'ศิริ' ยัน! SEA ช่วยลดขัดแย้ง

10 เม.ย. 2561 | 03:25 น.
100461-1025

‘ศิริ’ ขอเวลา 9 เดือน ศึกษา ‘เอสอีเอ’ หวังลดความขัดแย้ง ชี้! หากผลศึกษาพื้นที่เหมาะสม ไฟเขียวให้ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ยัน! 3-5 ปี ยังไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลัก ผุดโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 จังหวัดชายแดน บริหารงานเป็นเอกเทศ เสริมความมั่นคง

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”
ว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงกับกลุ่มเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา ยุติโครงการถ่านหิน เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมานั้น เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานข้อเท็จจริงด้านข้อมูล โดยจะเห็นว่า กรณีที่เคยเกิดไฟฟ้าดับทั้งภาคใต้ 14 จังหวัด เกิดจากสายส่งไฟฟ้าที่ป้อนไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปมีไม่เพียงพอ

 

[caption id="attachment_267803" align="aligncenter" width="421"] ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์[/caption]

ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าหลักในภาคใต้ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าจะนะและขนอม มีกำลังการผลิตรวม 2,400 เมกะวัตต์ หากต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งกระบี่และเทพา รวมกำลังผลิต 2,800 เมกะวัตต์ จะเป็นการลงทุนที่เกินความจำเป็น ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องเร่งตัดสินใจลงทุนโรงไฟฟ้าหลักในระยะ 3-5 ปี ซึ่งทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยืนยันว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ นอกจากนี้ กฟผ. ยังเห็นพ้องว่า อย่าปล่อยให้เวลามาบีบคั้นในการตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา เนื่องจากยังมีระยะเวลาตัดสินใจ

ทั้งนี้ เอ็มโอยูที่ลงนามไป เป็นการแสดงความชัดเจนว่า ไม่ต้องมีเวลามาบีบคั้น และให้คณะกรรมการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) พื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ ในช่วง 9 เดือน ซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์ในข้อขัดแย้งว่า พื้นที่ภาคใต้จำเป็นต้องการมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นหรือไม่ และพื้นที่ใดเหมาะสม หากผลการศึกษาชี้ชัดว่า เหมาะสม ทางกลุ่มผู้ค้านต้องยอมรับผลการศึกษานั้น เพราะใช้หลักวิชาการในการสร้าง ซึ่งจะทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเดินหน้าต่อไปได้


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

นายศิริ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเสริมความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ในช่วง 3-5 ปีนี้ จะมีการเร่งสร้างสายส่งจากภาคกลางลงไปอีก 1 วงจร รวมทั้งสายส่งแรงดันสูง ขนาด 500 กิโลโวลต์ (Kv) เชื่อมโรงไฟฟ้าหลักปัจจุบันที่จะนะและขนอม ตรงสู่เมืองที่มีความต้องการใช้สูงในฝั่งอันดามัน และเชื่อมกับสายส่งหลักจากภาคกลางไปสถานีที่ จ.สุราษฎร์ธานี ที่กำลังดำเนินการจะแล้วเสร็จปี 2563 เพื่อแก้ปัญหาคอขวด

อีกทั้ง การเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล โดยเฉพาะเศษไม้ ที่มีจำนวนมากในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้การบริหารจัดการเป็นเอกเทศโดยชุมชน โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้นำความคิดเห็นเสนอนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งนายกฯ เห็นชอบหลักการเบื้องต้นแล้ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างเศรษฐกิจชุมชน จากการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยผ่านโครงการประชารัฐ นำเอาหน่วยงานของราชการร่วมกับชุมชน หรือเรียกว่า “รัฐวิสาหกิจเพื่อชุมชน” ที่จะตั้งขึ้นมาช่วยชุมชนต่าง ๆ ที่รวมตัวกันเป็นรัฐวิสาหกิจชุมชน โดยชุมชนจะมีบทบาทในการหารายได้ด้วยการจัดหาเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าและมีส่วนแบ่งผลประกอบการ โดยที่ภาครัฐจะช่วยเรื่องเงินทุน ทำให้สามารถขายไฟฟ้าในราคาไม่แพง และสามารถเสริมความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ได้ด้วย


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,348 วันที่ 15-17 มี.ค. 2561 หน้า 15
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
‘SEA’ประเมินผลกระทบทุกมิติ ทางออกขัดแย้งสร้างโรงไฟฟ้า
พลังงานทดแทนช็อก! ส.อ.ท. ฮึดสู้ 'ศิริ' จี้ทบทวนแผนงดซื้อไฟ - โยน 'ลุงตู่' ชี้ขาด



ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว