เอ็กโกผุดนิคมฯรับอีอีซี ชงแผนตั้งโรงไฟฟ้าใต้

16 มี.ค. 2561 | 11:28 น.
เอ็กโก กรุ๊ป ผุดนิคม 500 ไร่ รองรับอีอีซี เร่งเจรจากับบีโอไอ ขอสิทธิ์ในการส่งเสริม มั่นใจผลศึกษาชัดเจนภายในปลายปีนี้ ลงทุนโรงไฟฟ้าเอสพีพีเฟสแรก 100 เมกะวัตต์ ป้อนลูกค้า พร้อมเสนอแผนป้อนไฟฟ้าภาคใต้

นายจักษ์กริช พิบูลย์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมพัฒนาพื้นที่โรงไฟฟ้าระยอง จังหวัดระยอง ที่หมดอายุไปตั้งแต่ปี 2557 เพื่อจัดทำเป็นนิคมอุตสาหกรรม บนเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี โดยได้เจรจากับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำนิคมอุตสาหกรรมและการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน และอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

[caption id="attachment_268024" align="aligncenter" width="335"] จักษ์กริช พิบูลย์ไพโรจน์ จักษ์กริช พิบูลย์ไพโรจน์[/caption]

ส่วนรูปแบบการจัดตั้งนิคมนั้น อยู่ระหว่างการศึกษาลักษณะนิคมอุตสาหกรรม จากเดิมก่อนหน้านี้มองว่าจะเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว แต่คงต้องรอผลการศึกษาแล้วเสร็จก่อน ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้เจรจาเบื้องต้นกับทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อรับสิทธิ์ตามการพัฒนาอีอีซี ซึ่งทางบีโอไอต้องการรอความชัดเจนรูปแบบนิคม เช่นกัน คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปลายปีนี้ จากนั้นจะเริ่มเชิญชวนลูกค้าที่จะเข้ามาลงทุนในนิคม ซึ่งในระยะแรกนิคม อาจไม่ใหญ่นัก โดยเตรียมสร้างโรงไฟฟ้าเอสพีพีเฟสแรก 100 เมกะวัตต์ เพื่อป้อนขายไฟฟ้าและไอนํ้าให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม และส่วนหนึ่งจะขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหากในอนาคตอุตสาหกรรมขยายตัวขึ้น ก็สามารถขยายโรงไฟฟ้าเอสพีพีเฟส 2 ต่อไปได้

ในขณะที่การเจรจาขายเครื่องจักรโรงไฟฟ้าระยองนั้น ที่ผ่านมาได้เจรจากับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปเนื่องจากเครื่องจักรเก่า หากนำไปผลิตไฟฟ้าต่อก็จะด้อยประสิทธิภาพ ดังนั้นอาจขายเป็นเศษเหล็ก คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้

สำหรับการดำเนินงานในปี 2561 เอ็กโก กรุ๊ป มองหาโอกาสขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการเติบโตในต่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้นชัดเจนในช่วง 3-5 ปีข้างหน้าที่สัดส่วนจะใกล้เคียงกัน จากปัจจุบันในต่างประเทศ 26.36% นอกจากนี้ยังมองหาโอกาสเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้า (M&A) ที่เดินเครื่องผลิตแล้ว เนื่องจากสามารถรับรู้รายได้ทันที คาดจะมีความชัดเจนอย่างน้อย 1 โครงการภายในปีนี้ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 4.26 พันเมกะวัตต์

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2 ส่วนงบลงทุนปี 2561 บริษัทเตรียมไว้ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท สำหรับ 3 โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ โรงไฟฟ้าไซยะบุรีและโรงไฟฟ้านํ้าเทิน 1 ในสปป.ลาว และโรงไฟฟ้าซานบัวนาเวนทูรา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จและทยอยเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ ในปี 2562 และ 2565 ทั้งนี้งบลงทุนดังกล่าวยังไม่นับรวมโครงการใหม่ที่จะเข้าไปลงทุนและโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าปากแบง สปป.ลาว, โรงไฟฟ้าสตาร์ เอนเนอร์ยี่ ส่วนขยาย (หน่วยที่ 3 และ 4) ประเทศอินโดนีเซีย และโรงไฟฟ้ากวางจิ ประเทศเวียดนาม

นายจักษ์กริช กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ไฟฟ้าในภาคใต้ หลังจากโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพา ต้องชะลอ 3 ปี บริษัทได้ตั้งทีมงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงไฟฟ้ารองรับความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ โดยจัดทำแนวทางสร้างโรงไฟฟ้าไว้ เช่น 1. การสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนอมส่วนขยายขนาด 500-900 เมกะวัตต์ คาดว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเมกะวัตต์ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี หรือ 3 ปีครึ่ง

2. โรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพีเฟส 2 จ.ระยอง ขนาดกำลังการผลิต 1 พันเมกะวัตต์ โดยขณะนี้มีพื้นที่ก่อสร้างพร้อมและได้ศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เสร็จแล้วและ 3. โรงไฟฟ้าชีวมวล เนื่องจากภาคใต้มีวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรพอสมควร เช่น เศษไม้ ไม้ยาง เป็นต้น ดังนั้นหากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ชัดเจน หรือหากภาครัฐได้ข้อ
สรุปไฟฟ้าภาคใต้ไปในแนวทางใด บริษัทก็พร้อมสร้างโรงไฟฟ้าให้สอดคล้องทันที

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,348 วันที่ 15 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว