"ไทย-มาเลเซีย" กระชับความร่วมมือ ด้านความมั่นคง รับมือภัยคุกคามสมัยใหม่

15 มี.ค. 2561 | 11:50 น.
-15 มี.ค. 61- เวลา 13.30 น. ดาโต๊ะ สรี ฮิซัม มูดิน บิน ตุน ฮุสเซน (Dato’ Seri Hishammuddin Bin Tun Hussein) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมาเลเซีย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอขา นายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญการหารือดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมาเลเซียอีกครั้ง ในโอกาสเดินทางมาเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee – GBC) ไทย – มาเลเซีย ครั้งที่ 54 ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียดำเนินมาอย่างใกล้ชิดและแน่นแฟ้น มีการแลกเปลี่ยน การเยือนระหว่างผู้นำทั้งในระดับรัฐบาลและกองทัพอย่างต่อเนื่อง
นายกรัฐมนตรีมีความยินดีที่การจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทยและมาเลเซียเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งได้มีการลงนามร่วมกันระหว่างเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติของทั้งสองฝ่ายเมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา สำหรับการบริหารจัดการชายแดนไทย-มาเลเซียนั้น ทั้งสองฝ่ายมีกลไกความร่วมมือภายใต้คณะกรรมการจัดทำหลักเขตแดนร่วมระหว่างไทย–มาเลเซีย ซึ่งได้มีการหารือกันเรื่องการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจเรื่องรั้วเดี่ยวบนเส้นเขตแดนไทย–มาเลเซีย
162933 ในการนี้นายกรัฐมนตรีแสดงความประสงค์ให้ไทยและมาเลเซียกระชับความสัมพันธ์ในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์มากกว่าการเป็นคู่แข่งขัน เพื่อผลักดันมูลค่าการค้าระหว่างกันทั้งมากขึ้น พร้อมขอให้มาเลเซียสนับสนุนสินค้าทางการเกษตรของไทย โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาราคายางพาราไม่ให้ตกต่ำ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมาเลเซียรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาพบกับนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง และแสดงความชื่นชมการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงและก้าวหน้าในทุกมิติ โดยเฉพาะความมีเสถียรภาพและความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย พร้อมกล่าวว่านายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ฝากความระลึกถึงมายังนายกรัฐมนตรี

ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นด้านความมั่นคง โดยเห็นว่าปัจจุบันประเด็นความมั่นคงมีความซับซ้อน จะต้องคำนึงถึงทุกมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ Cyber Security และ Financial Security อย่างไรก็ตามต้องไม่ละเลยเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ และการก่อการร้าย ทั้งสองฝ่ายพร้อมกระชับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นเพื่อรับมือกับภัยคุกคามสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมั่นคงทางสื่อออนไลน์ ที่ปัจจุบันมีการลงข้อมูลข่าวบิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้เป็นปัญหาสังคมและความมั่นคงของชาติ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้มีการเปิดฮอตไลน์ (Hotline) เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารโดยตรง สำหรับเจ้าหน้าที่ในทุกระดับที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคง
162934 สำหรับปัญหาโรฮีนจานั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาโดยลำพัง แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากนานาประเทศ ทั้งนี้การให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน ให้ชาวโรฮีนจามีคุณภาพชีวิตที่ดี จะเป็นการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ได้แก่ การสนับสนุนอาหาร การศึกษา และสาธารณสุข ซึ่งจะทำให้ปัญหาโรฮีนจาลดลงได้

โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแสดงความชื่นชมรัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยสันติวิธี และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่สันติสุขอย่างยั่งยืนในพื้นที่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าการพูดคุยอยู่ในช่วงของการสร้างความไว้เนื้อเชื้อใจระหว่างคณะพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐซึ่งต้องอาศัยเวลา

โดยขณะนี้ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการหารือขั้นตอนการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) พร้อมแสดงความขอบคุณมาเลเซียที่มีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ด้านการอำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหวังจะได้รับความร่วมมือดังกล่าวจากฝ่ายมาเลเซียต่อไป

ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าจะนำประเด็นที่พูดคุยกันวันนี้ ไปหารือกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ 2018 เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างกัน ให้ไทย-มาเลเซียเติบโตอย่างยั่งยืน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว