ตีความกฎหมายที่มาส.ว. โรดแมปเลือกตั้งแกว่ง!

19 มี.ค. 2561 | 03:59 น.
สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โหวตรับรอง 2 ร่างกฎหมายลูกเพื่อจัดเลือกตั้งผ่านฉลุยเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน หลังผ่านการปรับแก้ของคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วม 3 ฝ่าย และกระแส “ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ” ที่ถูกจุดประเด็นขึ้นก่อนหน้านั้น ก็ถูกดับด้วยจำนวนเสียง สนช. ที่โหวตผ่านท่วมท้น โดยร่างกฎหมายลูกเลือกตั้งส.ส.ด้วยคะแนน 211 ต่อ 0 งดออกเสียง 7 เสียง และร่างกฎหมายลูกที่มาส.ว. ด้วยคะแนน 202 ต่อ 1 งดออกเสียง 13 เสียง

สะท้อนความมั่นใจและเป็นปึกแผ่นของสนช.ว่า เนื้อหาใน 2 ร่างกฎหมายลูกที่ขัดเกลาร่วมกันในคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วม 3 ฝ่าย ไม่มีส่วนไหนขัดรัฐธรรมนูญแน่แล้ว จำนวนเสียงที่ไม่เห็นด้วยและงดออกเสียงในการโหวตแต่ละฉบับ จึงปรากฏอย่างที่เห็น

หลังสนช.โหวตรับรองแล้ว ประธานสนช.จะตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อย ก่อนส่งให้นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูล เกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้เป็นกฎหมาย เป็นไปตามโรดแมปการเลือกตั้งต่อไป ตามกรอบเวลายาวที่สุดของแต่ละขั้นตอน จะไปเลือกตั้งใหม่กันในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
แต่ร่างกฎหมายลูกเพื่อการเลือกตั้ง 2 ฉบับสุดท้ายนี้ก็ไม่วิ่งฉิว เมื่อกระแส “ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ” กระพือขึ้นอีกครั้ง

TP14-49-A ++“มีชัย-บิ๊กตู่”หนุนทำให้ชัดเจน
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ได้ทำความเห็นกรธ.ส่งประธาน สนช. ว่าจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ เนื่องจากกรธ.มีข้อกังวลว่า ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ทั้ง 2 ฉบับ มีประเด็นที่อาจขัดรัฐธรรมนูญ

โดยนายมีชัยชี้ว่า หากสนช.ดำเนินการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตอนนี้จะไม่กระทบโรด แมป แต่หากปล่อยไปถึงการ เลือกตั้งส.ว.แล้วมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญจะกระทบโรดแมปทันที “กระบวนการที่อยากให้เร็วมันจะล้มทั้งยืน ทุกอย่างต้องเริ่มใหม่หมด ต้องนับหนึ่งใหม่ เขียนกฎหมายกันใหม่ ใครจะเขียน กรธ.ก็ไม่อยู่แล้วตอนนั้น”

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แสดงท่าทีเห็นด้วยว่าทำเสียให้ชัดเจนตอนนี้ โดยเชื่อมั่นว่าจะไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้งที่วางไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะพิจารณาได้ทันในกรอบ เวลาที่มีอยู่ “ท่านพูดว่าเป็นห่วงว่าวันข้างหน้าจะถูกฟ้องร้องและถ้าถูกฟ้องขึ้นมาพ.ร.ป. 2 ฉบับนี้น่าจะเป็นปัญหา การเลือกตั้งอะไรต่างๆ จะทำให้เป็นปัญหาหมด มันจะทำให้วุ่นวายสับสนอลหม่านไปหมด เอาเสียให้ชัดตอนนี้ ผมก็บอกแล้วว่าขอให้ทำในกรอบเวลาที่กำหนด ไม่ต้องห่วง อย่างไรก็ได้เลือกตั้ง”

สนช.ซึ่งเดิมมีท่าทีจะไม่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะจากการโหวตคนไม่เห็นด้วยกับที่ไม่ออกเสียง มีคะแนนรวมกันไม่ถึง 25 เสียง ซึ่งเป็นจำนวนที่ต้องการ (ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10) ในการเข้าชื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อสัญญาณแรงชัดขนาดนี้ นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. (วิป สนช.) จึงออกมาบอกว่า หลายคนได้ปรึกษาหารือกันแล้ว จึงเห็นกันว่าน่าจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยจะดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากระทบต่อโรดแมป เพราะที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาวินิจฉัยไม่เกิน 3 เดือน ประกอบกับร่างกฎหมายลูก ส.ส.ได้ขยายเวลาการบังคับใช้เผื่อออกไป 90 วัน แล้ว จึงจะยื่นเฉพาะร่างกฎหมายลูก ส.ว.

++เสียงแตกกระทบโรดแมป
แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะยืนกรานส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ยังอยู่ในกรอบเวลาโรดแมปเลือกตั้งกุมภาพันธ์ 2562 แต่ขึ้นกับการวินิจฉัยว่าจะใช้เวลาเพียงใด และเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างกฎหมายลูกไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่หากผลคำวินิจฉัยเป็นตรงกันข้าม ย่อมมีผลกระทบโรดแมปทันที เพราะต้องเริ่มกระบวนการร่างกฎหมายใหม่ หลายเสียงยังสะท้อนการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความมีโอกาสกระทบโรดแมปเลือกตั้ง

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. แจกแจงว่า การส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น สำหรับร่างกฎหมายเลือกตั้งส.ส. อาจมีผลกระทบต่อโรดแมป ส่วนร่างกฎหมายส.ว.นั้นไม่มีผลต่อโรดแมป เพราะต้องเดินตามร่างกฎหมายเลือกตั้งส.ส.อยู่แล้ว

++สมชัยชี้ยื้อเลือกตั้งเม.ย.62
ขณะที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวว่า ผลต่อโรดแมปเลือกตั้งนั้นมีแน่ โดยกรณีไม่มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ใช้เวลาเต็มที่ 330 วัน หลังจากนายกฯทูลเกล้าฯ คือ รอโปรดเกล้าฯ 90 วัน ชะลอการใช้ 90 วัน (กฎหมายเลือกตั้งส.ส.) และเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน รวมเป็น 330 วัน

ดังนั้น หากนายกฯสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ในเดือนมีนาคม 2561 นับไปอีก 11 เดือน ก็คือเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เป็นวันเลือกตั้ง

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ แต่กรณีมีการยื่นตีความ ต้องทดเวลาเพิ่มอีก 2 เดือน เผื่อการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญประมาณเดือนครึ่ง และอีกครึ่งเดือนในการนำกลับมาปรับแก้หลังศาลวินิจฉัย เมื่อบวกอีก 2 เดือน ก็จะเป็น 13 เดือน คือเลื่อนเลือกตั้งจากกุมภาพันธ์ เป็นเมษายน 2562

ที่ผ่านมา หลังผ่านการโหวตของสนช.แล้วมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น ในกรณีร่างกฎหมายลูกว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินหลังจากสนช.เห็นชอบวาระ 3 เมื่อ 27 กรกฎาคม 2560 มีสนช.เข้าชื่อยื่นศาลรัฐ ธรรมนูญตีความ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยกเมื่อ 5 กันยายน 2560 ใช้เวลา 38 วัน ส่วนร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการปราบปรามการทุจริตนั้น สนช.เห็นชอบวาระ 3 เมื่อ 25 ธันวาคม 2560 กรธ.ส่งความเห็นให้สนช.ยื่นศาลรัฐธรรม นูญตีความ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ใช้เวลา 73 วัน

นายสมชัย ชี้อีกว่า ม.148 ระบุหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นเป็นสาระสำคัญของกฎหมาย ให้ร่างพ.ร.บ.นั้นตกไป ซึ่งประเด็นที่นายมีชัยทักท้วงในร่างกฎหมายลูกที่มาส.ว.นั้น เป็นสาระสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นวิธีการได้มาซึ่งส.ว. หากส่งตีความแล้วศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าผิดหรือขัดในสาระสำคัญ คงได้เห็นการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งต้องใช้เวลายืดออกไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน จะบอกว่าที่มาส.ว.ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้งส.ส.ก็ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญระบุให้เลือกส.ว.ให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งส.ส. 15 วัน ไม่มีส.ว. ก็ไม่มีส.ส.

“หมากลึกซึ้งเยี่ยงนี้ขึ้นอยู่กับใครจะเป็นจำเลยให้สังคม ระหว่าง 25 สนช.หรือนายกฯ ถ้าโรดแมปต้องเลื่อนไปอีก 2-6 เดือน”

เช่นเดียวกับ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ชี้ว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ อย่างน้อยต้องใช้เวลาวินิจฉัย 1 เดือน ยิ่งหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าขัด ต้องเอากลับไปทำใหม่หมด เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่กระทบโรดแมป ก่อนตั้งคำถามกลับว่า “เมื่อรู้ปัญหาแต่แรกแล้วทำไมไม่แก้ ก่อนหน้าจะผ่านการพิจารณาของ กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย เพราะมีทั้งกรธ.ที่เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ รู้เจตนา รมณ์อยู่แล้ว ทำไมไม่ยืนตามร่าง กรธ. แต่ดันทุรังจะเอาร่างของสนช.เป็นหลัก เป็นการเล่นเกมอะไรกันหรือไม่” และยํ้าว่าต้องมีคนรับผิดชอบหากเวลาเลือกตั้งไม่เป็นไปตามโรดแมป
ความวิตกของนายมีชัยดังกล่าวน่าสนใจยิ่ง ว่าหากปล่อยร่างกฎหมายลูกส.ส.-ส.ว.ผ่านกระบวนการไปเฉยๆ อาจถูกหยิบมาใช้เป็นชนวนระเบิดทางการเมืองในห้วง “จัดการเลือกตั้ง” แล้วเดินหน้าต่อไม่ได้ อาจทำให้ถึงขั้น “ล้มทั้งยืน” สู้เดินหน้ายื่นศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดให้ชัดเจนไปเสียเลย แม้อาจกระทบกรอบเวลาอย่างสั้นๆ หากท้ายสุดผ่านการรับรอง หรือถ้าต้องร่างใหม่ทั้งฉบับเพราะขัดรัฐธรรมนูญ ทำเสียตอนนี้ขณะที่กลไกทุกอย่างยังอยู่ในมือรัฐบาลและคสช. แม้จะเสียรังวัดบ้างแต่ปลอดภัยกว่า

แต่ที่เกิดผลแล้วแน่ๆ คือ กรอบโรดแมปเลือกตั้งยังมีสิทธิแกว่งได้ตลอดเวลา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,349 วันที่ 18 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว