มธ.ปันศูนย์พัทยารับอีอีซี ดึงMGพี่เลี้ยงผลิตคนป้อนอุตฯยานยนต์

17 มี.ค. 2561 | 05:32 น.
แผนการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี ถือเป็น 1 ในแผนงานการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบกรอบการพัฒนาไปแล้ว เพื่อเตรียมบุคลากรรองรับให้ตรงตามความต้องการใน 10กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือเป็นสถาบันการศึกษาหนึ่ง ที่ถูกมอบหมายจากสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ สกรศ.ในการผลิตบุคลากรขึ้นมารองรับ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์ รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายบริหารทั่วไป มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงการดำเนินงานสร้างบุคลากรไว้อย่างน่าสนใจ

[caption id="attachment_268310" align="aligncenter" width="441"] รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์ รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์[/caption]

++จับมือMGผลิตแรงงาน
รศ.พรชัย กล่าวว่าปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีศูนย์จัดการเรียนการสอนอยู่ที่พัทยา ซึ่ง รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีนโยบายชัดเจนที่อยากจะพัฒนาให้ศูนย์พัทยาตอบโจทย์กับการพัฒนาอีอีซี ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประชุมระหว่างมหาวิทยาลัยทั้ง 9 แห่ง ร่วมกับสกรศ.ไปหลายครั้งแล้ว ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับมอบหมายให้ดูเรื่องการจัดทำหลักสูตรเกี่ยวกับยานยนต์แห่งอนาคต เพราะมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ไปเปิดหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ที่ศูนย์พัทยาอยู่แล้วซึ่งในเดือนมีนาคมนี้ จะมี 2-3 คณะที่เกี่ยวข้องร่วมกับภาคเอกชน เดินทางไปประเทศจีน ไปเจรจากับบริษัท เซี่ยงไฮ้ ออโต้โมทีฟ อินดัสทรี คอร์ปอเรชั่นฯ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากจีน ภายใต้แบรนด์เอ็มจีเพื่อที่จะให้มาร่วมสนับสนุนหลักสูตรอุตสาหกรรม หรือวิศวกรรมยานยนต์สมัยใหม่

อีกทั้งทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ กำลังเจรจากับมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง ซึ่งได้มีความร่วมมือกับบริษัท เซี่ยงไฮ้ ออโต้โมทีฟฯ อยู่แล้วฉะนั้น เชื่อว่าความร่วมมือ 3 ฝ่ายโดยมีโรงงานประกอบรถยนต์เอ็มจี ในจังหวัดชลบุรีเป็นตัวประสานจะทำให้พัฒนาหลักสูตรอุตสาหกรรมยานยนต์ ตอบโจทย์อีอีซีได้โดยตรงเพราะเวลาที่พูดถึงยานยนต์แห่งอนาคต ไม่ใช่เฉพาะเพียงวิศวกรรมยานยนต์อย่างเดียวแต่หมายถึงวิศวกรรมซอฟต์แวร์รวมไปถึงระบบIoT ด้วย

++พัฒนาภาษารองรับอุตฯ
ในขณะเดียวกันคณะศิลปศาสตร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องภาษา โดยเฉพาะภาษาในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี จะพัฒนาขึ้นไปอีกระดับด้วยการไม่เพียงแต่สอนภาษา แต่จะสอนเพื่อที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์รองรับการเติบโตของอีอีซีในอนาคตด้วย โดยทางคณะศิลปศาสตร์ และทางเอ็มจี จะช่วยต่อเชื่อมกับมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นที่เซี่ยงไฮ้ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอันดับต้นของจีน รวมถึงมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ อินเตอร์ ที่จะร่วมมือกันตอบโจทย์อุตสาหกรรม และธุรกิจอย่างอื่นเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ในทางวิทยา ศาสตร์สุขภาพ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ยิ่งอุตสาหกรรมพัฒนาขึ้นมากเท่าไร ปัญหาเรื่องสุขภาพ ปัญหาเรื่องมลพิษ เรื่องสิ่งแวดล้อมต้องได้รับการดูแล และต้อง เตรียมบุคลากรไว้รองรับด้วย ซึ่งคณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้ลงพื้นที่ไปยังศูนย์พัทยา และได้ชักชวนให้คณะ ทำความร่วมมือกับ UN เพื่อพัฒนาหลักสูตรนานาชาติ สอนเป็นภาษาอังกฤษ ทางด้านสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม ชีวอนามัย และสาธารณสุขชุมชน เพื่อสร้างคนรองรับการขยายตัวของอีอีซี

นอกจากนี้ ด้านบริการสังคม ด้วยการจัดฝึกอบรมให้เกิดความรับรู้เกี่ยวกับอนาคตที่จะเกิดขึ้นในอีอีซี ให้กับท้องถิ่นได้เตรียมตัว ปรับตัวอย่างไรบ้าง จะจัดอบรมให้กับสถาบันการศึกษา เช่น กลุ่มอาจารย์แนะแนวตามโรงเรียน ว่าไม่ใช่แค่เพียงส่งเด็กเข้ามหาวิทยาลัย อาจต้องส่งเด็กเข้าอาชีวศึกษา เพราะความขาดแคลนแรงงานในระดับ ปวส.ปวช. มีจำนวนเยอะมาก และอาชีวศึกษาในอนาคต ต้องเป็นแบบอินเตอร์ อาจต้องเรียนภาษาญี่ปุ่น ต้องไปฝึกงานที่โรงงานประเทศญี่ปุ่น เกาหลี จีนและการจัดการศึกษาร่วมกับจีนญี่ปุ่นเกาหลีตามต้นแบบสัตหีบโมเดล มาจัดอาชีวะรูปแบบใหม่ เน้นปฏิบัติมากกว่าทางวิชาการในห้องเรียน

บาร์ไลน์ฐาน ++สอดรับสัตหีบโมเดล
โดยเห็นว่าสัตหีบโมเดลจะเป็นต้นแบบสำคัญที่จะเปลี่ยนโฉมแบบของอาชีวศึกษาเป็นเรื่องที่น่าจะทำได้ในปีที่ 1ปีที่ 2 จะเร่งให้หลักสูตรปริญญา 3 หลักสูตรของวิศวกรรมศาสตร์ที่จะทำร่วมกับจีน และ 3 หลักสูตรของทางศิลปศาสตร์ ที่จะทำร่วมกับฟู่ตั้น และเซี่ยงไฮ้อินเตอร์ และที่เริ่มเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมาคือโครงการจัดตั้งศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยากับโครงการเตรียมหลักสูตรแพทย์ 7สาขาของวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ ที่ศูนย์พัทยา

สรุปแล้ว การดำเนินงานของศูนย์พัทยาจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรกเรื่องฝึกอบรมให้อุตสาหกรรมและชุมชนนำเด็กที่จบเป็นบัณฑิตที่มีความพร้อมไปฝึกอบรมภาษาอีก 3 เดือน และอีก 3 เดือนอยู่ในโรง งานฝึกภาษาจริงใช้จริงอยู่ที่โรงงาน ก็จะทำให้มีงานทำทันที

ระยะที่ 2 เรื่องหลักสูตร ซึ่งร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ โดยมีอุตสาหกรรมเข้ามาช่วย โดยเรียนที่ศูนย์พัทยา 2 ปี เรียนที่มหาวิทยาลัยคู่สัญญาในต่างประเทศ 1ปี ฝึกงาน 1 เทอมที่อยู่ในอุตสาหกรรมต่างประเทศ และฝึกงาน1เทอมอยู่ในอุตสาหกรรมอีอีซีเท่ากับเรียน 3 ปี ฝึกงานเต็มๆ 1 ปี ทำเป็นหน่วยกิต เป็นสหกิจศึกษาที่มีค่าหน่วยกิตเพิ่มมากขึ้น หรือให้เรียนน้อยที่สุด ให้ฝึกงานเยอะที่สุด โดยจะได้ฝึกงานทั้งในและต่างประเทศ

ระยะที่ 3 เป็นการพัฒนาที่หวังผลระยะไกลคือเรื่องสถาบันวิจัย ศูนย์วิจัยเฉพาะทางที่ต้องตอบโจทย์อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของชุมชน เพราะต้องเดิน 3อย่างพร้อมๆ กัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,348 วันที่ 15 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว