มัณฑะเลย์ ความสง่างามริมฝั่งน้ำ ความเรียบง่ายที่เป็นนิรันดร์

08 เม.ย. 2561 | 02:06 น.
MP28-3349-7A เคยรู้สึกไหมว่าบางครั้งเมืองที่เต็มไปด้วยความสะดวกสบาย มีอินเตอร์เน็ต มีร้านอาหาร มีโรงแรมอย่างดี พร้อมกับห้างสรรพสินค้า รอบทิศแม้จะทำให้การเดินทางเต็มไปด้วยความรื่นรมย์ แต่เมื่อย้อนกลับไปนึกถึงกลิ่นความทรงจำของเมืองนั้นๆ เรากลับสามารถหลงลืมเมืองเหล่านี้ไปได้ง่ายๆ และนานๆ ทีถึงย้อนกลับมาคิดถึงสักครั้ง ต่างกับเมืองที่แทบไม่มีอะไรที่เรียกว่าความสะดวกสบาย ร้านรวงต่างๆ ก็มีแต่ของพื้นๆ แต่กลับเต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวาที่ “คนในพื้นที่” ร่วมกันแต่งแต้มกันทีละเล็ก ทีละน้อย หลอมรวมเป็นภาพความทรงจำที่อยากย้อนให้คิดถึงไม่มีวันเบื่อ และแล้วก็มาถึงตอนจบ ของการตามกลิ่นชาใน 3 เมืองใหญ่ของพม่า ตั้งแต่ ย่างกุ้ง มาถึง เมืองเก่าอย่างพุกาม และมาปิดท้าย พร้อมกับฉากของพระอาทิตย์ที่กำลังลาลับขอบฟ้าที่เมืองมัณฑะเลย์

[caption id="attachment_268682" align="aligncenter" width="503"] พิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี เริ่มต้นตั้งแต่ก่อนฟ้าสางของทุกวัน พิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี เริ่มต้นตั้งแต่ก่อนฟ้าสางของทุกวัน[/caption]

ชาพม่าที่กรอกมาจนเต็มขวดเก็บความร้อนที่พกติดตัวข้ามพรมแดนไปหลายประเทศจนโลโกข้างขวดเริ่มจะซีดและเลือนๆ ไป คงจะหมุนและแกว่งจนเวียนหัวกับเส้นทางที่ลัดเลาะไปในชุมชนบนรถแท็กซี่คันเล็ก สภาพพอให้ขับและนั่งได้ ด้านข้าง ด้านหน้า และด้านหลัง ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน เครื่องปรับอากาศภายในรถไม่จำเป็นมากนักเพราะอากาศโดยรอบค่อนข้างเย็น ทำให้เราชื่นชมบรรยากาศระหว่างทาง พลางจิบชาอย่างระวังเพราะกลัวจะกระฉอกเสียจนหมดกระบอก เคล้ากับเสียงแตรรถที่บีบเตือนทั้งคน ทั้งรถไปตลอดทาง ทันทีที่รถเคลื่อนช้าลงและเริ่มหามุมจอดส่งใต้ร่มไม้ สายตาก็ได้สัมผัสกับทะเลสาบอันกว้างใหญ่เคลือบด้วยสีทองระยิบระยับจากดวงอาทิตย์ที่เริ่มหย่อนตัวแตะริมผิวนํ้า ชาวประมงที่พากันออกไปจับปลาเริ่มหันหัวเรือเข้าหาฝั่ง นำสายตาเราสู่สะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก จุดหมายปลายทางที่เริ่มต้นจากการเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในชุมชน สู่มุมถ่ายภาพที่งดงามและตราตรึงใจไม่แพ้แลนด์มาร์กสำคัญๆ ระดับโลก

MP28-3349-6A เสียงรองเท้าแตะเดินกระทบผิวไม้เป็นจังหวะ ทำให้เราละสายตาจากการมองฝูงนกตัวเล็กที่พากันบินมาเกาะที่ต้นไม้ที่ยืนอย่างโดดเดี่ยวกลางทะเลสาบ เริ่มเดินออกไปยังสะพานเชื่อมต่อระหว่างแผ่นดินอันกว้างใหญ่ทางตอนใต้กองเมืองอมรปุระ มุ่งตรงสู่เจดีย์เจ๊าต่อจีซึ่งตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของทะเลสาบ ความยาวของสะพานอูเบ็งที่ยาวถึง 1,200 เมตร ทำให้การสัญจรไปมาของชาวบ้านนอกจากการเดิน ก็คือการปั่นจักรยานข้ามทะเลสาบ ระหว่างทางมีจุดพักขาซึ่งทำเป็นที่นั่งง่ายๆ กระจายอยู่เป็นระยะๆ เนื้อไม้ที่ทนแดด ทนฝน และลมพายุมามากกว่า 200 ปี สะท้อนภาพความอุดมสมบูรณ์ของเมียนมาที่เต็มไปด้วยไม้สักคุณภาพดีอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งเป็นเพียงไม้สักจำนวน 1,086 ต้นที่เหลือจากการรื้อพระราชวังเก่าแห่งกรุงอังวะ เมื่อครั้งที่พระเจ้าปดุงทรงมีพระราชดำริให้ย้ายเมืองหลวงจากเมืองอังวะมายังเมืองอมรปุระเท่านั้น หากพระราชวังเก่ายังอยู่เชื่อแน่ว่าความยิ่งใหญ่ของงานช่างไม้โบราณในดินแดนที่แนบชิดแต่ดูเหมือนห่างเหินนี้ คงจะได้รับการปักหมุดให้เป็นสถานที่สำคัญระดับโลกอย่างแน่แท้

MP28-3349-5A เมื่อคิดถึงฝีมือของช่างไม้แห่งเมืองมัณฑะเลย์ที่ขึ้นชื่อว่าละเอียดลออที่สุดในโลก วันรุ่งขึ้นหลังจากร่วม “พิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี” พุทธศิลป์อันลํ้าค่าฝีมือช่างแห่งแคว้นยะไข่ที่วัดมหามัยมุนีตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง ซึมซับความศรัทธาอันแรงกล้าของพุทธศาสนิกชนชาวเมียนมาที่มาเฝ้ารอช่วงเวลาสำคัญในทุกๆ เช้า ความเชื่อที่ว่าพระมหามัยมุนีเป็นพระพุทธรูปมีชีวิต เพราะพระพุทธเจ้าได้ประทานลมหายใจอันศักดิ์สิทธิ์เข้าไปในพระวรกายของพระพุทธรูปองค์นี้ ได้กลายเป็นต้นกำเนิดของพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์สืบต่อกันมานับพันปี ผ้าขนหนูผืนเล็กที่กรุ่นกลิ่นนํ้าอบนํ้าหอมที่ชาวบ้านเตรียมไว้วางเรียงอย่างเป็นระเบียบ ค่อยๆ ถูกส่งต่อเพื่อเช็ดพระพักตร์พระมหามัยมุนีและนำกลับไปบูชาที่บ้านหรือส่งต่อให้ลูกหลานนำไปกราบไหว้บูชาบนหิ้งพระต่อไป

[caption id="attachment_268684" align="aligncenter" width="503"] พระอาทิตย์อัสดงที่คุ้งน้ำทะเลสาบตองตะมาน พระอาทิตย์อัสดงที่คุ้งน้ำทะเลสาบตองตะมาน[/caption]

หลังจากอิ่มกับก๋วยเตี๋ยวสูตรต้นตำรับในร้านด้านหน้าวัด หัวใจที่รออย่างใจจดใจจ่อเพื่อไปพบกับพระที่นั่งเพียงองค์เดียวที่รอดพ้นจากเพลิงสงครามในสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรากฏความงดงามวิจิตรของสกุลช่างอมรปุระ-มัณฑะเลย์ ให้เราได้สัมผัสเต็มๆ ตาที่ “วิหารชเวนันดอว์” อดีตพระราชมณเฑียรทองในพระราชวังมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นที่นั่งทรงธรรมของพระเจ้ามินดง เมื่อครั้งทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์อลองพญา เนื่องด้วยเจ้ามินดงทรงสวรรคต ณ พระที่นั่งแห่งนี้ เมื่อขึ้นสู่แผ่นดินใหม่ จึงมีการชะลอพระที่นั่งแห่งนี้ออกมาประกอบสร้างใหม่ด้านนอกพระราชวังเป็นเขตสังฆาวาส

[caption id="attachment_268685" align="aligncenter" width="503"] คุณหมอแก้วที่กำลังอุดหนุน ของที่ระลึกจากเด็กน้อยชาวเมียนมา คุณหมอแก้วที่กำลังอุดหนุน ของที่ระลึกจากเด็กน้อยชาวเมียนมา[/caption]

วิหารไม้สักทองหลังคาทรงปราสาท 5 ชั้น แม้จะไม่ยิ่งใหญ่เหมือนปราสาทราชวังที่ปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป แต่ความวิจิตรในทุกรายละเอียด ตั้งแต่บันไดซี่แรก บานประตู หน้าต่าง ฝาผนัง จนถึงเพดาน ภายในยังเห็นการหุ้มเนื้อทองบนเนื้อไม้เมื่อกระทบกับแสงไฟอ่อนๆ กลายเป็นความสว่างที่ส่องประกายเจิดจรัสอย่างงดงาม ยิ่งได้นั่งพิศพิจารณาลวดลายที่สลักอย่างบรรจงแล้ว เหมือนทำให้เราได้ย้อนนึกถึงอดีต ยุคที่พลังสร้างสรรค์ล้วนเกิดจากพลังของสมองและสองมือมนุษย์ที่ค่อยนำความคิดที่จับต้องไม่ได้ เปลี่ยนแผ่นไม้ที่แข็งแกร่งเป็นลวดลายอันอ่อนช้อยประกอบสร้างเป็นศิลปะที่สะท้อนความเชื่อในการปกครองแบบเทวราชาที่มีพระพุทธศาสนาเป็นหลักยึดเหนี่ยวนำหัวใจ

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2 มองไปยังท้องฟ้าทิศตะวันตกดวงอาทิตย์แผ่แสงไม่ต่างจากวันวาน แต่ความเรียบง่ายของเมืองเล็กๆ แห่งนี้ยังคงรัญจวนในหัวใจ

ภาพ: พ.ญ. ธาริณี ก่อวิริยกมล
เรื่อง: บุรฉัตร ศรีวิลัย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว