ชีวิตประจำวัน จากโลกอนาคตในนอร์เวย์ (2)

18 มี.ค. 2561 | 23:05 น.
TP10-3349-3B เบื้องหลังความสำเร็จในการผลักดันการใช้ EV ของนอร์เวย์ : ความลงตัวของนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมและการสร้างแรงจูงใจในด้านเศรษฐกิจ

เรื่องความสำเร็จในการผลักดัน EV ของนอร์เวย์นั้น ต้องถือว่าเป็นความสำเร็จในการวางแผนที่สอดรับของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการสร้างแรงจูงใจในด้านเศรษฐกิจที่ลงตัว นอร์เวย์อาจจะเป็นประเทศเดียวในโลกก็ได้ที่สามารถดำเนินนโยบายการใช้ EV หมดทั่วประเทศได้ในขณะนี้ แล้วอะไรคือคำตอบ หลายคนอาจจะเริ่มคิดถึงนโยบายการสร้างแรงจูงใจต่างๆ ให้คนหันมาใช้ EV ซึ่งค่อนข้างจะเป็นคำตอบที่ปลายเหตุ แต่นั่นไม่ใช่คำตอบที่ถูกที่สุด ความสำเร็จที่เป็นเงื่อนไขแรกสุดอยู่ที่โครงสร้างพลังงานของนอร์เวย์ครับ

จากข้อมูลโครงสร้างด้านพลังงานของนอร์เวย์จาก IEA ในปี ค.ศ. 2016 จะเห็นวิสัยทัศน์ของการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของนอร์เวย์กล่าวคือ นอร์เวย์เป็นประเทศที่ผลิตนํ้ามันและก๊าซธรรมชาติได้ในสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับพลังงานนํ้า โดยนอร์เวย์เป็นผู้ส่งออกนํ้ามันที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปตะวันตก และเป็นประเทศที่ส่งออกก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก แต่เมื่อดูที่โครงสร้างการใช้พลังงานภายในประเทศ นอร์เวย์เลือกที่จะใช้พลังงานนํ้าเป็นสัดส่วนที่สูสีกับการใช้นํ้ามันและก๊าซธรรมชาติ โดยในการผลิตกระแสไฟฟ้าในนอร์เวย์นั้น ใช้พลังงานนํ้าถึง 97% ทำให้นอร์เวย์เป็นประเทศที่สามารถแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

TP10-3349-1B จากข้อมูลของ IEA ยังพบว่า แม้ว่าจำนวนประชากรและ GDP ของประเทศนอร์เวย์จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่การปล่อย CO2 นั้นถูกจำกัดและไม่ได้เพิ่มขึ้นเกินระดับเมื่อก่อนปี ค.ศ. 2000

จากข้อมูลของ The Norwegian EV Association พบว่า การกำหนดนโยบายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างชาญฉลาด ทำให้ถ้าในวันนี้ หากรถยนต์บนถนนทั้งหมดจำนวน 3 ล้านคัน เปลี่ยนเป็น EV จะเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าพลังนํ้าเพียง 5-6% ของพลังงานนํ้าที่ผลิตได้ในแต่ละปี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก จากข้อมูลของ IDTechEx ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ให้ข้อมูลด้านธุรกิจ พบว่าถ้าชาวจีนซื้อรถ EV จำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญจากวันนี้ไปอีก 5 ปี จะเพิ่มภาวะโลกร้อนอย่างมีนัยสำคัญ (ซึ่งเป็นเรื่องที่ฟังดูตลกถ้าคิดว่าการใช้ EV ที่เหมือนเป็นการแก้ปัญหา กลับสร้างปัญหา) เพราะปัจจุบันโรงไฟฟ้าของจีนส่วนใหญ่ยังไม่มีประสิทธิภาพและยังใช้พลังงานจากถ่านหินอยู่

ซึ่งข้อได้เปรียบในเรื่องโครงสร้างพลังงานที่มีมากเกินพอและมาจากพลังงานนํ้าทำให้นอร์เวย์สามารถดำเนินนโยบายผลักดัน EV ได้อย่างเต็มที่ โดยภาครัฐของนอร์เวย์ได้ออกมาตรการส่งเสริม EV อยู่บน 3 หลักการสำคัญ ได้แก่ EV ต้องราคาถูก (Cheap to buy) ค่าใช้จ่ายถูกลงเมื่อเลือก EV (Cheap to use) และสะดวกเมื่อใช้ (Convenient to use)

EV ต้องราคาถูก (Cheap to buy) รัฐบาลนอร์เวย์กำหนดนโยบายเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในราคาที่สูง ในอัตรา 25% และเก็บค่าธรรมเนียมที่จ่ายครั้งแรกครั้งเดียวโดยคำนวณจากนํ้าหนักของรถยนต์ การปล่อยมลพิษ (CO2 และ NOX) และขนาดของเครื่องยนต์ ในขณะที่ไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าธรรมเนียมสำหรับ EV ทำให้การซื้อ EV ประหยัดลงอย่างน้อยประมาณ 10,000 ยูโร (ประมาณ 400,000 บาท) ยกตัวอย่างราคารถยนต์ให้เห็นภาพชัดเจน เช่น ในนอร์เวย์ รถยนต์รุ่น VW Golf ที่ใช้นํ้ามันจะราคาอยู่ที่ประมาณ 30,000 ยูโร ในขณะที่ถ้าเป็นรุ่น VW E-Golf ราคาอยู่ที่ประมาณ 28,500 ยูโร ขณะที่ในสวีเดน รถยนต์รุ่น VW Golf ที่ใช้นํ้ามันจะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 20,000 ยูโร และVW E-Golf ราคาอยู่ที่ประมาณ 41,200 ยูโร

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ ค่าใช้จ่ายถูกลงเมื่อเลือก EV (Cheap to use) การใช้ EV จะทำให้สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ในการใช้ถนน เช่น ได้รับการยกเว้นค่าผ่านทาง (Toll) ซึ่งในเมืองออสโลตกประมาณ 3-5 ยูโร และในทางหลวงและอุโมงค์ซึ่งอาจแพงถึง 20 ยูโร ได้รับการยกเว้นค่าจอดรถ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2-5 ยูโรต่อชั่วโมง สามารถชาร์จไฟได้ฟรี ซึ่งปกติจะตกประมาณ 3-9 ยูโร ต่อครั้ง สามารถขับในเส้นทางรถโดยสารและแท็กซี่ได้ ซึ่งช่วยประหยัดเวลาได้ 30 นาที-1 ชั่วโมงต่อวัน ได้รับการยกเว้นการขึ้นเรือเฟอร์รี่ข้ามฝั่ง ซึ่งตกประมาณเที่ยวละ 12-24 ยูโร และได้รับการยกเว้นค่าใช้อุโมงค์ซึ่งตกประมาณเที่ยวละ 12-24 ยูโร เป็นต้น

สะดวกเมื่อใช้ (Convenient to use) ปัจจุบันเทศบาลเมืองออสโลเป็นเจ้าของจุดชาร์จไฟ EV ที่ใหญ่ที่สุดในนอร์เวย์ (และเป็นอันดับต้นๆ ในระดับโลก) โดยเป็นเจ้าของทั้งหมด 1,300 จุดที่อยู่ตามถนน โดยที่ชาร์จไฟสาธารณะทั้งหมดในออสโลมีทั้งหมดเกือบ 2,000 จุด และจำนวนจุดชาร์จจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าในปี ค.ศ. 2018-2020 ซึ่งการมีจุดชาร์จที่สะดวกเข้าถึงง่าย นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ EV แล้ว ยังช่วยสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจของสาธารณชนต่อการใช้ EV อีกด้วย

นอกจากสร้างแรงจูงใจจาก 3 หลักการข้างต้นแล้ว รัฐบาลยังได้เตรียมออกนโยบายเพื่อผลักดันการใช้ EV ได้แก่ การสั่งห้ามขายรถยนต์ที่ใช้นํ้ามันเบนซินและดีเซลในปี ค.ศ. 2025 การสั่งห้ามใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลเป็นการชั่วคราวในวันที่มีมลพิษมากในปี ค.ศ. 2017 นโยบายการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ (Demand for green freight deliveries in public procurements)ในปี ค.ศ. 2018 นโยบายรถแท็กซี่ปราศจากมลพิษในปี ค.ศ. 2024 นโยบายการเพิ่มการเก็บภาษีลดความแออัด (Congestion Tax) อีก 74% สำหรับรถยนต์ที่ไม่ใช่ EV ในปี ค.ศ. 2017 นโยบายกำหนดเขตปราศจากมลพิษในปี ค.ศ. 2019 และการตั้งด่านเก็บค่าผ่านทางเพิ่มจาก 22 เป็น 73 จุด เป็นต้น

ด้วยการวางแผนที่ดีตั้งแต่การวางโครงสร้างด้านพลังงาน จนถึงการออกกฎ และมาตรการสร้างแรงจูงใจต่างๆ ทำให้นอร์เวย์สามารถที่จะผลักดันนโยบายการส่งเสริม EV ที่เหมือนมาจากโลกอนาคตให้เกิดขึ้นได้ในปัจจุบัน และยากที่ประเทศอื่นๆ จะตามได้ทัน

ทั้งนี้ ประเทศไทยจะสามารถประสบความสำเร็จในการผลักดันการใช้ EV เช่นเดียวกับนอร์เวย์ได้หรือไม่ อะไรคือข้อจำกัดของเรา มาติดตามกันในตอนต่อไปนะครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,349 วันที่ 18 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว