ส่งกฤษฎีกาตีความเงินเซสส์ หวั่นค่าโง่ซ้ำรอยกล้ายาง-ยื่นรมว.เกษตรฯยับยั้ง

17 มี.ค. 2561 | 09:42 น.
“ธีธัช” สั่งถอย เปิดรับฟังความคิดเห็น-เร่งส่งกฤษฎีกาตีความ หักค่าจ้างเอกชนปรับปรุงระบบเก็บเงินเซสส์ไม่เกิน 5% ของค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บได้หรือไม่ ด้านสหภาพฯ กยท.ร้องทบทวนทีโออาร์ใหม่

นับตั้งแต่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)ประกาศขอบเขตของงาน (ทีโออาร์) โครง การบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกยางพาราออกนอกราชอาณาจักร (CESS) ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2561 ทั้งสหภาพแรงงาน กยท. และชาวสวนยางไม่พอใจที่จะจัดจ้างเอกชนเป็นผู้ดำเนินการและเป็นผู้ลงทุนในการทำงานทั้งหมด (Turn Key Project) ระยะเวลา 5 ปีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561-30 กันยายน 2566 จนทำให้เป็นที่มาของการชุมนุมเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศที่จะนัดชุมนุมใหญ่ที่ กยท.จังหวัดตรัง ในวันที่ 14 มีนาคมนี้ นั้น

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท. ชี้แจงกรณีประกาศหาผู้รับจ้างปรับปรุงระบบจัดเก็บเงินเซสส์โดยยืนยันมีเจตนาเพื่อพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งอุดรอยรั่วของการจัดเก็บที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่การจ้างเอกชนมาเก็บค่าธรรมเนียมฯ ยํ้าว่าเจ้าหน้าที่ยังทำหน้าที่เก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านระบบการจัดเก็บภาษีอิเล็กทรอนิกส์ของกรมศุลกากร (NSW) เช่นเดิม

TP8-3348-A “เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายจะส่งเรื่องให้สำนักงานกฤษฎีกาตีความ ว่า กยท.สามารถหักค่าจ้างเอกชนปรับปรุงระบบไม่เกิน 5% ของรายได้ค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บ ก่อนหักค่าใช้จ่าย ตามหมวดกองทุนพัฒนายางพารา วงเล็บ 1-6 ได้หรือไม่ พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 20 มีนาคม 2561 และจะส่งเรื่องทบทวนเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดในวันที่ 21 มีนาคม เพื่อยืนยันความโปร่งใส ลดกระแสความไม่เข้าใจ จึงมีคำสั่งให้ชะลอการดำเนินการรับข้อเสนอในการว่าจ้างเอกชนไปก่อน”

นายธีธัช กล่าวว่า ในส่วนของอัตราค่าจ้าง อาจแตกต่างกันได้ตามวิธีการที่ผู้รับจ้างแต่ละรายเสนอมาให้พิจารณาคัดเลือก แต่เพดานสูงสุดต้องไม่เกิน 5 % ของค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บได้ ซึ่งจะต้องเป็นธรรมทั้งกับ กยท. และผู้รับจ้าง สมมติฐานว่าระบบเดิมเก็บได้ปีละ 7,000 ล้านบาท หลังใช้ระบบการปรับปรุง คาดว่าจะเก็บเงินเพิ่มได้ 1,000 ล้านบาท เป็น 8,000 ล้านบาท จ่ายค่าจ้าง 5% จ่ายค่าจ้าง 400 ล้านบาท นำ 1,000-400 =600 ล้านบาท ปีนั้นจะมีเงินเข้ากองทุน 600 ล้านบาท หากระบบนี้เก็บเงินได้เพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านบาท ส่งผลทำให้เก็บเงินได้เพิ่ม 3,000 ล้านบาท กยท.จ่ายค่าจ้างแค่ 500 ล้านบาท เงินเข้ากองทุน 2,500 ล้านบาท นี่เป็นรูปแบบของการจ่ายค่าจ้างแบบที่ 1

ส่วนรูปแบบที่ 2 สมมติฐานเดิม เก็บได้ปีละ 7,000 ล้านบาท ถ้าเก็บได้เท่าเดิม ไม่รับค่าจ้างสักบาทเดียว แต่ถ้าเก็บได้ตั้งแต่ 7,001 ล้านบาท ขึ้นไปขอส่วนแบ่งรายได้ 50 : 50 ในรูปแบบนี้ก็มีความน่าสนใจก็คือเก็บมากได้มากเก็บน้อยได้น้อย แต่ถ้ามาคิดว่าเก็บได้เพิ่ม 1,000 ล้านบาท ต้องหารแบ่งคนละ 500 ล้านบาท สิ่งที่ตนกลัวคือ หากเก็บได้มากกว่านั้นเช่นเก็บได้ 1 หมื่นล้านบาท คือ 0-7,000 ล้านบาทไม่ต้องเสีย แต่ในส่วนที่เพิ่มขึ้น 3,000 ล้านบาท คราวนี้หากแบ่ง 50:50 กล่าวคือ เอกชน 1,500 ล้านบาท เข้ากองทุน 1,500 ล้านบาท

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2 ขณะที่นายจิตติน วิเศษสมบัติ ประธานสหภาพ แรงงานรัฐวิสาหกิจ กยท. เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการตั้งฐานจัดเก็บรายได้ 7,000 ล้านบาท ตํ่าเกินไป (ดูกราฟิกประกอบ) ปี 2560 รายได้จัดเก็บกว่า 9,000 ล้านบาท/ ปี ส่วนปี 2561 คาดว่าจะเก็บได้ไม่ตํ่ากว่า 1.2 หมื่นล้านบาท หากผู้บริหารเห็นว่าจำเป็นจริงจะต้องจ้างเอกชนปรับปรุงระบบ จะต้องทบทวนทีโออาร์ใหม่ อาทิ ตั้งฐานจัดเก็บรายได้ 1.2 หมื่นล้านบาท แล้วเฉลี่ยเก็บรายได้เพิ่ม 10% ทุกปี เนื่องจากพื้นที่เปิดกรีดยางเพิ่มขึ้นปริมาณนํ้ายางเพิ่มขึ้น อัตราการจัดเก็บเซสส์อัตราคงที่ 2 บาทต่อกิโลกรัม และที่สำคัญวางหลักประกันแค่ 10 ล้านบาทน้อยเกินไปหรือไม่

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) จะเดินทางไปกระทรวงเกษตรฯ เพื่อยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีเพื่อยับยั้งและให้สอบสวนข้อเท็จจริง เพราะเกรงจะเสียค่าโง่ซํ้ารอยคดีกล้ายาง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,348 วันที่ 15 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว