กฎหมายขยะอิเล็กทรอนิกส์ กลไกใหม่บังคับผู้ผลิตซื้อคืนซากผลิตภัณฑ์

19 มี.ค. 2561 | 11:27 น.
การดูแลปัญหาซากขยะอิเล็กทรอนิกส์กำลังจะกลายเป็นที่จับตา และเฝ้าระวังมากขึ้น เมื่อปริมาณเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องมือสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็น ทีวี พัดลม คอมพิวเตอร์ มือถือตกรุ่น หมดอายุการใช้งาน ทำให้ปริมาณซาก ขยะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หากไม่มีความชัดเจนในการกำจัดซากขยะที่ถูกต้อง จะกลายเป็นภัยใกล้ตัวได้ ทำให้ก่อนหน้านี้กรมควบคุมมลพิษเห็นความสำคัญและต้องการผลักดันการกำจัดซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีกฎหมายรองรับจัดการกับปัญหาดังกล่าวให้ถูกต้อง

“สุณี ปิยะพันธุ์พงศ์” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้านี้ หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการต่อร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น พ.ศ. ... ที่ล่าสุดร่างพ.ร.บ.นี้กำลังเข้าสู่ขั้นตอนการนำเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้าไปสู่คณะกรรมา ธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) แล้ว ซึ่งน่าจะอยู่ในขั้นตอนวิเคราะห์ ประมวล เรียบเรียง โดยที่ผ่านมาวิปก็เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปให้ข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจกับตัวร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวก่อนนำเข้าสนช.

[caption id="attachment_269005" align="aligncenter" width="335"] TP9-3349-1A สุณี ปิยะพันธุ์พงศ์[/caption]

“ถามว่าจะอีกนานมั้ยที่พ.ร.บ.นี้จะผ่านหรือไม่ผ่านก็ตอบไม่ได้ เนื่องจากกฎหมายตัวนี้ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขเวลาว่าจะต้องเสร็จภายในระยะเวลากี่วันตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็อยู่ในกลุ่มกฎหมายที่เรามีความพร้อม และอยู่ในไทม์ไลน์ที่สนช.จะต้องพิจารณาต่อ แต่ต้องการผลักดันให้กฎหมายออกมาภายใน 1-2 ปีนี้ โดยเอาแนวคิดในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ เข้ามา”

++ข้อกังวลจากผู้ผลิต
ส่วนคนที่ยังมีข้อคิดเห็นที่ห่วงใยกับพ.ร.บ.นี้ จะมาจากกลุ่มผู้ประกอบการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีข้อห่วงใย 2 ส่วนคือ 1.เรื่องของเงื่อนเวลา เพราะถ้ากฎหมายออกมาผู้ผลิตมีเวลาเพียง 360 วัน ในการจัดการให้เกิดระบบขึ้นมา ซึ่งผู้ประกอบการมองว่าระยะเวลาสั้นไป เพราะจะต้องไปเตรียมตัววางระบบทำแผน คล้ายๆ กับทำแผนธุรกิจ และในทางกลับกันสิ่งที่เขาผลิตออกมาและขายไปแล้วมันกลายเป็นขยะ เป็นซากไปแล้ว จะมีแผนอย่างไรที่จะไปเก็บรวบรวมจากที่เคยกระจายออกไปจะเก็บกลับเข้ามาอย่างไร 2. จะต้องมีจุด หรือศูนย์รวบรวมซากอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับรับคืนซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายที่กำหนด จะรับคืนอย่างไร ไปส่งที่ไหนจะกำจัดอย่างไร

ทั้งนี้ในกฎหมายจะเขียนโดยหลักการว่า ถ้าผู้ผลิต หรือผู้จำหน่ายขายสินค้าออกไปแล้ว เมื่อกลายเป็นซากก็มีหน้าที่รวบรวมซากผลิตภัณฑ์ของตัวเอง กลับเข้าสู่ระบบจะด้วยวิธีการใด หรือไปตั้งจุดรับตรงไหน ต้องมีการนำซากกลับมากำจัดให้ถูกต้อง โดยจุดรับคืนนี้จะต้องรับคืนได้ทุกยี่ห้อ ไม่ใช่รับคืนเฉพาะยี่ห้อของตัวเองเท่านั้น เพราะศูนย์ที่ตั้งขึ้นมานั้นจะต้องเล็งเห็นถึงความสะดวกของผู้บริโภคเป็นหลัก

++รวมได้มากยิ่งคุ้ม
ในแง่กรมควบคุมมลพิษมองว่า ถ้ารับซากอิเล็กทรอนิกส์มาได้มากเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้ออะไรยิ่งดี เพราะจะเกิดผลดีในแง่ความปลอดภัย และถ้ามองอีกด้านจะเห็นว่าการรับกลับมาแล้วนำไปถอดชิ้นส่วนหรือนำไปรีไซเคิล หรือกำจัด ยี่ห้อไหนก็ใช้วิธีการแบบเดียวกัน ฉะนั้นถ้าเขาสามารถนำซากกลับมาได้มากเท่าไหร่ จะยิ่งมีปริมาณที่คุ้มต่อการลงทุน เพราะซากเหล่านี้มีมูลค่า สามารถรีไซเคิลได้ ก็มองว่าเป็นการลงทุนที่ยังได้อะไรกลับเข้ามา

สำหรับประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายและกลไกที่จะมาจัดการกับปัญหาซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รวมถึงของเสียอันตรายจากชุมชนอื่นๆ ที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 4 แสนตันต่อปีอย่างถูกต้องและปลอดภัย

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ สะท้อนภาพให้เห็นว่า เวลานี้มีบางคนบอกว่าพ.ร.บ.นี้ จะไปกระทบต่อซาเล้ง หรือร้านรับซื้อของเก่า ซึ่งจริงๆแล้วเมื่อกฎหมายนี้ออกมาไม่ได้แปลว่า กิจการเหล่านี้จะไปต่อไม่ได้ แต่ยังสามารถประกอบอาชีพได้เหมือนเดิม เพียงแต่เราพยายามยกระดับขึ้นมาให้เขาทำให้ถูกต้องมากขึ้น ซึ่งเขาอาจจะมาร่วมมือด้วยรวมเป็นจุดหนึ่งในการเป็นศูนย์รวบรวมซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ เพราะตามกฎหมายระบุว่า ร้านรับซื้อของเก่า หรือซาเล้งรับซื้อมาได้ แต่ถ้ามาถอดชิ้นส่วนแยกทำไม่ได้แล้ว ถ้าจะทำก็ต้องมาขึ้นทะเบียนตั้งศูนย์ก็ต้องมาขึ้นทะเบียน และผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าก็ต้องรับรู้ด้วย โดยทั้งหมดนี้จะต้องมาขึ้นทะเบียนตามพ.ร.บ. ดังกล่าวให้เป็นเครือข่ายของผู้ผลิต

อย่างไรก็ตามร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น พ.ศ. ....ออกมาไม่ได้ช่วยทำให้ปริมาณการบริโภคที่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลดลง แต่จะช่วยลดซากอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกนำไปทิ้งหรือในที่กำจัดแบบไม่ถูกวิธีได้มากขึ้น โดยซากที่เคยทิ้งก็เข้าระบบมากขึ้น และช่วยทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำชิ้นส่วนกลับมาใช้ใหม่ได้

สุดท้ายอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ฝากไว้ก่อนเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้ว่าสิ่งที่อยากให้สานต่อคือเรื่องของแผนจัดการมลพิษ เพราะเป็นช่วงที่กฎหมายใหม่ก็ออกมาเยอะ และมีเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้นสิ่งที่อยากจะเร่งให้ดำเนินการเสร็จโดยเร็วคือเรื่องแผนการจัดการมลพิษทุกด้าน เป็นหน่วยงานที่กำกับติดตาม ฉะนั้นการที่จะกำกับติดตาม เราก็ต้องมีการออกมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันเราก็จะเป็นหน่วยติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย เพื่อเป็นการเฝ้าระวังแล้วรายงานต่อสาธารณชน รวมถึงให้คำแนะนำได้เมื่อเกิดปัญหา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,349 วันที่ 18 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว