สนามบินอุดรทุ่มงบ ขยายรันเวย์-อาคาร3

14 มี.ค. 2561 | 23:05 น.
สนามบินอุดรฯทุ่มงบ 2 พันล้าน เตรียมขยายรันเวย์-สร้างอาคาร 3 รองรับผู้โดยสาร 7 ล้าน/ปี กรรมการหอไทยเมิน ให้ ทอท.เข้ามาทำการบริหารสนามบินอุดรฯ ชี้มีรายได้เลี้ยงตัวเอง

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย กรรมการหอการค้าไทย ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการท่องเที่ยวริมแม่นํ้าโขง เปิดเผยว่า ท่าอากาศยานอุดรธานี ยังไม่ได้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติเต็มรูปแบบ แม้ว่าท่าอากาศยานอุดรธานี จะได้รับการยกฐานะเป็นสนามบินศุลกากรเมื่อปี 2516 และเคยมีสายการบินระหว่างประเทศมาใช้บริการท่าอากาศยานอุดรธานีหลายสายการบินมาแล้ว แต่ก็ติดขัดในหลายเรื่อง แต่ขณะนี้ท่าอากาศยานอุดรธานีได้รับการพัฒนาจากกรมท่าอากาศยาน มีอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 พร้อมลานจอดรถและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ และมีแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 พร้อมลานจอดรถ เพื่อรองรับผู้โดยสาร 7 ล้านคน/ปีในปี 2566

[caption id="attachment_268124" align="aligncenter" width="503"] สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย[/caption]

“ที่ผ่านมาสายการบินของประเทศเพื่อนบ้านเปิดทำการบินมาใช้ท่าอากาศยานอุดรธานี อาทิเช่น สายการบินไทเกอร์แอร์ ของประเทศสิงคโปร์ ทำการบินสิงคโปร์-อุดรธานี-สิงคโปร์ สายการบินแอร์ลาว บินหลวงพระบาง-อุดรธานี-หลวงพระบาง สายการบินสัญชาติเกาหลี บินแบบเช่าเหมาลำ แต่ก็ต้องยุติการบินไป เนื่องจากเหตุผลทางธุรกิจ และความไม่พร้อมของสนามบินอุดรธานี และปัญหาด้านบุคลากร”

นายสวาทกล่าวต่อไปว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมาท่าอากาศยานอุดรธานี มีผู้โดยสารใช้บริการครบ 2 ล้านคน/ปี ไปแล้ว และภาคเอกชนร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบร่วมกันว่า ต้องทำแผนร่วมกันแบบบูรณาการ ทำการผลักดันให้ท่าอากาศยานอุดรธานี มีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านคน/ปี ในอีก 2 ปีข้างหน้า และได้ให้การคาดหมายว่าในปี 2566 จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการท่าอากาศยานอุดรธานีประมาณ 7 ล้านคน/ปี และในอนาคต จะทำการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 พร้อมลานจอดรถ 1,000 คัน และเพิ่มหลุมจอดเครื่องบินจาก 5 หลุม เป็น 11 หลุม ขยายรันเวย์ โดยใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1 “อย่างไรก็ตามไม่เห็นชอบกับที่ทางกรมท่าอากาศยาน มีแนวคิดที่จะให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เข้ามาทำการบริหารกิจการของท่าอากาศยานในภูมิภาคบางแห่ง รวมทั้งท่าอากาศ ยานอุดรธานีด้วย มีเหตุผลว่า 1.ท่าอากาศยานอุดรธานี สร้างรายได้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ รวมถึงสามารถเฉลี่ยไปยังท่าอากาศยาน อื่นๆ ที่สังกัดกรมท่าอากาศยาน

2.ท่าอากาศยานอุดรธานี เป็นศูนย์กลางภูมิภาคของอาเซียนโดยสายการบินโลว์คอสต์ สามารถใช้เป็นศูนย์กลางในการทำการบินไปยังกลุ่มประเทศ GMS ได้ 3.ในระยะต่อไปนี้ธุรกิจการบิน รวมทั้งสนามบินในสังกัดกรมท่าอากาศยาน ก็มีแนวโน้มว่าจะเติบโตไปในทางที่ดี จึงไม่เห็นด้วยที่จะให้เอกชนเข้ามาบริหารแทนกรม”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,348 วันที่ 15 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว