‘ลาร์ส นอร์ลิ่ง’บอกลา‘ดีแทค’ 3ปีผลงานหลุดเป้าพ่าย‘ทรูมูฟ’

17 มี.ค. 2561 | 07:13 น.
การลาออกของ นายสิทธิโชค นพชินบุตร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด (Chief Marketing Officer) หรือ CMO ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยังไม่สะเทือนเท่ากับการลาออกของ นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Chief Executive Officer) หรือ CEO ของ ดีแทค มีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กันยายน 2561 ย่อมมีนัยสำคัญอย่างแน่นอน

เสียแชมป์เบอร์ 2
ที่บอกว่าสะเทือน เป็นเพราะ เทเลนอร์ เอเชีย พีทีอี ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 42.62% ในดีแทค เสนอรายชื่อให้ “ลาร์ส” มานั่งตำแหน่ง CEO เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 เป้าหมาย คือ ต้องการสร้างรายได้เพิ่ม และรักษาตำแหน่งผู้ให้บริการมือถืออันดับ 2 ของประเทศไทย เป็นเพราะ “ลาร์ส” ผ่านประสบการณ์ทำงานทางด้านเทคโนโลยี และด้านการตลาดอย่างครํ่าหวอด ก่อนที่จะมาอยู่ “ดีแทค” ร่วมงานในบริษัท รวมระยะเวลาเกือบ 3 ปี ที่ “ลาร์ส” เข้ามาบริหารจัดการ สุดท้าย ก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างที่วางยุทธศาสตร์เอาไว้ เพราะกลยุทธ์ปรับสู่องค์กรดิจิตอลผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต และเพิ่มช่องทางรายได้เพียงอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงบุคลากรในอดีตที่ปลุกปั้นองค์กรร่วมกันจนมีกระแสข่าวว่าปรับลดพนักงานทุกเดือน ภายในสิ้นปีปรับลดให้ได้จำนวน 1,000 คน จนต้องออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง “ดีแทค” มีแต่เพิ่มพนักงานโดยเฉพาะฝ่ายดิจิตอล ประมาณ 200 ตำแหน่งในปี 2563 บนเงื่อนไขพนักงานทั้งหมดมีไม่เกิน 4,000 คน จากปัจจุบันมีจำนวน 4,300 คน

[caption id="attachment_269035" align="aligncenter" width="335"] MP20-3349-1A ลาร์ส นอร์ลิ่ง[/caption]

หรือเป็นเพราะว่าหลักคิด และวัฒนธรรมองค์กรระหว่างฝั่งตะวันตก และภูมิภาคเอเชีย ที่แตกต่างทำให้ยุทธศาสตร์หลายสิ่งถึงไม่บรรจบ รวมไปถึงกระแสข่าว “เทเลนอร์ เอเชีย” ถอยการลงทุนในประเทศไทย ทำให้พลังขององค์กรลดลง
นอกจากนี้แล้วข้อจำกัดของ “ดีแทค” คือ คลื่นความถี่แม้จะมีจำนวน 3 ความถี่ คือ 2100 เมกะเฮิรตซ์ แต่คลื่นความถี่ 850 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์สิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 30 กันยายน 2561 มิหนำซํ้าปี 2559 บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แจ้งผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ทรูมูฟ เอชมีลูกค้า 24.53 ล้านเลขหมาย ขึ้นเป็นผู้ให้บริการมือถืออันดับ 2 ของประเทศไทยเป็นครั้งแรก ผลพวงเกิดจาก ทรูมูฟ เอช ประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ มาต่อยอดเพิ่มได้อีก 1 คลื่น และได้พันธมิตรรายใหม่ คือ ไชน่าโมบายล์ ส่วน ดีแทค มีลูกค้า 24.5 ล้านเลขหมาย และในปี 2560 ทรูมูฟ เอช มีลูกค้าเพิ่มเป็น 27.2 ล้านเลขหมาย ทิ้งห่าง “ดีแทค” ออกไปอีก

ด้วยจำนวนตัวเลขที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ถือหุ้นของ ดีแทค คงไม่แฮปปี้กับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจึงเป็นเหตุผลหลักๆ ที่ “ลาร์ส” ถอดใจยื่นใบลาออก

งัดทุกกลยุทธ์เอาไม่อยู่
แม้จะดึงพรีเซนเตอร์ตัวแม่ คือ “อั้ม” พัชราภา ไชยเชื้อ มาเป็นพรีเซนเตอร์ “ลื่นปรื้ด” โครงข่าย 4 จี หรือแม้แต่ นายนภัทร เสียงสมบูรณ์ เป็นพรีเซนเตอร์ “Go No Limit” เพื่อดึงฐานแฟนคลับเข้ามาอยู่ในระบบ แต่ก็เอาไม่อยู่ รวมไปถึงผนึกกับ “ไลน์” ร่วมกันให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ชื่อ “LINE MOBILE” หวังว่าจะใช้แบรนด์ของ “ไลน์” เพิ่มช่องทางของลูกค้า แต่สุดท้ายแล้วก็ยังไม่เห็นผล

MP20-3349-2A ขณะที่ผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 “ดีแทค” มีรายได้รวม 20,274 ล้านบาท ลดลง 5.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและมีกำไรสุทธิ 542 ล้านบาท ส่วนภาพรวมผู้ใช้งาน ณ สิ้นปี 2560 อยู่ที่ 22.7 ล้านเลขหมาย ลดลง 4.5 แสนเลขหมาย จากไตรมาส 3/2560 โดยยังเป็นแนวโน้มเดิมคือ ลูกค้าเติมเงินลดลง 5.6 แสนเลขหมาย ส่วนรายเดือนเพิ่มขึ้น 1.2 แสนเลขหมาย มีลูกค้าที่อยู่บนโครงข่าย 2.1 กิกะเฮิรตซ์ อยู่ 98% และมีผู้ใช้บริการ 4G อยู่ 7.9 ล้านเลขหมาย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,349 วันที่ 18 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว