จี้ปรับสัมปทานดิวตี้ฟรี เลิกผูกขาด‘คิงเพาเวอร์’

17 มี.ค. 2561 | 10:12 น.
ใกล้งวดเข้าไปทุกทีสำหรับการเปิดประมูลดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ กว่า 5.3 หมื่นตารางเมตร ในสนามบินสุวรรณภูมิ ของบริษัทท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่จะเริ่มกระบวนการเปิดประมูลได้ภายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ดังนั้นเพื่อกระตุ้นให้การเปิดสัมปทานรอบใหม่นี้ เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการเปิดสัมปทาน อันจะเป็นการเพิ่มทางเลือกและสร้างความแข่งขันที่สมดุลและเป็นธรรม ที่จะทำให้ไทยกลายเป็นช็อปปิ้งเดสติเนชัน อันเป็นมาตรฐานสากล ทางคณะนิติ ศาสตร์และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดสัมมนาเรื่อง “สัมปทานดิวตี้ฟรี ก้าวสู่สากล” โดย “ฐานเศรษฐกิจ” ได้หยิบยกโซลูชันกระบวนการจัดระเบียบการให้สัมปทานที่สนามบินชั้นนำในภูมิภาคนี้มานำเสนอ

++ไทยผูกขาดปท.เดียวในเอเชีย
มุมมองของนักวิชาการต่างสะท้อนไปในทิศทางเดียวกันว่า ที่ผ่านมาธุรกิจดิวตี้ฟรีไทยยังขาดการแข่งขัน ส่งผลให้ประเทศไทยมีรายได้จากสินค้าปลอดภาษีน้อยกว่าที่ควร ทั้งๆ ที่ไทยมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 32 ล้านคน คิดเป็นอันดับที่ 9 ของโลก แต่สนามบินสุวรรณภูมิ ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 38 จาก 100 อันดับของสนามบินจากทั่วโลก โดยมีคะแนนจากสกายแทร็ก (Sky Trak) อยู่ที่ 3.5/5 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คะแนนที่เกี่ยว ข้องกับการค้าปลีกของสนามบินสุวรรณภูมิตํ่ากว่าสนามบินชั้นนำอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ในเกือบทุกตัดวัด

MP22-3348-B ทั้งนี้เมื่อมองไปที่ค้าปลีกในสนามบินสุวรรณภูมิ พบว่ามีผลการประเมินจากดัชนีชี้วัด 5 ปัจจัยที่ตํ่ากว่าเกณฑ์ (ดูได้จากตารางเปรียบเทียบ) ได้แก่

1. การเสนอขายสินค้าปลอดภาษีมีกลุ่มสินค้าและตัวเลือกร้านค้า/แบรนด์ที่จำกัด ไม่มีความหลากหลาย ทำให้ขาดการแข่งขันเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ประสบความสำเร็จ ด้านการค้าปลีก อย่างเกาหลีใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นข้อเสียของไทยที่มีการเปิดสัมปทานรายใหญ่รายเดียวหรือ Master Concession

2. สนามบินแต่ละแห่งในประเทศที่กล่าวข้างต้น จะใช้ระบบ “สัมปทานตามกลุ่มสินค้า” ไม่ใช่แบบสัมปทานรายใหญ่รายเดียวเหมือนอย่างประเทศไทย

3. อายุของสัมปทานที่สนามบินอื่นๆ จะสั้นกว่าของไทย โดยมีระยะเวลา 5-7 ปี ในขณะที่ไทยให้สัมปทานคิงเพาเวอร์ 10 ปี และมีการต่ออายุให้อีก 4 ปี จากผลกระทบตอนเกิดเหตุปิดสนามบินสุวรรณภูมิ

4. ค่าธรรมเนียมสัมปทานเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 30% ขณะที่ของไทยอยู่ที่ 15%

5. เกณฑ์การพิจารณาการประมูล ทั่วไปเกณฑ์มาตรฐานสากล มักพิจารณาจากข้อเสนอด้านธุรกิจ และข้อเสนอด้านราคา ในสัดส่วน 60% และ 40% ตามลำดับ หรือในบางประเทศมีการพิจารณาเป็น 2 ขั้นตอน คือ ถ้าผ่านการพิจารณาทางด้านธุรกิจ ก็จะใช้ข้อเสนอด้านราคาเป็นเกณฑ์เพียงด้านเดียว แต่สำหรับในไทย ในสัมปทานฉบับใหม่อาจให้เกณฑ์การพิจารณาที่ไม่สมดุลนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้นตอนการประเมินการประมูล อย่างสนามบินอินชอน ก็ให้อำนาจในการควบคุมและตัดสินใจอย่างสมดุลระหว่างกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานศุลกากร และผู้ให้บริการสนามบินเอง แตกต่างจากไทยที่มอบหมายให้ทอท.เป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้แต่เพียงลำพัง

MP22-3348-A ++แนะปรับรูปแบบสัมปทาน
ดังนั้นในการเปิดประมูลดิวตี้ฟรีรอบใหม่ที่จะเกิดขึ้น สำหรับสนามบินหลัก อย่างสุวรรณภูมิหรือดอนเมือง ไทยก็ควรจะพิจารณาให้กรมศุลกากรและหรือกระทรวงคมนาคม เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา TOR และขั้นตอนการประมูลด้วย

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การใช้สัมปทานแบบ Master Concession มันเหมาะกับประเทศที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจในด้านนี้ แต่ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวมหาศาล และทำธุรกิจนี้มาหลายสิบปี ไม่ควรใช้ระบบนี้ เราควรพัฒนาไปสู่การแข่งขันที่มากขึ้นได้แล้ว ซึ่งรูปแบบการเปิดสัมปทานก็มีหลายแบบ อาทิ การให้สัมปทานตามที่ตั้งการให้สัมปทานตามกลุ่มสินค้า หรือการผสมผสานทั้ง 2 รูปแบบ (ตามตารางประกอบ) ที่สามารถนำมาปรับให้เหมาะสมกับไทยได้ เพื่อทำให้มีการแข่งขันเยอะขึ้น

อย่างในสนามบินอินชอนเกาหลีใต้ มีรูปแบบสัมปทานที่หลายราย ทำให้มีดิวตี้ฟรีมากกว่า 10 ราย และเคยมีการศึกษาว่าสินค้าดิวตี้ฟรีเมืองไทย ขายได้น้อยกว่าเกาหลีใต้ถึง 6 เท่า เช่นเดียวกับสนามบินชางงีและฮ่องกง ที่ใช้สัมปทานแบบหลายรายแยกตามประเภทกลุ่มสินค้าและบริการ ที่ทำให้การแข่งขันสมดุลและเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีแต่ละราย และยังช่วยเพิ่มยอดขายและรายได้ให้กับสนามบินได้อย่างเต็มที่ ซึ่งต่างกับรูปแบบสัมปทานรายใหญ่รายเดียวที่ใช้สำหรับสนามบินสุวรรณภูมิ

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2 ทำให้มีความสามารถในการทำกำไรได้มากขึ้น ระยะห่างการมีพื้นที่เช่าทางเศรษฐกิจก็มีมากขึ้นตามไปด้วย การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ส่วนใหญ่เกิดจากกฎกติกาของภาครัฐ ว่าจะให้ใครเป็นเศรษฐีก็ได้ เพื่อจะได้ขอส่วนแบ่ง นี่เป็นตัวอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้อธิบายถึงสาเหตุของการคอร์รัปชัน

ทั้งต่อมาเมื่อมีการแข่งขันแล้ว จะทำอย่างไรให้ราคาอยู่ในระดับปกติ รัฐต้องเข้าไปควบคุม โดยการกำหนดราคาร่วมกัน เพื่อสร้างกลไกการกำหนดราคาที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค การที่ราคาอาหาร หรือสินค้าต่างๆ ในดิวตี้ฟรีมีราคาแพง ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ที่ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวชาวไทย ยังรวมไปถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย และยังเคยมีการเปรียบเทียบราคา สรุปภาพรวมของราคาในดิวตี้ฟรีมีราคาตํ่ากว่าข้างนอกเพียงเล็กน้อยหรือเพียงไม่กี่รายการเท่านั้น

++ทอท.รอผลบริษัทปรึกษา
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เผยว่า ข้อเสนอต่างๆจากเวทีสัมมนา ทอท.พร้อมรับฟังทุกมุมมองมาพิจารณา เนื่อง จากปัจจุบันทอท.อยู่ระหว่างการรอผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาการเปิดประมูลโครงการดังกล่าวว่าควรจะเป็นอย่างไร มีการประเมินมูลค่าโครงการ เพื่อให้ทราบว่าจะเข้าข่ายการดำเนินการพ.ร.บ.รัฐร่วมทุนในสเกลใด คาดว่าผลการศึกษาน่าจะแล้วเสร็จในอีก 1-2 เดือนจากนี้ จากนั้นจะนำเสนอให้บอร์ดพิจารณา ก่อนจะเปิดประมูลต่อไป
แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1
โดยทอท.จะเปิดประมูลหาผู้ประกอบการดิวตี้ฟรี ภายในปีนี้ เพื่อทดแทนในส่วนการให้บริการปัจจุบันที่คิงเพาเวอร์จะหมดสัญญาในเดือนกันยายนปี 2563 และพื้นที่เชิงพาณิชย์และดิวตี้ฟรี ภายในอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ที่กำลังสร้างอยู่ ซึ่งก็ต้องรอผลการศึกษาจากบริษัทที่ปรึกษาก่อน จึงจะทราบว่าแนวทางจะเป็นอย่างไร ทีโออาร์ที่เหมาะสมจะเป็นแบบไหน

ส่วนการเปิดให้มีบริการจุดส่งมอบสินค้าดิวตี้ฟรี หรือ (Pick Up Counter) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ จะเปิดประมูลเป็นอีกสัญญาหนึ่ง ซึ่งจะเปิดประมูลในปี 2562 เพื่อให้ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีในเมืองได้ใช้พื้นที่ร่วมกัน (Common Use)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,348 วันที่ 15 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว