แจงกรณีการประมูลงาน "สนามบินขอนแก่น"

16 มี.ค. 2561 | 08:28 น.
- 16 มี.ค. 61 - นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวถึง การประมูลท่าอากาศยานขอนแก่นอัปผลงานผู้รับเหมาสูงผิดปกติ เอื้อ “ทุนใหญ่” ระบุมีข้อพิรุธในเงื่อนไขการประกวดราคาโครงการปรับปรุงท่าอากาศยานขอนแก่น โดยมีประเด็น การปรับปรุงท่าอากาศยานขอนแก่น เพื่อยกระดับสู่ท่าอากาศยานนานาชาติ มูลค่า 2,250 ล้านบาท เกิดข้อพิรุธใน TOR ที่กำหนดผลงานของผู้เข้าร่วมประกวดราคาว่า ต้องเคยผ่านงานไม่ต่ำกว่า 900 ล้านบาท ที่คิดเป็น 40% ของมูลค่าโครงการฯ เบื้องต้นก็คิดว่าเป็นความหวังดีของผู้ร่าง TOR ที่ต้องการผู้รับเหมาโปรไฟล์ดีเข้าทำงาน แต่ระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการกำหนดผลงานฯ นั้น ระบุให้เริ่มต้นได้ตั้งแต่ 25% และโดยปกติ งานของราชการและงานเกี่ยวกับท่าอากาศยานทั่วประเทศก็จะกำหนดผลงานอยู่ที่ระดับ 25–30% ไม่เกินนี้ ทว่างานท่าอากาศยานขอนแก่นสูงถึง 40% ของมูลค่าโครงการฯ แม้จะไม่ขัดกับระเบียบ แต่ทำให้ผู้รับเหมาหลายรายไม่สามารถเข้าร่วมประกวดราคาได้

ในการนี้ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน เผยถึงกรณีการประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานขอนแก่น ว่า โครงการดังกล่าวกรมท่าอากาศยานได้ดำเนินการ โดยวิธีการประกาศเชิญชวนทั่วไป ด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิคส์ (e-bidding) โดยได้ระบุคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอไว้อย่างชัดเจน และเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 บทเฉพาะกาล ม.122 ให้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิคส์ พ.ศ.2549 ใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พรบ.ฉบับนี้จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบหรือประกาศในเรื่องนั้นๆ ตามพระราชบัญญัติบังคับ และตามหนังสือที่ นร 0202/ว1 ลงวันที่ 3 ม.ค. 2537 มาตรการที่ 4 การกำหนดผลงานของผู้เสนอราคา ขั้นต่ำของงานก่อสร้างได้เท่าที่จำเป็น และกำหนดได้ไม่เกิน 50% ของวงเงินที่จะจ้างในครั้งนั้น

สำหรับการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานขอนแก่น เป็นงานอาคารที่มีความซับซ้อน และต้องใช้เทคนิคเฉพาะด้านในการก่อสร้าง เช่น ระบบสายพานลำเลียงสัมภาระ ระบบควบคุมอาคารอัตโนมัติ งานสะพานเทียบเครื่องบินและระบบนำจอดอากาศยาน และการก่อสร้างจะต้องดำเนินการในขณะที่มีการใช้งานและบางส่วนเป็นพื้นที่เขตการบิน (Air Side) ซึ่งต้องมีการรักษาความปลอดภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานของ ICAO ทั้งนี้ หากพิจารณาจากการกำหนดผลงานของหน่วยงานราชการอื่น และโครงการก่อสร้างอื่นๆ ก็มีการกำหนดผลงานในระดับเดียวกัน ดังนั้น การกำหนดผลงานของผู้เข้าร่วมประกวดราคาการก่อสร้างครั้งนี้ ที่ตั้งอยู่ที่ 40% จึงถือเป็นการกำหนดตามมาตรฐานและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ดังที่กล่าวถึงข้างต้น โดยจากการรวบรวมข้อมูลบริษัทที่มีคุณสมบัติสามารถเข้ายื่นเสนอราคาได้ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เคยดำเนินโครงการก่อสร้างในลักษณะใกล้เคียงกัน พบว่า มีไม่ต่ำกว่า 42 บริษัท ที่สามารถยื่นเสนอราคาได้ จึงเห็นได้ว่าการประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานขอนแก่น ดำเนินการอย่างถูกต้อง ชัดเจน และเป็นไปตามระเบียบทุกประการ