ยึด ‘เจ๊ติ๋มโมเดล’ ทีวีรุกไล่บี้กสทช.

14 มี.ค. 2561 | 07:46 น.
กสทช.แพ้คดีไทยทีวี ศาลปกครองกลาง พิพากษา ให้คืนเงินกว่า 1,500 ล้านบาท เหตุไม่ปฏิบัติตามสัญญา “ฐากร” ลั่นคดียังไม่จบ เสนอบอร์ดยื่นอุทธรณ์ ให้ศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด ผู้ประกอบการขานรับเปิดทางคืนใบอนุญาต

ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาในคดีที่บริษัทไทยทวี จำกัด โดยนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย กรรมการผู้มีอำนาจลงนามยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และสำนักงานกสทช. เพื่อขอให้ศาล มีคำสั่งให้การประมูลคลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลทางช่องรายการไทยทีวี และช่องรายการ MVTV Family หรือช่องรายการ LOCA เดิมของบริษัทไทยทวี เป็นโมฆะทั้งหมด

ขณะเดียวกันยังได้ขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือ กสทช.ฉบับลงวันที่ 28 พ.ค. 2558 ฉบับลงวันที่ 5 มิถุนายน 2558 ฉบับลงวันที่ 22 มิถุนายน 2558 พร้อมให้สั่ง กสทช.คืนหนังสือคํ้าประกันของธนาคารกรุงเทพจำนวน 16 ฉบับ รวมทั้งคืนค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ที่บริษัทได้ชำระไปแล้วเป็นเงิน 365,512,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 บาทต่อปี นับแต่วันฟ้องจนชำระเสร็จสิ้น และจ่ายค่าเสียหายจากการกระทำของ กสทช.จำนวน 713,828,282.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

[caption id="attachment_267897" align="aligncenter" width="503"] นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย[/caption]

ศาลปกครองกลาง พิพากษาว่า การดำเนินการของกสทช. ทำผิดสัญญา บริษัทไทยทีวีฯ จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา แต่วันบอกเลิกสัญญาพ้นกำหนดการจ่ายค่าใบอนุญาตงวดที่ 2 ไปแล้ว บริษัทจึงต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่ 2 จำนวน 258 ล้านบาท ส่วนหนังสือคํ้าประกันธนาคารกรุงเทพจำนวน 16 ฉบับ ซึ่งเป็นค่างวด ตั้งแต่งวดที่ 3 เป็นต้นไปให้กสทช.คืนให้กับบริษัท แต่ถ้าไม่สามารถคืนได้ก็ให้ชดใช้เป็นเงินแทน อย่างไรก็ตามศาลปกครองกลางไม่ได้ให้ กสทช.ชดใช้ค่าเสียหายตามที่บริษัทเรียกร้องเพราะภาวะการขาดทุนเกิดจากการดำเนินธุรกิจปกติ

++เรียกค่าเสียหายเพิ่ม700ล.
นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ “ติ๋ม ทีวีพูล” กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทไทยทีวี จำกัด กล่าวว่า พอใจที่ศาลชี้ว่า กสทช.ทำผิดจริง ทำให้คนทั้งประเทศรู้ว่า กสทช.ทำผิด ซึ่งศาลสั่งให้ กสทช.คืนแบงก์การันตีให้บริษัทไทยทีวีฯ ในงวดที่ 3, 4, 5 และ 6 มูลค่ารวมกว่า 1,500 ล้านบาท แต่ศาลไม่ได้ให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 700 ล้านบาท ตามที่ขอไป จึงจะยื่นอุทธรณ์เพิ่มเติมในส่วนนี้ โดยจะต้องรวบรวมเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม

[caption id="attachment_217729" align="aligncenter" width="503"] นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์[/caption]

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงาน กสทช. เปิดแถลงข่าวด่วน ระบุว่า ในวันที่ 14 มีนาคม 2561 จะนำข้อพิพาทดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.เพื่อจะยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันหรือไม่หากบอร์ดให้อุทธรณ์ ก็จะยังไม่ต้องคืนแบงก์การันตี ที่ศาลปกครองสั่งให้คืนตามคำพิพากษา เพราะต้องรอให้จบการพิจารณาจนมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ส่วนประเด็นการเสนอ หัวหน้า คสช. ขออำนาจ ม. 44 แก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการขณะนี้เป็นคนละเรื่องกับคำพิพากษา

++รอคำสั่งศาลสูงสุด
นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมทีวีดิจิทัลแห่งประเทศไทยกล่าวแสดงความคิดเห็นว่า คำตัดสินของศาลปกครองกลางที่พิพากษาให้เจ๊ติ๋มชนะคดีนั้น ไม่สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานได้เพราะถือเป็นศาลชั้นต้น ยังต้องมีการต่อสู้ในชั้นศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ผู้ประกอบการอาจจะต้องจ่ายค่างวดไปแล้วรวม 70% และเหลือสิทธิ์ในการให้บริการ 8-9 ปี หากจะยื่นขอยุติการออกอากาศ ถอนตัวเช่นเดียวกับเจ๊ติ๋ม ก็อาจจะไม่คุ้มค่า ขณะนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการคาดหวังคือ การใช้มาตรา 44 ในการช่วยยืดระยะเวลาการจ่ายค่างวดออกไปอีก 3 ปี

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2 ++บทเรียนครั้งสำคัญ
นายสมชาย รังษีธนานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด ผู้ดำเนินทีวีช่องดิจิตอล ไบรท์ ทีวีช่อง 20 กล่าวว่า การที่เจ๊ติ๋มชนะคดีถือเป็นไปตามที่ได้คาดหมายเอาไว้ แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการได้เรียกร้องตั้งแต่ช่วงที่ผ่านมาเป็นเรื่องจริง ศาลจึงเห็นใจพิจารณาเจ๊ติ๋มชนะคดี การที่เจ๊ติ๋มชนะคดีถือเป็นเรื่องเดียวกับที่ผู้ประกอบการ 13 ช่องได้เสนอกสทช.ไปก่อนหน้าแล้ว ต่อจากนี้ เชื่อว่าผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ก็อาจจะมีการคิดทบทวนการทำธุรกิจใหม่ เช่นเดียว กับกสทช.ที่คาดว่าจะต้องมีการทบทวนการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ส่วนการที่จะคืนช่องเหมือนกับเจ๊ติ๋มนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกว่าจะชนะคดี ต้องใช้ระยะเวลากว่า 3 ปี”

ด้านนายนวมินทร์ ประสพเนตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด ในเครือโมโน กรุ๊ป กล่าวว่า โดยส่วนตัวคิดว่าคำตัดสินของศาลปกครองกลางเป็นเรื่องดีที่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อสามารถคืนสัญญาหรือคืนช่อง เพราะเมื่อทำต่อไม่ไหวด้วยปัจจัยหลายด้าน ก็ควรมีทางออกให้กับผู้ประกอบการได้เลือกตัดสินใจ หรือการเยียวยาอย่างอื่นที่เห็นผลชัดเจนมากกว่านี้ ก็จะดีต่อผู้ประกอบการโดยรวมอย่างมาก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,348 วันที่ 15 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว