตะเภา ภายใต้ชื่อโครงการ “TG MRO Campus” ความพร้อมในโครงการนี้จะเป็นอย่างไร งานเสวนาในหัวข้อ “ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พลิกประเทศ” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจเมื่อวันก่อนมีคำตอบ

[caption id="attachment_269025" align="aligncenter" width="335"] อุษณีย์ แสงสิงแก้ว อุษณีย์ แสงสิงแก้ว[/caption]

นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า TG MRO Campus จะเป็นแหล่งซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่ให้บริการในด้านต่างๆ ได้แก่ การซ่อมใหญ่อากาศยาน (Heavy Maintenance) การซ่อมบำรุงอากาศยานระดับลานจอด (Line Maintenance) การพ่นสีอากาศยาน ศูนย์ฝึกอบรมช่างอากาศยาน ซึ่งการบินไทยได้ร่วมมือกับสถาบันการบินพลเรือน ตั้งศูนย์ฝึกอบรมช่างบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อผลิตบุคลากรที่เกี่ยวกับการซ่อมบำรุงอากาศยานตามมาตรฐานโลก

รวมถึงงานบริการสนับสนุน การซ่อมบำรุงที่จะขอรับการสนับสนุนจากพันธมิตร ได้แก่ 1.Non-Destructive Testing (NDT) คือการตรวจสอบโดยใช้เทคโนโลยีที่ไม่ทำลายหรือสร้างความเสียหายต่อชิ้นส่วนหรือโครงสร้างอากาศยานทั้งโครงสร้างที่เป็นโลหะและวัสดุผสม (Composite Material) 2. Calibration การสอบเทียบเครื่องมือวัดและสอบเทียบเครื่องวัดประกอบการ บิน รวมถึง แอร์คราฟต์ เอนจิน, ล้อและเบรก, แลนดิ้ง เกียร์, Line Replacement Unit (LRU), Auxiliary Power Unit (APU), Composite Material

เป้าหมาย คือ เปิดให้บริการได้ในเดือนกรกฎาคม 2565 และจะเป็น MRO อันดับ 1 ของโลก ไม่ได้วัดกันด้วยขนาดหรือการทุบสถิติต่างๆ แต่หมายถึงการมองภาพในอนาคตให้เห็นชัยชนะเหนือคู่แข่ง การมองให้เห็นความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง ซึ่งต้องวัดโดยลูกค้า ด้วยการส่งมอบให้ตรงเวลานัดหมาย มีคุณภาพและความปลอดภัย

ทั้งยังรองรับการขยายตัวของฝูงบินในธุรกิจของไทย และเป็นโอกาสที่จะเพิ่มลูกค้าและรายได้จากธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน เนื่องจากเป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัทผู้ผลิตอากาศยานชั้นนำระดับโลก ซึ่งปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตจะมีสัญญาให้บริการหลังการขายในส่วนของงานซ่อมบำรุงกับผู้ซื้อหรือสายการบินต่างๆ
MP22-3324-1A
TG MRO Campus จะเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ และรูปแบบการบริหารจัดการแบบใหม่มาใช้ เพื่อปฏิรูปโครงสร้างและรูปแบบธุรกิจใหม่ ส่งผลดีเชิงพาณิชย์สำหรับไทยและเอเชียทำให้การบินไทยสามารถทำรายได้จากการให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานตามอุปสงค์ของเครื่องบินที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการส่งเครื่องบินรุ่นใหม่ไปซ่อมยังต่างประเทศ

ทั้งยังทำให้อัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินในพื้นที่ ดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทำให้รัฐเก็บภาษีเงินได้ สนับสนุนแผนงานของอีอีซี ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี และถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งจะนำไปสู่ความได้เปรียบเชิงแข่งขันทางการค้าในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ร.ท.รณชัย วงศ์ชะอุ่ม ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า TG MRO แห่งนี้จะมีความได้เปรียบมาก เพราะเราได้ดักตลาดในอีก 5 ปีข้างหน้าไว้แล้ว ด้วยการลงทุนเทคโนโลยีการซ่อมบำรุงอากาศยานที่ทันสมัย เช่น การใช้ 3-D Mock-up ใช้โดรน หรือดิจิตอลต่างๆ บิ๊ก ดาด้า มาวิเคราะห์การซ่อมบำรุง และ TG MRO จะรองรับเครื่องบินลำตัวกว้างซึ่งเป็นเครื่องรุ่นใหม่ที่มีมาก ซึ่งคาดว่าในช่วง 20 ปีนี้จะเติบโตอยู่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกถึง 2.8 เท่า หรือราว 1.69 หมื่นลำ แตกต่างจากศูนย์ซ่อมอากาศยานที่มีอยู่ส่วนใหญ่จะเน้นเครื่องบินลำตัวแคบ ที่ให้บริการสายการบินต้นทุนตํ่า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,349 วันที่ 18 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว