ก้าวผ่านการ 'ปลดธงแดง ICAO' หลุมอากาศแห่งประสบการณ์ ... มิติใหม่สู่การเป็น 'ศูนย์กลางการบิน'

14 มี.ค. 2561 | 12:57 น.
1946

หลังจากเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2560 ที่ผ่านมา สำนักงานใหญ่ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization หรือ ICAO) นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ได้มีการประชุมและ ICAO SSC Committee เพื่อพิจารณาเห็นชอบให้ประเทศไทยพ้นจากการเป็นประเทศที่มีข้อบกพร่องโดยมีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns) และผลจากมติดังกล่าว ทำให้สถานภาพของประเทศไทยในเว็บไซต์ ICAO ในส่วนของ Safety Audit Results ที่แต่เดิมเป็นรูปธงแดงอยู่ด้านหน้า นับตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย. 2558 ปลดออกเป็นที่สำเร็จ

จากการพูดคุยกับ นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (ผอ.กพท.) ในประเด็น ICAO ว่าหมายถึงงานใดและสำคัญอย่างไรต่อการบินพลเรือนไทย โดยทาง ผอ.กพท. ฉายภาพรวมว่า ICAO คือ องค์กรกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ และวิธีปฏิบัติที่ใช้ในกิจการการบินทุกประเภท อาทิ กฎข้อระเบียบข้อบังคับ การออกแบบอากาศยาน มาตรฐานระบบสื่อสารและวิทยุช่วยบิน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์หลัก คือ ความปลอดภัยอันสูงสุดของการบิน มีชื่อเต็ม The International Civil Aviation Organization แปลเป็นภาษาไทยหมายถึง “องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ” ซึ่งเป็นหน่วยงานพิเศษของสหประชาชาติ ปัจจุบันมีสมาชิก 191 ประเทศทั่วโลก หนึ่งในนั้น คือ ประเทศไทย


07-3343-47

นายจุฬา เผยต่ออีกว่า ตลอดระยะเวลากว่า 1 ทศวรรษ ประเทศไทยมีการพัฒนาในทุกด้านอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อมโยงกับการบินพลเรือนในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยว การขนส่ง ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับบุคคลทั้งสิ้น ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศจะเข้ามาตรวจเข้มประเทศไทยในหลากหลายปัจจัย เพื่อต้องการมั่นใจว่า ระบบความปลอดภัยของไทยได้มาตรฐานอย่างแท้จริง

สำหรับปัจจัยการติดธงแดงของประเทศไทยจาก ICAO นั้น ได้มีสัญญาณเตือนมาแล้วมากกว่า 1 ครั้ง ทั้งในปี 2552 และปี 2554 จนกระทั่งในปี 2558 ช่วงเดือน ม.ค. องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ได้เข้ามาตรวจสอบการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า ประเทศไทยมีความบกพร่องเกี่ยวกับกระบวนการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ ที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน (SSC) จำนวน 33 ข้อ ส่งผลให้เราติดธงแดงอย่างเต็มตัว และกระทบต่อภาคเศรษฐกิจในทุกมิติ


บาร์ไลน์ฐาน

หลังจากวันที่ประกาศติดธงแดง รัฐบาลได้เข้ามาเดินหน้าในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยมอบให้ กพท. รื้อตัวบทกฎหมาย ข้อบังคับต่าง ๆ กว่า 40 ฉบับ ที่เป็นปัญหาสะสมมานาน เปิดโอกาสให้ กพท. ทำงานโดยไม่มีการแทรกแซง ทำให้การเสียดทานแบบเดิม ๆ หมดไป ซึ่งเอื้อต่อการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอนและเป็นรูปธรรม ประเทศไทยเริ่มการปฏิรูปมาตรฐานการกำกับดูแล ด้วยการปรับโครงสร้างองค์กรแยกงานกำกับดูแลมาตรฐานการบินให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เข้ามาทำหน้าที่ในด้านการบริหารด้านมาตรฐานการบิน มาตรฐานสนามบิน การออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (AOL) และใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) งานด้านความปลอดภัย และการรักษาความปลอดภัยด้านการบิน

ส่วนงานด้านการให้บริการสนามบินมีการจัดตั้งกรมท่าอากาศยาน เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่ดูแลบริหารสนามบินในความรับผิดชอบของกรมการบินพลเรือนเดิม (บพ.) จำนวน 28 แห่ง นอกจากนั้น ได้ตั้งหน่วยงานสอบสวนอุบัติเหตุ และอุบัติการณ์รุนแรงของอากาศยาน และหน่วยงานการค้นหาช่วยเหลืออากาศยานและเรือประสบภัยแห่งชาติในสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม


07-3343-49

ผอ.กพท. เล่าต่ออีกว่า อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนานสำหรับการยกระดับการบินพลเรือน คือ บุคลากรในการทำหน้าที่ตรวจสอบด้านการบิน ซึ่งเดิมมีเพียง 11 คน ดูแลกับสายการบิน 41 แห่ง ทางรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณเพื่อใช้ในการจ้างเพิ่มเติมและพัฒนาคุณภาพผู้ตรวจสอบความปลอดภัยในการบิน รวมทั้งว่าจ้างองค์กรผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท CAA International (CAAi) สหราชอาณาจักร เพื่อร่วมดำเนินการกับผู้ตรวจสอบของไทย ที่สำคัญได้รับความร่วมมือที่ดีจากทั้งฝรั่งเศส สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นในการช่วยเหลือการฝึกอบรมบุคลากร และสนับสนุนในด้านเทคนิคการตรวจสอบ

ในมิติที่ทำให้ทาง ICAO ให้ธงแดงไทย คือ การออกใบอนุญาตผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ดำเนินการเร็วมาก จนทำให้เกิดข้อสงสัยในความเข้มงวดในการตรวจสอบ การแก้ไขครอบคลุมถึงการตั้งกฎเกณฑ์ที่สอดคล้องกับมาตรฐาน ICAO ในทุกกระบวนการ ส่งผลให้บางสายการบินที่ประเมินศักยภาพตนเองว่า ยังไม่พร้อม ต้องขอถอนตัวออกไปจากการที่เราได้นำมาตรฐาน ICAO มาใช้ออกกฎเกณฑ์และนำไปปฏิบัติจริงอย่างเข้มข้น ทำให้ในการตรวจประเมินของ ICAO ระหว่างวันที่ 20-27 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา ผ่านไปได้ด้วยดี

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

ระยะเวลากว่า 2 ปี 4 เดือน ที่ใช้สำหรับการปลดธงแดง ชี้ชัดได้เป็นอย่างดีว่า ประเทศเราแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและฉับไว สถิติที่ประเทศอื่นใช้เวลาในการแก้ปัญหาต่ำสุด คือ 2 ปี 10 เดือน นายจุฬา เผยต่อว่า แผนการพัฒนาของ กพท. ต่อจากนี้ นอกจากการเข้ามาดูแลมาตรฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศให้เป็นไปในระดับสากลแล้ว เราจะยกระดับบุคลากรในอุตสาหกรรมการบินของไทยให้มีมาตรฐานและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวครอบคลุมถึงการพัฒนาสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน หลักสูตรการเรียนการสอน ครูผู้สอนการออกใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ต่าง ๆ เกี่ยวกับการบิน โดยตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการเรียนการสอนด้านการบินพลเรือนของอาเซียนและเอเชียต่อไป

นอกจากนั้น จะดำเนินการยกระดับมาตรฐานสนามบินภายในประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย ยิ่งไปกว่านั้น ยังพร้อมส่งเสริมให้เกิดธุรกิจการบินขนาดเล็ก เพื่อรองรับเครื่องบินส่วนตัวจากกลุ่มนักธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเติบโตขึ้นในไทยในอนาคต ขณะเดียวกัน จะไม่มองข้ามการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน อาทิ อุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน เป็นต้น สภาวะแวดล้อมดังกล่าวจะช่วยพัฒนาให้ไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aeropolis) และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ได้เร็วขึ้น


07-3343-50

ทั้งนี้ กพท. ยังพยายามที่จะสนับสนุนภารกิจของหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในมิติเมืองรอง เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงเมืองรองได้ง่ายขึ้น เช่น การสนับสนุนการเปิดเส้นทางในการเดินทางจากภูมิภาคหนึ่งไปยังภูมิภาคหนึ่ง โดยไม่ต้องไปเปลี่ยนเครื่องที่ กทม. ยกตัวอย่างเช่น เที่ยวบินเชียงใหม่-ภูเก็ต เที่ยวบินอุบลราชธานี-กระบี่ เป็นต้น นอกจากเพิ่มทางเลือกใหม่กับนักท่องเที่ยวในมิติความคล่องตัว ยังสร้างรายได้กระจายทั่วทุกท้องถิ่น ที่สำคัญจะมีผลลดความหนาแน่นของสนามบินใน กทม. พูดง่าย ๆ ว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยมีการบินเป็นตัวกระตุ้น

แผนพัฒนาที่กล่าวมาข้างต้น สอดรับกับการคาดการณ์จากหลากหลายหน่วยงานเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น อีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า การปลดธงแดงจะส่งผลดีต่อไทยทั้งในอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว สำหรับอุตสาหกรรมการบิน การปลดธงแดงจะช่วยสร้างความเชื่อถือของหน่วยงานด้านการบินของไทย และสร้างความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยวในการเลือกใช้สายการบินสัญชาติไทย


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

“การได้รับธงแดงเป็นบทเรียนที่สำคัญให้วงการการบินพลเรือนของไทยได้ตระหนักและให้ความสำคัญถึงมาตรฐาน เมื่อมองในมุมการพัฒนา นี่คือ โอกาสที่ดีที่เราจะลุกขึ้นและก้าวเดินต่อไปอย่างประสบการณ์ท่ามกลางสภาพการแข่งขันรอบด้าน การสร้างมาตรฐานในระดับสากลจะช่วยภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่น และดึงดูดผู้ประกอบการต่างชาติให้เข้ามาลงทุน ท่องเที่ยว และการขนส่ง อันนำมาสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครบวงจรที่ยั่งยืนในอนาคต” นายจุฬา สุขมานพ กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มแห่งความมั่นใจ


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,343 วันที่ 25-28 ก.พ. 2561 หน้า 07
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

การพัฒนาศูนย์กลางการบิน
กรมท่าอากาศยานรุกพัฒนา 28 สนามบินสู่ศูนย์กลางการบินภูมิภาค


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว