วัดฝีมือ 'อดุลย์' อธิบดีป้ายแดง! แก้โจทย์ระบายข้าว-ค้าชายแดน

14 มี.ค. 2561 | 17:18 น.
จากภารกิจในการบริหารจัดการข้าวในสต๊อกรัฐบาลกว่า 18 ล้านตัน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นงานท้าทายความสามารถของผู้บริหารกรมการค้าต่างประเทศ ที่เป็นแม่งานหลัก กำลังจะผ่อนคลายลง

จากเวลานี้ ข้าวเพื่อการบริโภคของคนได้ถูกระบายออกไปเกือบหมดแล้ว เหลือข้าวที่รอระบายสู่ภาคอุตสาหกรรมอีกเพียงราว 2 ล้านตัน ที่กำลังจะเปิดประมูลในเร็ว ๆ นี้ และหลังจากนี้ อะไรคือ งานท้าทาย หรือ งานเร่งด่วนของกรม ... “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ “อดุลย์ โชตินิสากรณ์” อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศคนใหม่ ถึงทิศทางการทำงานดังรายละเอียด

 

[caption id="attachment_268037" align="aligncenter" width="503"] อดุลย์ โชตินิสากรณ์ อดุลย์ โชตินิสากรณ์[/caption]

เร่งระบายข้าว 2 ล้านตัน
‘อดุลย์’
กล่าวว่า งานเร่งด่วนเฉพาะหน้าต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ คือ การระบายข้าวที่เหลืออยู่ในสต๊อกรัฐบาลอีกกว่า 2 ล้านตัน โดยหลังจากที่มีการเลื่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เมื่อปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เป็นวันที่ 29 มี.ค. นี้นั้น กรมเตรียมเสนอให้ที่ประชุม นบข. พิจารณาเห็นชอบระบายข้าวที่เหลือ ได้แก่ ข้าวเพื่ออุตสาหกรรม ที่ไม่ใช่การบริโภคของคน 1.5 ล้านตัน และข้าวเพื่ออุตสาหกรรม ที่ไม่ใช่ทั้งการบริโภคของคนและสัตว์ อีก 5 แสนตัน ซึ่งหาก นบข. เห็นชอบ จะเดินหน้าระบายข้าวตั้งแต่เดือน เม.ย. ไปจนถึง มิ.ย.

“นอกจากนี้ ยังต้องระบายข้าวสำหรับการบริโภคทั่วไป ที่เหลืออีกประมาณ 4 หมื่นตัน โดยเป็นข้าวที่เหลือจากการจำหน่ายให้หน่วยงานรัฐ เช่น กรมราชทัณฑ์ ปริมาณ 2 หมื่นตัน และข้าวที่เหลือจากการยกเลิกสัญญากับเอกชนปริมาณ 2 หมื่นตัน ซึ่งกรมจะเสนอเข้าที่ประชุม นบข. พร้อมกัน และจะเริ่มทยอยเปิดประมูลเป็นรอบ ๆ และหากยังเหลือ ก็จะเปิดประมูลอีกครั้งในช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย.”


มั่นใจส่งออก 9.5 ล้านตัน
สำหรับแนวโน้มการส่งออกข้าวของไทยในปีนี้นั้น คาดว่ายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผลผลิตข้าวของประเทศผู้ผลิตสำคัญ เช่น อินเดียและบังกลาเทศ “ลดลง” ขณะที่ ภาวะเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น ทำให้คู่ค้ามีกำลังซื้อมากขึ้น ขณะเดียวกัน ตลาดทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจะมีการเปิดประมูลนำเข้าข้าวของรัฐบาลต่างประเทศ ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ ซึ่งจะช่วยให้มีคำสั่งซื้อข้าวเข้ามาต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีการส่งมอบข้าวให้จีนตามสัญญาจีทูจีด้วย ขณะที่ ราคาข้าวไทยก็มีเสถียรภาพมากขึ้น เห็นได้จากการส่งออกข้าวตั้งแต่ ม.ค. ถึงปัจจุบัน สามารถส่งออกได้แล้วกว่า 2 ล้านตัน มูลค่า 999 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าเพิ่มขึ้น 22.13% จากปีก่อน และคาดว่าในปีนี้ จะส่งออกข้าวได้ตามเป้าหมาย 9.5 ล้านตัน

สรุปตั้งแต่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ มีการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลตั้งแต่รัฐบาลภายใต้ คสช. เข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่ปี 2557 ข้าวในสต๊อกเดิมระบายออกไปได้แล้วกว่า 18.28 ล้านตัน มูลค่า 1.85 แสนล้านบาท

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1

ขยายตลาดข้าวต่อเนื่อง
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวอีกว่า หลังจากการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลหมด งานจากนี้ไปที่เกี่ยวกับข้าว คือ การเร่งพัฒนาข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยมีแผนจะจัดคณะผู้แทนการค้าภาครัฐและเอกชน เดินทางไปเจรจาขยายตลาดข้าว รวมถึงกระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน สหรัฐฯ สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ รวมถึงกลุ่มประเทศในแอฟริกาใต้ด้วย เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานข้าวไทยและช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออก

ทั้งนี้ เมื่อช่วงเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลอิรักได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ แจ้งความประสงค์ว่า ต้องการทำความตกลงว่าด้วยการซื้อ-ขายข้าวระหว่างกระทรวงการค้าอิรักกับกระทรวงพาณิชย์ของไทย เพื่อทำสัญญาซื้อ-ขายข้าวคุณภาพดีจากไทยในระยะยาว นอกจากนี้ ไทยยังอยู่ระหว่างการส่งมอบข้าวในแสนตันที่ 5 ให้กับรัฐบาลจีน ตามสัญญาส่งมอบข้าวจีทูจี 1 ล้านตัน คาดจะส่งมอบได้ประมาณเดือน เม.ย. นี้


ดันค้าชายแดนโต 15%
ขณะเดียวกัน ยังได้ให้ความสำคัญกับการค้าชายแดน โดยในปีนี้ได้ตั้งเป้าการค้าชายแดนและผ่านแดนขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 15% หรือ มีมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายและมั่นใจว่า จะได้ตามเป้าที่วางไว้ โดยปีที่ผ่านมา การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน มีมูลค่ารวมกว่า 1.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท และเฉพาะเดือน ม.ค. 2561 มีมูลค่ารวม 1.15 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีมูลค่า 8.8 หมื่นล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 29% และในปีนี้ กรมจะเน้นไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ซึ่งจะเจาะเข้าไปยังเมืองรองมากขึ้น ขณะเดียวกัน จะขยายตลาดไปยังมาเลเซียและอินโดนีเซียด้วย


4 ภารกิจเร่งด่วน
ยุทธศาสตร์สำคัญและเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการหลังจากเข้ามารับตำแหน่ง นอกจากการวางแผนระบายข้าวและการหาตลาดข้าวแล้ว กรมยังมีภารกิจหลักในการบริหารจัดการและอำนวยความสะดวกให้กับเอกชนและการพัฒนาองค์กรให้มีความยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยมี 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ ประกอบด้วย 1.Smart Enterprise การยกระดับการบริการด้วยนวัตกรรมดิจิตอลที่ทันสมัย เพื่อตอบสนองความต้องการและลดภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย 2.Smart Value การมุ่งเน้นเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร สินค้านวัตกรรม และพัฒนามาตรฐานสินค้าสู่สากล 3.Smart Monitor การพัฒนาและป้องกันอุตสาหกรรมในประเทศจากมาตรการทางการค้า และ 4.Smart Offices การพัฒนาการปฏิบัติงานด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ


……………….
สัมภาษณ์ โดย ศรีอรุณ จังติยานนท์
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,348 วันที่ 15-17 มี.ค. 2561 หน้า 09

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
“ประยุทธ์”สั่ง นบข.ระบายข้าวตามกลไก ยึดกฎหมาย-ทำงานระมัดระวัง
เห็นชอบหลักการระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 8.4 หมื่นตัน



ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว