ข้าพระบาท ทาสประชาชน : จุดหักเหในการเมืองไทย

16 มี.ค. 2561 | 11:11 น.
 

22251 ผมได้รับเอกสารบทวิเคราะห์ทางวิชาการ จาก คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล นักการเงินการคลัง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งให้ข้อคิดและมุมมองทางการเมืองที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยท่านให้ชื่อหัวข้อว่า "จุดหักเหในการเมืองไทย" ซึ่งเป็นมุมมองของผู้รู้ทางเศรษฐกิจ ที่มองการเมืองในมิติของเศรษฐกิจการเมือง ได้อย่างมีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง จึงขออนุญาตนำมาแชร์ให้ท่านที่สนใจและห่วงใยบ้านเมือง ได้อ่านและนำมาคิดวิเคราะห์ร่วมกัน ในบรรยากาศที่การเมืองไทยยังไร้อนาคต เผื่อว่าท่านทั้งหลายจะมีทางออกที่ดีให้กับบ้านเมือง โดยคุณธีระชัย ได้ให้มุมคิดและข้อวิเคราะห์โดยสรุปดังนี้ครับ

Image 1.นักวิเคราะห์การเมืองจำนวนมากคิดว่าการเมืองไทยถึงจุดหักเห (Inflection point คือจุดที่เปลี่ยนองศาทิศทาง ให้เบนออกไปจากเดิม) กลุ่มต่างๆ จึงเตรียมการที่จะสร้างอิทธิพลเพื่อให้ทิศทางใหม่เป็นไปตามใจของตน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มใดประสบความสำเร็จ ผลที่จะเกิดต่อสังคมไทยจะแตกต่างกันอย่างมาก

2.กลุ่มที่แสดงออกว่ามีการเตรียมความพร้อมน้อย คือพรรคการเมืองปัจจุบัน ถึงแม้ทุกพรรคจะพยายามขยายอิทธิพลไปครอบคลุมคนรุ่นใหม่ และใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือหลัก แต่เนื่องจากนโยบายและจุดยืนในเรื่องต่างๆ ยังคล้ายคลึงเดิม คือพรรคประชาธิปัตย์เน้นการรักษาสถานะเดิม (status quo) ส่วนพรรคเพื่อไทยเน้นการปรนเปรอชาวบ้านผ่านโครงการประชานิยมต่างๆ โดยไม่ให้กระทบกระเทือนคนรวย ไม่มีพรรคใดที่มีข้อเสนอแบบเปลี่ยนแปลงใหญ่ และทุกพรรคยังบริหารในสไตล์เดิมที่ควบคุมโดยไม่กี่บุคคล พร้อมที่จะแข่งขันกันโดยใช้เงินเหมือนเดิม แนวโน้มในอนาคต อิทธิพลจึงมีแต่จะลดลง แต่เนื่องจากพรรคเดิมมีฐานเสียงและผู้แทนเดิมที่ใกล้ชิดกับประชาชนมานาน ดังนั้น ถ้าหากมีการเลือกตั้งในเร็ววัน พรรคปัจจุบันก็ยังจะเป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาลอยู่เช่นเดิม แต่คาดได้ว่าคะแนนเสียงและอิทธิพลต่อประชาชนจะลดลง
แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ 3.กลุ่มที่พยายามวางแผนปูพื้นมาตลอดคือ คสช. ด้วยรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิในการแต่งตั้งวุฒิสภา การกุมอำนาจองค์กรอิสระ และการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อันมีลักษณะเป็นการสร้างบรรยากาศเอื้อประโยชน์ให้แก่นักธุรกิจระดับยักษ์ใหญ่และนายทุนระดับชาติเป็นสำคัญ พร้อมกับการปรนเปรอชาวบ้านผ่านโครงการประชานิยมต่างๆ เลียนแบบพรรคเพื่อไทย แต่เนื่องจากมีปัญหาในการบริหารเศรษฐกิจสืบเนื่องจากนโยบายปรนเปรอนายทุนทั้งคนไทยและต่างชาติ ถึงแม้ตัวเลขดี แต่การกระจายประโยชน์ให้แก่ประชาชนระดับล่างมีน้อย ประกอบกับไม่ปฏิรูปอย่างจริงจัง รวมทั้งมีปัญหาภาพพจน์คอร์รัปชันและไม่โปร่งใส โดยเฉพาะผลกระทบต่อพลเอกประวิตร ดังนั้น ถ้าหากมีการเลือกตั้งในเร็ววัน โอกาสที่ คสช.จะส่งผ่านอิทธิพลแนวคิดในเรื่องต่างๆ ไปยังอนาคตก็จะน้อยลง
26665 4.ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ทางการเมืองหลายประเทศจะเห็นได้ว่า ถ้ามีบุคคลหนึ่งที่จุดประกายให้ความหวังที่ชัดเจนแก่ประชาชน จะสามารถกวาดคะแนนเสียงได้อย่างรวดเร็ว เริ่มตั้งแต่การลงประชามติ Brexit ชัยชนะของ ”โดนัลด์ ทรัมป์” คะแนนของ “เมย์” ในอังกฤษที่ลดลงฮวบ และชัยชนะของ “มาครง” ที่เป็นการพลิกฝ่ามือ และถึงแม้พรรคฝ่ายซ้ายในยุโรปจะยังไม่ชนะเด็ดขาด แต่ก็มีความแข็งแกร่งมากขึ้น เช่น พรรคซีริซาในกรีซ พรรคโพเดมอสในสเปน และพรรคห้าดาวในอิตาลี เหตุผลที่กระแสการเมืองเอียงไปเช่นนี้ เพราะเศรษฐกิจประเทศตะวันตกอ่อนแอลง ส่วนหนึ่งเกิดจากการส่งออกของจีน อินเดีย และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่กดดันค่าแรงและเงินเดือนในประเทศตะวันตกไว้เป็นเวลานาน

อีกส่วนหนึ่งเกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีจุดอ่อน กรณีที่นำไปสู่ Sub-prime crisis ในสหรัฐฯ และปัญหาในยุโรปที่ใช้ single monetary policy และ multiple fiscal policy ดังนั้น ประชาชนในประเทศตะวันตกจึงเห็นได้ชัดเจนว่า ปัญหาเศรษฐกิจจะยังไม่สามารถแก้ไขได้ง่าย ประชาชนจึงไขว่คว้าทางเลือกที่เน้นดูแลชาวบ้านก่อนอื่น(America first)
600200000009 5.กรณีประเทศไทยที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนจากสังคมเกษตรไปเป็นสังคมอุตสาหกรรมนั้น เนื่องจากไม่พัฒนาการศึกษา การลงทุนอุตสาหกรรมจึงต้องอาศัยเทคโนโลยีต่างชาติเป็นหลัก และไม่มีความสามารถที่จะพัฒนายี่ห้อสินค้าของตนเอง เมื่อค่าแรงปรับสูงขึ้นๆ นักลงทุนต่างชาติก็จะเบนเข็มไปประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าแรงต่ำกว่า

นอกจากนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงต้น เมื่อมีการนำเครื่องจักรเข้ามาแทนแรงงาน ก็ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพได้ง่าย อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจึงพุ่งขึ้นไปเกิน 10% ในบางปี แต่เมื่อการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ถึงจุดอิ่มตัว ประกอบกับแรงงานไม่มีการศึกษา จึงไม่สามารถก้าวขึ้นสู่ขั้นบันใดไปยังผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้นได้ อัตราการขยายเศรษฐกิจจึงโน้มต่ำลงมาตลอด เหลือระดับ 5% ในช่วงก่อนการปฏิวัติ เหลือเพียง 3% หลังการปฏิวัติ
แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ 6.ที่ผ่านมา โครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่เอื้ออำนวยต่อการกระจายรายได้ จนล่าสุด Oxfam International จัดว่าไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับสามของโลก ซึ่งสำหรับประชาชนระดับรากหญ้านั้น เดิมที่เศรษฐกิจขยายตัว 5-6% ต่อปี ก็ยังพอมีผลประโยชน์ไหลล้นเขื่อนลงไประดับล่าง พออยู่ได้ แต่เมื่อเศรษฐกิจขายตัวเพียง 3% ต่อปี ผลประโยชน์ที่ trickle down จึงน้อยลงอย่างมาก สถานการณ์จึงไม่ต่างจากประเทศตะวันตก ที่ประชาชนระดับล่างมองอนาคตไม่สดใส ไม่มีความหวัง เป็นจุดหักเห
142911 7.กลุ่มที่มองเห็นจุดหักเหชัดเจน คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งรายที่น่าจับตาคือนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ประกาศจะจัดตั้งพรรคการเมืองกับนายปิยบุตร แสงกนกกุล นักกฎหมายกลุ่มนิติราษฎร์ ในคำสัมภาษณ์ บีบีซี (A) กลุ่มนี้มองเห็นว่า โครงสร้างการเมืองเดิมนั้นรายล้อมสถาบันกษัตริย์และรวมเอาสถาบันหลักคือกองทัพและตุลาการไว้ด้วย โดยตัดชนชั้นล่างออกไป แต่บัดนี้มาจึงจุดเปลี่ยนผ่านพร้อมกับการสิ้นสุดของรัชสมัยรัชกาลที่ 9 จึงเปิดโอกาสให้มีการแย่งชิงมวลชน โดยเสนอทางเลือกใหม่ให้แก่ประชาชน โดยนายปิยบุตรระบุชัดเจนว่าจะเป็นโมเดลซ้ายใหม่ดังในยุโรป ซึ่งนายใจ อึ๊งภากรณ์ได้วิเคราะห์ไว้ว่า นโยบายดังกล่าวยังไม่ตกผลึก (B) แต่คำสัมภาษณ์ในปี 2007 ก็ระบุชัดเจนว่านายธนาธร เคยสนใจแนวทางมาร์กซิสต์ ดังนั้น ถึงแม้โดยเนื้อแท้นายธนาธร เป็นนักธุรกิจระดับหมื่นล้าน แต่ย่อมจะสามารถสื่อต่อมวลชนในลักษณะที่สร้างความหวังให้แก่คนรากหญ้าได้ง่าย

8.วิธีทำให้จุดหักเหเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย และปลอดภัยต่อทุกสถาบันมากที่สุด คือการจัดตั้งรัฐบาลพระราชทาน และสภาประชาชนที่กระจายอำนาจไปทุกสาขาอาชีพและทุกหมู่เหล่า ที่ทำงานให้ประชาชนเห็นได้ประจักษ์ว่าสามารถสร้างฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้จริง สามารถทำการเกลี่ยประโยชน์จากคนกลุ่มร่ำรวยเพื่อช่วยเหลือคนรากหญ้าได้จริง แบบค่อยเป็นค่อยไป แบบที่เป็นธรรมแก่ทั้งสองชนชั้น เพื่อจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าให้แก่ประชาชน
1255641 ทั้งหมดคือมุมคิดและบทวิเคราะห์ของคุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ครับ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ผมก็มีความคิดเห็นที่คล้อยตาม เป็นมุมมองที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ผมเห็นตรงกันว่า การเมืองแบบ คสช.และการเมืองระบบพรรคการเมือง ที่กำลังผลัดหน้าทาแป้งแต่งตัว เตรียมเสนอตัวมาให้ประชาชนเลือก รองรับโครงสร้างทางเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2560 ยังเป็นการเมืองไทยที่ไร้อนาคต แต่ทางออกจะเป็นอย่างที่คุณธีระชัยเสนอหรือไม่ ผมยังนึกภาพไม่ออกและมิกล้าคาดเดาครับ

สุดแท้แต่ฟ้าดินจะบันดาล เพราะประเทศไทยอยู่เหนือการคาดการณ์ อะไรก็เกิดขึ้นได้ครับ

......................
คอลัมน์ : ข้าพระบาท ทาสประชาชน /หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3348 ระหว่างวันที่ 15-17 มี.ค.2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว