ศาลปกครองสู่‘ศาลอัจฉริยะ’ ปรับตัวรับไทยแลนด์ 4.0

19 มี.ค. 2561 | 08:43 น.
เมื่อเทคโนโลยีมีบท บาทสำคัญแทรกซึมในทุกภาคส่วนของสังคมไทย กลายเป็นปัจจัยขับเคลื่อนและยกระดับกระบวนการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ไม่เว้นแม้แต่ในกระบวนการยุติธรรมไทยที่เห็นความสำคัญและนำมาใช้ได้อย่างเห็นผล

ตอนหนึ่งในโอกาสครบรอบ 17 ปีของศาลปกครอง นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด ยืนยันเรื่องนี้ว่า ในปี 2560 ได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2560 ปรับปรุงบทบัญญัติข้อกฎหมายเพื่อเพิ่มความต่อเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลปกครอง รวมถึงการปรับปรุงการบริหารงานทั่วไป งบประมาณการเงิน และการดำเนินการอื่นของศาลปกครองเพื่อให้การบริหารราชการศาลปกครองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

การดำเนินงานของศาลในปี 2560 ซึ่งได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ศาลปกครอง (ฉบับที่ 4) ปี 2558-2561 ได้ปรับปรุง แก้ไข กฎหมาย หลักเกณฑ์ต่างๆให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ ทั้งยังได้มีการออกแบบและพัฒนาระบบสารสนเทศโดยพัฒนาระบบศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์ (e-Court) ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล และลดขั้นตอนการดำเนินการของหน่วยงานเพื่อบริการประชาชนตาม พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ปรับปรุงและพัฒนาระบบงานธุรการศาล ระบบฐานข้อมูลและระบบจัดเก็บข้อมูลคดีที่เป็นเอกสารให้อยู่ในรูปของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เป็นต้น

จากผลจากการพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานการทำงานและความร่วมมือของบุคลากรศาล ทำให้ปี 2560 ศาลปกครองสามารถพิจารณาคดีได้แล้วเสร็จ จำนวน 10,412 คดี นับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่ศาลปกครองพิจารณาคดีได้แล้วเสร็จมากกว่า 10,000 คดี เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555-2559) ผลการดำเนินงานของทั้ง 2 ชั้นศาลเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 9,963 คดี โดยในปีที่ผ่านมาศาลปกครองสามารถพิจารณาคดีได้แล้วเสร็จสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 449 คดี เป็นปีที่ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาคดีค้างนานได้มากกว่า 60% ในปีเดียวกันนี้ยังเป็นปีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคดีรับเข้ามากที่สุด นับตั้งแต่เปิดทำการโดยมีคดีเข้าสู่ศาลถึง 4,776 คดี

TP14-3348-A **เร่งรัดพิจารณาคดี
สำหรับการทำงานในปี 2561 นี้ ศาลปกครองให้ความสำคัญกับการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญของศาลปกครองเพื่อพัฒนามาตรฐานการทำงาน และเร่งรัดการพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของศาลที่ว่า ศาลปกครองเป็นสถาบันหลักที่ใช้อำนาจตุลาการใน
การอำนวยความยุติธรรมทางปกครองตามหลักนิติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานระดับสากล เพื่อก่อให้เกิดบรรทัด ฐานในการบริหารราชการแผ่นดิน และสร้างความสมดุลระหว่างสิทธิและเสรีภาพของประชาชนกับประโยชน์สาธารณะ

ทั้งยังได้กำหนดแนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางปกครองให้สอดรับกับมาตรา 257 และ 258 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ไว้หลายประการ อาทิ กำหนดกรอบเวลาการพิจารณาพิพากษาคดีและการบังคับคดีปกครองให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด พัฒนาแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองให้มีมาตรฐาน แก้ไข
เพิ่มเติมกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาพิพากษาคดีและการบริหารจัดคดีของศาลปกครองให้มีประสิทธิ ภาพมากขึ้น

ให้มีการระงับข้อพิพาททางเลือกในคดีปกครองด้วยวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท รวมถึงการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล การพัฒนารูปแบบกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ มุ่งเน้นการใช้งานเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แทนกระดาษ เพื่อให้บุคลากรในองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงได้ง่าย นอกจากนี้จะมีการกำหนดกรอบอัตรากำลังตุลาการศาลปกครองให้เหมาะสมกับปริมาณคดี และมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการ พิจารณาคดีของศาลปกครองเพื่อช่วยสร้างบรรทัดฐานในการตัดสินคดีและมุ่งไปสู่การเป็นศาลอัจฉริยะ (Smart Court)

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1 **วิจัยปฏิรูปองค์กรศาล
นายปิยะ กล่าวด้วยว่า ในปีนี้ได้เพิ่มการศึกษาวิจัยแนวทางการปฏิรูปองค์กรและการทำงานให้กระบวนการยุติธรรมทางปกครองสามารถอำนวยความยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรมตามหลักนิติธรรม พร้อมนำกรอบสากลของศาลมาปรับใช้ให้เหมาะสม โดยมุ่งพัฒนาองค์ประกอบสำคัญต่างๆ เช่น ภาวะความเป็นผู้นำ ยุทธศาสตร์ บุคลากรของศาล โครงสร้างพื้นฐานและกระบวนการของศาล การให้บริการแก่ผู้ใช้บริการศาล และเสริมสร้างความรู้เชิงรุกให้ภาคส่วนต่างๆของสังคมเพื่อเข้าถึงเหตุกรณีพิพาททางปกครองที่เกิดขึ้นแต่ละพื้นที่

พร้อมเผยแพร่ความรู้อย่างเป็นระบบในรูปแบบและช่องทางที่หลากหลาย พัฒนาระบบสารสนเทศให้กับคู่กรณีที่มีความประสงค์เข้าสู่การพิจารณาทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งยังมุ่ง พัฒนาระบบสนับสนุนการปฏิบัติงานของตุลาการศาลปกครองให้มีประสิทธิภาพ เช่น พัฒนาและใช้ระบบรับส่งเอกสารคำคู่ความและอำนวยความสะดวกให้กับคู่กรณี (e-Litigation Portal) สำหรับให้คู่กรณีใช้รับส่งเอกสารต่างๆ กับศาลปกครอง ติดตามนัดหมายต่างๆ รวมถึงเรียกดูหมายแจ้งจากศาลปกครอง สามารถขอตรวจและคัดสำเนาเอกสาร สำนวนคดีอิเล็กทรอนิกส์ของตนเอง และคู่กรณีอีกฝ่ายตามสิทธิและการขออนุญาตของศาล

นอกจากนี้ได้เชื่อมโยงระบบที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อช่วยจัดทำคำวินิจฉัยของศาล ประกอบด้วย การสืบค้นกฎหมาย ระบบสืบค้นคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครอง และเครื่องมือช่วยร่างคำวินิจฉัยที่จะเริ่มนำเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น ระบบการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ เอไอ คลาวด์คอมพิวติ้ง เทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่อง หรือ แมชีน เลิร์นนิ่ง มาประยุกต์ใช้เพื่อศึกษาและสกัดรูปแบบ แนวโน้มของเหตุแห่งการฟ้องคดี และเพื่อเผยแพร่ความรู้เชิงป้องกันเกี่ยวกับเหตุแห่งคดีปกครอง รวมถึงการใช้เทคโนโลยีข้างต้นมาสนับสนุน พิจารณาคดีของศาลโดยใช้ระบบการเสนอแนะข้อกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง การแสดงคำพิพากษาศาลปกครองที่มีข้อเท็จจริงในคดีใกล้เคียงกับคดีที่กำลังพิจารณาเพื่อสร้างบรรทัดฐานการตัดสินคดี เป็นต้น

เชื่อมั่นว่า อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยตอบโจทย์กระบวนการยุติธรรมไทยไม่ให้เกิดคำกล่าวที่ว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้า ก็คือความไม่ยุติธรรม” ได้บ้าง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,348 วันที่ 15 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว