'ผลลัพธ์' หลังจากการ 'ปลดธง'

16 มี.ค. 2561 | 08:38 น.
‘คึกคัก’ เห็นได้ชัดว่า หลังจาก ‘ไทย’ ได้รับการปลด ‘ธงแดง’ เมื่อปลายปี 2560 จังหวัดท่องเที่ยวชื่อดังของไทยที่มีการปรับตัวอย่างเห็นได้ชัด อย่าง ‘จ.กระบี่’ มีสายการบินต่างประเทศเข้ามาทำการบินเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้, เยอรมนี, อเมริกา, ไอซ์แลนด์, โคลัมเบีย และอื่น ๆ อีกกว่า 20 ประเทศ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเส้นทางการบินใหม่ที่กำลังจะเปิดให้บริการจากท่าอากาศยานอื่น ๆ อาทิ เส้นทางแม่สอด-ย่างกุ้ง, หัวหิน-กัวลาลัมเปอร์ เป็นต้น ที่สำคัญยังเปิดเส้นทางบินเมืองรองอื่น ๆ ในอนาคต โดยหลายหน่วยงานด้านการบินต่างคาดการณ์ว่า จะมีจำนวนผู้ใช้บริการท่าอากาศยานเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วอย่างแน่นอน

นอกจากการบินที่คึกคักแล้ว ยังเกิดการลงทุนด้านสายการบิน ยกตัวอย่างเช่น สายการบินไทยเวียตเจ็ท (Thai Vietjet) ได้เข้ามาขยายฐานในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมฉลองเปิดตัว 3 เส้นทางบินใหม่ในประเทศ จากฐานปฏิบัติการบินที่สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อม กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-ภูเก็ต และภูเก็ต-เชียงราย และเที่ยวบินระหว่างประเทศ กรุงเทพฯ-ไฮฟอง (เวียดนาม) และเพื่อฉลองการเปิดเส้นทางใหม่ เวียตเจ็ทจัดโปรโมชันพิเศษ ‘ได้เวลาเวียตเจ็ท’ เปิดจองตั๋วโดยสารเริ่มต้นเพียง 0 บาท (ไม่รวมภาษีและค่าธรรมเนียม) ระหว่างวันที่ 9-11 ก.ย. ที่ผ่านมา


08-3343

ยิ่งไปกว่านั้น ในปีเดียวกันได้นำเข้าเครื่องบินรุ่น Airbus A320 ‘Sharklet’ โดดเด่นด้วยลวดลายบนตัวเครื่องบินที่ประทับโลโก ‘Amazing Thailand’ จนกระทั่งต่อมาในวันที่ 6 ต.ค. 2560 สายการบินไทยเวียตเจ็ทเปิดเส้นทางบินตรงจากกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) - เชียงราย และในวันที่ 8 พ.ย. 2560 สายการบินไทยเวียตเจ็ทผ่านการรับรองการเป็นผู้ดำเนินการเดินอากาศตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) อย่างเป็นทางการ โดยได้รับมอบใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่จาก ฯพณฯ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ด้าน แผนพัฒนาของไทยเวียตเจ็ทตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนเครื่องบินเป็น 30 ลำ ภายใน 3 ปีนับจากนี้ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว เพิ่มเครื่องบินปีละ 10 ลำ อีกทั้งยังได้มีนโยบายในการนำเครื่องบินแอร์บัสรุ่น A321 ซึ่งมีขนาดความจุผู้โดยสารมากขึ้น เข้ามาประจำการ เพื่อรองรับกับความต้องการในการเดินทางกับสายการบินที่สูงมากอีกด้วย โดยสอดรับกับกรอบวิสัยทัศน์ของกลุ่มเวียตเจ็ทในการเป็น “สายการบินยอดนิยมของผู้โดยสาร ทั้งในประเทศเวียดนามและระดับภูมิภาค”


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

พร้อมกันนี้ ยังมีสายการบินนิวเจน แอร์เวย์ส (New Gen Airways) ให้บริการด้านสายการบินมากว่า 3 ปี ปัจจุบันมีเส้นทางการบินทั้งหมด 38 เส้นทาง เชื่อมต่อการเดินทางเมืองท่องเที่ยวหลักของประเทศไทยไปสู่เมืองรองของประเทศจีน โดยจับกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเป็นหลัก มีฝูงบินทั้งหมด 12 ลำ ให้บริการด้วยเครื่องโบอิ้ง 737-400 จำนวน 4 ลำ และ 737-800 จำนวน 8 ลำ รองรับผู้โดยสารได้เพียงพอต่อความต้องการและสร้างควาสะดวกสบายตลอดการเดินทาง ที่สำคัญได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (AOC Re-certification) ที่ออกให้โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ใบรับรองดังกล่าว กพท. ได้ปรับปรุงการตรวจประเมินการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO กำหนด


08-3343-32

นอกจากนี้ ยังสร้างความแปลกใหม่ด้วยการลงทุนติดตั้งปีก ที่เป็นอุปกรณ์ช่วยประหยัดพลังงาน ถือเป็นสายการบินแรกในเอเชียที่ติดตั้งอุปกรณ์ ‘SPLIT SCIMITAR WINGLETS (SSW)’ ซึ่งช่วยในเรื่องของการประหยัดพลังงานในการบิน ทำให้ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงอีก 2% ทั้งนี้ สายการบินนิวเจนแอร์เวย์สได้เปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ไปเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2560 โดยมีเส้นทางนครราชสีมา-เชียงใหม่-นครราชสีมา และนครราชสีมา-ภูเก็ต-นครราชสีมา ได้เพิ่มไฟลต์บินดอนเมือง-โคราช-ดอนเมือง เพื่อตอบโจทย์ในการเดินทางของผู้โดยสาร ทั้งนี้ สายการบินนิวเจนแอร์เวย์สคาดหวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกระตุ้นการท่องเที่ยว พร้อมกับปักหมุดเป้าหมายในการก้าวสู่การเป็นสายการบินพาณิชย์ระดับเอเชีย ที่เชื่อมเครือข่ายเส้นทางบินหลัก ระหว่างไทย จีน และประเทศอื่น ๆ อย่าง อินเดีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน


08-3343-33

เมื่อเที่ยวบินเติบโต การเพิ่มฝูงบินก็มีอัตราสูงขึ้นตามลำดับ เพื่อรองรับการเดินทางในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ยกตัวอย่างเช่น สายการบินไทยไลอ้อนแอร์เพิ่มเครื่องบินโบอิ้ง 737-900 จำนวน 5 ลำ รองรับเที่ยวบินต่างประเทศ จุดหมายปลายทางที่กวางเจา บาหลี ออสเตรเลีย และเที่ยวบินเข้าสู่เมืองรอง อย่าง ร้อยเอ็ด นราธิวาส รวมทั้งสายการบินแอร์เอเชียก็ได้ลงนามสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัสเอ 320 อีก 14 ลำ เพื่อเสริมศักยภาพฝูงบินในประเทศมาเลเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ด้านสายการบินบางกอกแอร์เวย์สก็เสริมฝูงบินรองรับเส้นทางในอนาคตเช่นกัน ด้วยการซื้อเครื่องบินโดยสารแบบเอทีอาร์ 72-600 จำนวน 4 ลำ ผลจากการขยับการพัฒนาในธุรกิจการบินของทุกสายการบินต่อจากนี้ ไทยจะสามารถเป็นผู้นำด้านการบินในภูมิภาคอาเซียนและก้าวสู่การเป็น 1 ในศูนย์กลางการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,343 วันที่ 25-28 ก.พ. 2561 หน้า 08
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ก้าวผ่านการ 'ปลดธงแดง ICAO' หลุมอากาศแห่งประสบการณ์ ... มิติใหม่สู่การเป็น 'ศูนย์กลางการบิน'
ถอดรหัสปลดธงแดง ICAO เป้ามี.ค.61สลัดปม FAA ดาวน์เกรดไทย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว